วิธีจัดการกับกรดไหลย้อนระหว่างตั้งครรภ์
คุณแม่
อาการกรดไหลย้อน ทำให้คุณแม่ตั้งครรภ์จำนวนมากต้องเผชิญกับความทรมานจากอาการแสบร้อนกลางอก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในไตรมาสที่ 3 เมื่อลูกต้องใช้พื้นที่ในท้องคุณแม่มากขึ้น
กรดไหลย้อนในระหว่างตั้งครรภ์คืออะไร
อาการนี้คืออาการแสบร้อนกลางอกที่จะเกิดขึ้นเมื่อกรดในกระเพาะอาหารไหลออกจากกระเพาะเข้าไปในหลอดอาหาร พบได้บ่อยในคุณแม่ตั้งครรภ์ เนื่องจากฮอร์โมนที่เป็นฮอร์โมนหลักของการตั้งครรภ์จะทำให้ระบบย่อยอาหารทำงานช้าลง เมื่อรวมกับแรงดันจากลูกที่กำลังเจริญเติบโต ก็ยิ่งจะมีความเป็นไปได้มากขึ้นที่กรดในกระเพาะอาหารจะไหลย้อนขึ้นไปในหลอดอาหาร
การตั้งครรภ์เป็นสาเหตุของโรคกรดไหลย้อนหรือไม่
การตั้งครรภ์จะเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคกรดไหลย้อน ในช่วงไตรมาสแรกกล้ามเนื้อในหลอดอาหารของคุณแม่จะเคลื่อนย้ายอาหารลงในกระเพาะอาหารได้ช้าลง และกระเพาะอาหารก็จะต้องใช้เวลาในการย่อยอาหารนานขึ้นกว่าเดิม ซึ่งกระบวนการนี้จะช่วยให้ร่างกายของคุณแม่มีเวลาในการดูดซึมสารอาหารสำหรับลูกได้มากขึ้น
ในช่วงไตรมาสที่ 3 เมื่อลูกเจริญเติบโตขึ้น ก็จะเริ่มเบียดกระเพาะอาหารของคุณแม่ออกจากตำแหน่งปกติซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดภาวะกรดไหลย้อนได้
โรคกรดไหลย้อนจะส่งผลกระทบต่อลูกหรือไม่
โรคกรดไหลย้อนจะไม่ส่งผลกระทบต่อลูกแต่อย่างใด ยกเว้นในกรณีที่คุณแม่มีอาการมากและรับประทานอาหารได้น้อยจนขาดสารอาหาร
คุณแม่จะลดอาการกรดไหลย้อนได้อย่างไร
- ลดปริมาณอาหารต่อมื้อให้น้อยลง และรับประทานให้บ่อยขึ้น พยายามไม่ดื่มน้ำระหว่างที่รับประทานอาหาร
- รับประทานอาหารให้ช้าลง เคี้ยวอาหารให้ละเอียดขึ้น
- ไม่รับประทานอาหารใกล้เวลาเข้านอน
- ไม่รับประทานอาหารและเครื่องดื่มที่อาจกระตุ้นให้เกิดอาการกรดไหลย้อน เช่น ช็อคโกแลต อาหารที่มีไขมันสูง อาหารรสจัด ผลไม้รสเปรี้ยว น้ำอัดลม ชา กาแฟ เป็นต้น
- พยายามนั่งตัวตรงสัก 1 ชั่วโมงหลังรับประทานอาหารเสร็จ หรืออาจเดินเล่นสักเล็กน้อยจะช่วยให้ร่างกายย่อยอาหารได้ดีขึ้น
- พยายามนอนตะแคงซ้าย เนื่องจากการนอนตะแคงขวาจะทำให้กระเพาะอาหารอยู่สูงกว่าหลอดอาหาร ซึ่งอาจเป็นเหตุให้เกิดกรดไหลย้อนได้
- คุณแม่บางคนดื่มน้ำมะนาวสดเพื่อช่วยลดอาการกรดไหลย้อน โดยน้ำมะนาวจะสามารถช่วยเพิ่มการผลิตน้ำย่อยและน้ำดี สามารถช่วยปรับสมดุลของกรดในกระเพาะอาหาร และช่วยในการย่อยอาหารอีกด้วย
ยารักษากรดไหลย้อนชนิดใดที่สามารถใช้ได้ในระหว่างตั้งครรภ์
ยาลดกรดแบบยาสามัญประจำบ้าน หรือยาลดกรดที่สามารถหาซื้อได้โดยไม่ต้องมีใบสั่งแพทย์ ส่วนมากจะประกอบไปด้วยแคลเซียมคาร์บอเนต หรือแมกนีเซียม สามารถใช้ได้ในช่วง 2 ไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ อย่างไรก็ตาม ควรหลีกเลี่ยงยาที่มีองค์ประกอบของแมกนีเซียมในช่วงไตรมาสสุดท้ายของการตั้งครรภ์ เนื่องจากแมกนีเซียมอาจรบกวนการบีบตัวของมดลูกในขณะคลอดได้
รับรองโดย:
พญ.วรรวดี ทรัพย์มี ปัญญากาศ (สูตินรีแพทย์) (26 มกราคม 2019)