ดาวน์โหลดแอป

วิธีการช่วยพัฒนาสมองของลูกน้อย โดยคำแนะนำจากมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด

พัฒนาการเด็ก

วิธีการช่วยพัฒนาสมองของลูกน้อย โดยคำแนะนำจากมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด

เมื่อใดที่เด็กทารกน้อยพูดอ้อแอ้ ทำท่าทาง หรือร้องไห้ แล้วคุณแม่มีปฏิกริยาตอบโต้พร้อมกับการสบตา เมื่อนั้นในสมองของลูกจะเกิดการสร้างเส้นใยประสาท

การสร้างเส้นใยประสาทถือเป็นการทำให้สมองแข็งแรงขึ้น และเป็นการพัฒนาทักษะการสื่อสารและทักษะทางสังคม

คล้ายการเล่นปิงปอง การตอบโต้กันไป-มาเป็นทั้งเรื่องสนุก และเป็นกุญแจดอกสำคัญในการสร้างรากฐานความสามารถของสมองตั้งแต่อายุน้อยซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อลูกในเกือบทั้งชีวิตของเขา โรงเรียนพัฒนาการเด็กแห่งมหาวิทยาลัยฮาวาร์ดเรียกปฏิสัมพันธ์แบบนี้ว่าการเสิร์ฟและคืน (Serve and Return)

เพราะการมีความสัมพันธ์ที่มีการโต้ตอบกัน เป็นสิ่งที่ลูกจะคาดหวังเองโดยธรรมชาติ และเป็นสิ่งที่สำคัญ หากการตอบโต้หายไป อาจเป็นการทำร้ายพัฒนาการและความเป็นอยู่ที่ดีของเขา พื้นฐานที่แข็งแกร่งของโครงสร้างสมองนั้นเกิดจากความสัมพันธ์กับผู้ใหญ่ที่เหมาะสม มีการตอบโต้สม่ำเสมอ และโอบอ้อมอารีย์

ถ้าผู้ใหญ่โต้ตอบอย่างไม่สม่ำเสมอ ไม่เหมาะสม หรือไม่มีการตอบโต้ใด ๆ เลย การสร้างโครงสร้างของสมองอาจถูกรบกวน ซึ่งส่งผลต่อพัฒนาการทางกายภาพของสมอง และทางจิต ทำให้สุขภาพอารมณ์ของลูกไม่สมบูรณ์ การตอบโต้ที่หายไปจะทำร้ายลูกได้สองทาง นอกจากสมองจะไม่ได้รับการกระตุ้นที่ต้องการในการพัฒนาแล้ว ร่างกายของลูกก็จะเปิดโหมดตอบโต้กับความตึงเครียด ทำให้สมองหลั่งฮอร์โมนความเครียด

