ดาวน์โหลดแอป

10 ข้อควรรู้เกี่ยวกับการให้นมบุตร

มองไปข้างหน้า

10 ข้อควรรู้เกี่ยวกับการให้นมบุตร

การให้นมนั้นมีสิ่งที่คุณแม่ต้องเรียนรู้เต็มไปหมด โดยเฉพาะกับคุณแม่มือใหม่

แต่คุณแม่ไม่ต้องกังวลไป มาลองเริ่มเรียนรู้การให้นมไปทีละนิดจาก 10 ข้อควรรู้ต่อไปนี้

1. นมแม่ทำให้ลูกแข็งแรง
ในน้ำนมของคุณแม่มีสารอาหารที่สำคัญและมีประโยชน์กับระบบภูมิคุ้มกันของลูกอยู่มาก และยังมีภูมิต้านทานอีกด้วย ซึ่งสำคัญมากในช่วง 3 เดือนแรกของชีวิต เพราะเป็นช่วงที่ระบบภูมิคุ้มกันของเขายังไม่แข็งแรง และนมแม่ยังช่วยลดความเสี่ยงที่ลูกจะเป็นโรคภูมิแพ้ในอนาคตได้อีกด้วย

2. เผาผลาญแคลอรี่
การที่คุณแม่ต้องผลิตน้ำนมตลอดเวลา 24 ชม.นั้นช่วยเผาผลาญแคลอรี่ได้มาก โดยคุณแม่จะสามารถเผาผลาญพลังงานได้มากกว่าเดิมประมาณ 200 ถึง 500 แคลอรี่ต่อวัน หากทานอาหารให้ครบหมู่ และออกกำลังกายร่วมด้วย คุณแม่จะยิ่งลดน้ำหนักได้เร็วขึ้นมาก

3. ขนาดของหน้าอกไม่สำคัญ
คุณแม่ที่มีหน้าอกใหญ่ ไม่ได้หมายความว่าจะผลิตน้ำนมได้มากกว่า ความใหญ่ของหน้าอกนั้นคือการมีเนื้อเยื่อไขมันมากกว่าเท่านั้นเอง สิ่งที่สำคัญคือขนาดของต่อมน้ำนมต่างหาก เพราะฉะนั้นไม่ว่าคุณแม่จะมีขนาดหน้าอกเท่าไหร่ก็สามารถผลิตน้ำนมให้พอกับความต้องการของลูกได้เหมือนกัน

4. น้ำนมไม่ได้ไหลออกมาจากหัวนมเท่านั้น
ที่จริงแล้วน้ำนมนั้นไหลมาจากรูเล็ก ๆ มากมายที่มีอยู่ในบริเวณลานหัวนมและหัวนมของคุณแม่ นี่คือเหตุผลที่คุณแม่ต้องให้ลูกดูดให้ครอบคลุมบริเวณลานหัวนมให้ได้มากที่สุด เพื่อที่เขาจะได้รับน้ำนมอย่างเต็มที่

5. ศัลยกรรมตกแต่งไม่ใช่ปัญหา
การผ่าตัดศัลยกรรมหน้าอกส่วนมากนั้นไม่ได้เป็นปัญหาสำหรับการให้นม หากคุณแม่ยังมีส่วนของท่อน้ำนมที่เพียงพอ อย่างไรก็ตาม การผ่าตัดบริเวณรอบลานหัวนมอาจทำให้คุณแม่มีปัญหาทางการให้นมมากกว่าการผ่าตัดใต้เต้านมได้ ส่วนการเจาะหัวนมก็ไม่ได้เป็นปัญหาอะไร แต่คุณแม่ต้องอย่าลืมถอดเครื่องประดับออกทุกครั้งก่อนที่จะให้นมลูก

6. น้ำนมล้นและกลไกการหลั่งน้ำนม
เมื่อลูกเริ่มดูดนม ร่างกายของคุณแม่จะผลิตฮอร์โมนที่ชื่อว่าออกซิโทซินที่จะไปกระตุ้นการผลิตน้ำนม เรียกว่ากลไกการหลั่งน้ำนม แต่สิ่งกระตุ้นอื่น ๆ ก็อาจทำให้เกิดกลไกนี้ได้เช่นกัน คุณแม่บางคนจึงอาจมีน้ำนมไหลออกมาโดยไม่ได้ตั้งใจเมื่อมีอารมณ์อ่อนไหวจากการได้ยินเสียงเด็กร้องไห้ หรือดูรูปของเด็กๆ