มหาวิทยาลัยฮาวาร์ดเสนอวิธีการฝึกเล่นปิงปองทางสมอง 5 ขั้นตอนต่อไปนี้

  1. รับรู้เมื่อลูกเสิร์ฟปิงปองมาให้: ลูกกำลังมองดูหรือชี้อะไรอยู่หรือเปล่า? ทำหน้าตาแบบไหน? แขนขยับบ้างหรือไม่? ทั้งหมดนี้คือการเสิร์ฟ สิ่งสำคัญคือต้องคอยดูว่าเขากำลังสนใจอะไรอยู่ นี่จะเป็นการช่วยให้คุณแม่เข้าใจถึงความสามารถของลูกมากขึ้น รวมไปถึงการเข้าใจความสนใจของเขา และสิ่งที่เขาอาจจะอยากเป็นในอนาคต
  2. ตีลูกปิงปองกลับไปผ่านทางการสนับสนุน: คุณแม่อาจสัมผัสลูกเพื่อเป็นการปลอบประโลม พูดจาอ่อนโยน ช่วยเหลือ หรือแม้แต่แค่แสดงออกว่ารับรู้ คุณแม่อาจทำเสียง ยิ้ม หรือบอกว่า “อ้า หรอ!” ให้เขาเห็นว่าคุณแม่ก็เห็นเหมือนที่เขาเห็น การสนับสนุนแบบนี้จะเป็นการให้รางวัลลูกที่สนใจอยากรู้อยากเห็นสิ่งต่าง ๆ ถ้าหากว่าไม่มีการตอบโต้ใด ๆ เลยอาจทำให้เขาเครียดได้ เมื่อคุณตีลูกปิงปองกลับไปเหมือนเป็นการทำให้ลูกรู้ว่ามีผู้รับฟังและเข้าใจความคิดและความรู้สึกของเขา
  3. ตั้งชื่อให้มันสิ!: เมื่อคุณแม่ตีลูกปิงปองกลับไปโดยการให้ชื่อกับสิ่งที่ลูกเห็น นี่จะเป็นสิ่งที่จะช่วยพัฒนาการด้านภาษาในสมองของลูก ทำตั้งแต่ก่อนเขาจะพูดได้ เพราะลูกเข้าใจคำพูดของคุณแม่ คุณแม่จะให้ชื่อกับอะไรก็ได้ คน สัตว์ การกระทำ ความรู้สึก หรือการรวมตัวกันของหลาย ๆ อย่าง ถ้าลูกชี้ไปที่เท้าของตัวเอง คุณแม่ก็อาจจะชี้ไปด้วยแล้วบอกว่า “ใช่ ๆ นี่คือเท้าของหนู” เมื่อคุณแม่ตั้งชื่อให้กับสิ่งที่เขาสนใจ คุณแม่กำลังช่วยให้ลูกเข้าใจโลกรอบ ๆ ตัวเขามากขึ้นในเวลาที่ความสนใจของเขาพุ่งขึ้นสูงสุด ไม่มีวิธีใดที่จะช่วยเขาพัฒนาทักษะการสื่อสารได้ดีไปกว่าวิธีนี้
  4. ผลัดกันเล่น รอสักพักแล้วสลับกันเล่นไปเรื่อยๆ: ทุกครั้งที่คุณแม่ตีลูกปิงปองกลับไป ควรให้เวลาลูกตอบกลับมา การผลัดกันตีลูกอาจจะเกิดอย่างรวดเร็ว (จากลูกกลับมาที่คุณแม่) หรือว่าอาจจะช้าก็ได้ บ่อยครั้งเด็ก ๆ จะต้องใช้เวลาในการตอบโต้ โดยเฉพาะเวลาที่กำลังเรียนรู้หลาย ๆ สิ่งในเวลาเดียวกัน การรอให้เขาตอบก่อนช่วยให้การตีลูกปิงปองเกิดขึ้นเรื่อย ๆ การตอบโต้กันแบบนี้ช่วยให้ลูกเรียนรู้ที่จะควบคุมตัวเองและเรียนรู้ที่จะเข้ากับคนรอบข้างได้ การรอนี้เป็นการเปิดโอกาสให้เขาได้พัฒนาความคิด ความมั่นใจ และคุณแม่จะได้รู้จักเขาดีขึ้น
  5. ฝึกเริ่ม และ ฝึกจบ: ลูกจะส่งสัญญาณให้คุณแม่รู้ว่าเขาพร้อมจะพักหรือไปทำอย่างอื่นแล้ว อาจจะด้วยการวางของเล่นลง หยิบของเล่นอันใหม่ขึ้นมา มองไปทางอื่น อาจจะเดินหนี เริ่มหงุดหงิด หรือบอกว่า “พอแล้ว” ถ้าหากว่าคุณแม่สนใจสิ่งเดียวกับเขา คุณแม่จะสังเกตได้เมื่อเขาพร้อมจะหยุดแล้วไปทำอย่างอื่น แล้วคุณแม่ก็ควรสนับสนุนการตัดสินใจของเขา

เมื่อถึงเวลาที่ลูกแซงนำคุณแม่ไป คุณแม่ควรสนับสนุนการสำรวจโลกกว้างนี้ แล้วมีปฏิสัมพันธ์กันเพิ่มหากเป็นไปได้

รับรองโดย:

ดาวน์โหลดแอปMali Daily Pregnancy Tracker

แม่มือใหม่ & การตั้งครรภ์

เรตติ้ง 4.8 จากผู้ใช้งานกว่า 5,000+ คน

เรตติ้ง 4.8 จากผู้ใช้งานกว่า 5,000+ คน