7. การให้นมขณะที่คุณแม่ป่วย
หากคุณแม่ป่วยจากโรคธรรมดา ๆ อย่างเช่น เป็นหวัดตามฤดูกาล มีไข้ หรือท้องเสีย ไม่ต้องกังวลไป คุณแม่ยังสามารถให้นมลูกได้ เพราะเชื้อโรคจะไม่ติดต่อไปทางน้ำนม แต่หากคุณแม่เป็นโรคหวัดจากไวรัสร้ายแรง เช่น H1N1 หรือไข้หวัดใหญ่ คุณแม่ต้องระวังให้ดี เนื่องจากลูกอาจติดเชื้อได้เมื่ออยู่ใกล้คุณแม่ นอกจากนี้ คุณแม่จะไม่สามารถให้นมลูกได้ หากคุณแม่มีเชื้อบางอย่าง เช่น HIV, T-cell ไวรัส มีการทำคีโมเพื่อบำบัดมะเร็ง หรือมีการบำบัดด้วยรังสี

8. ภาวะสับสนหัวนม (nipple confusion)
ภาวะสับสนหัวนมอาจเกิดขึ้นได้หากทารกได้รับการหัดให้ดูดนมจากขวดหรือจุกนมปลอม เมื่อกลับมาดูดนมจากเต้าก็จะทำได้ลำบากขึ้น เพราะทารกนั้นจะใช้ทักษะที่ต่างกันในการดูดนมจากเต้าและดูดจากจุกนม พยายามอย่าใช้จุกนมปลอมหรือจุกนมยางในช่วงสัปดาห์แรก ๆ ของลูกเพื่อที่จะหลีกเลี่ยงภาวะสับสนหัวนม นอกจากว่าเขาจะมีความจำเป็นทางการแพทย์ที่จะต้องใช้จุกนม จะดีกว่ามากหากคุณแม่จะรอให้ลูกโตขึ้นสัก 3-4 สัปดาห์เพื่อให้เขาเรียนรู้การดูดนมจากเต้าให้ถูกวิธีเสียก่อน แล้วจึงค่อยให้เขาใช้จุกปลอม

9. ความเจ็บปวด
ความเจ็บปวดจากการให้นมมีได้หลายระดับตั้งแต่รู้สึกไม่สบายเล็กน้อย ไปจนถึงหัวนมแตก หรือมีเลือดออก คุณแม่ส่วนใหญ่จะรู้สึกดีขึ้นหลังจากผ่านไปสัก 1 หรือ 2 สัปดาห์ เพราะหัวนมจะเริ่มแข็งขึ้น และปากของลูกก็ใหญ่ขึ้นตามขนาดตัวของเขาที่เริ่มโต เขาจึงดูดนมได้ง่ายขึ้น คุณแม่อาจลองใช้ขี้ผึ้ง บาล์ม หรือใช้การประคบร้อน/เย็นไปก่อนในช่วงแรกๆ

10. การให้นมไม่สำเร็จเสมอไป
ยังมีคุณแม่หลายคนที่พบว่าตนเองไม่สามารถให้นมลูกได้เนื่องจากปัญหาทางร่างกาย หรือความจำเป็นบางอย่าง แต่ไม่ว่าคุณแม่จะสามารถหรือไม่สามารถให้นมลูกได้ คุณแม่ก็ยังคงเป็นคุณแม่ที่วิเศษที่สุดของเขาเสมอ คุณแม่ไม่จำเป็นต้องโทษตัวเอง และลองหาทางเลือกอื่น ๆ ดู

อย่าลืมว่าคุณแม่และเด็ก ๆ ทุกคนนั้นแตกต่างกัน คุณแม่ไม่จำเป็นต้องเครียด ตั้งความหวัง หรือเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่น และหากคุณแม่พบเจอกับปัญหาใด ๆ ก็ตาม อย่าลังเลที่จะปรึกษากับคุณหมอ เพื่อที่จะหาทางออกที่ดีที่สุดให้กับลูก

ดาวน์โหลดแอปMali Daily Pregnancy Tracker

แม่มือใหม่ & การตั้งครรภ์

เรตติ้ง 4.8 จากผู้ใช้งานกว่า 5,000+ คน

เรตติ้ง 4.8 จากผู้ใช้งานกว่า 5,000+ คน