ดาวน์โหลดแอป

คำแนะนำจากคุณหมอเกี่ยวกับโรคภูมิแพ้ในเด็ก ที่คุณแม่ควรรู้

เกร็ดความรู้

คำแนะนำจากคุณหมอเกี่ยวกับโรคภูมิแพ้ในเด็ก ที่คุณแม่ควรรู้

มะลิได้นำทุกข้อสงสัยเกี่ยวกับ “โรคภูมิแพ้” ไปสอบถามหาข้อเท็จจริงจาก นพ.ปิยวุฒิ กรีฑาภิรมย์ กุมารแพทย์และแพทย์เฉพาะทางโรคภูมิแพ้ เพื่อให้ได้คำตอบที่ชัดเจนมาฝากคุณแม่ในวันนี้

นพ.ปิยวุฒิ กรีฑาภิรมย์ นอกจากจะเป็นกุมารแพทย์และแพทย์เฉพาะทางโรคภูมิแพ้ประจำโรงพยาบาลเจ้าพระยาแล้ว ยังเป็นคุณหมอที่ปรึกษาของมะลิที่ร่วมงานกับเรามาตั้งแต่ขั้นตอนก่อตั้งแอปพลิเคชั่นอีกด้วย มะลิจึงถือโอกาสขอสัมภาษณ์คุณหมอในเรื่องของโรคภูมิแพ้ ซึ่งได้กลายเป็นเรื่องแรก ๆ ที่คุณแม่กังวลตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์

จริงไหมที่อัตราการเป็นโรคภูมิแพ้ในเด็กไทยเพิ่มสูงขึ้น หรือเป็นเพราะโซเชียลมีเดีย ที่ทำให้เห็นโรคนี้ง่ายขึ้น?
ทั้งสองอย่างประกอบกันครับ สมัยก่อนมีงานวิจัยที่เก็บอัตราการเกิดโรคภูมิแพ้ในประเทศไทย พบว่ามีอยู่น้อยกว่าสิบเปอร์เซ็นต์ แต่เมื่อมีการเก็บข้อมูลใหม่สิบปีหลังจากนั้น ก็พบว่าอัตราสูงขึ้นมาก คืออยู่ที่ประมาณ 12% โดยเฉพาะในโรคภูมิแพ้ทั่วไป สูงถึง 20% ทีเดียว

ซึ่งการที่มันเพิ่มขึ้นเยอะ อาจจะเกิดจากหลายปัจจัย ทั้งเรื่องระเบียบวิธีการเก็บข้อมูลงานวิจัยดีขึ้น หมอส่วนใหญ่ก็เริ่มรู้จักโรคภูมิแพ้มากขึ้น จากที่แต่ก่อนอาจจะมองว่ามันเป็นอาการเจ็บป่วยทั่วไป ซึ่งความจริงมันไม่ใช่ และอีกปัจจัยคือ อาจเกิดจากการเลี้ยงดู และสิ่งแวดล้อม

ปัจจัยการเลี้ยงดูที่ควบคุมได้
ปัจจัยด้านการเลี้ยงดูก็เกิดจาก หนึ่ง การกินอาหารที่เปลี่ยนแปลงไป คือการกินอาหารแบบคนทางตะวันตก เช่น ข้าวขัดสี ผลิตภัณฑ์จากนมวัว มากจนเกินไป รวมถึงการใช้ชีวิตอยู่แต่ในเมือง ไม่ได้ไปสัมผัสธรรมชาติ สัมผัสดินหรือหญ้าบ้าง สิ่งเหล่านี้ทางผู้เชี่ยวชาญก็มองว่า น่าจะเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดอาการของโรคภูมิแพ้มากขึ้น

อีกอย่างหนึ่งคือ สิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป สังคมสมัยใหม่เข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม ก่อให้เกิดมลพิษ เมื่อชีวิตคนได้สัมผัสกับมลพิษ ฝุ่น ควัน มากขึ้น มันก็ส่งผลให้เกิดโรคภูมิแพ้ของระบบต่าง ๆ ขึ้นมาได้

โรคภูมิแพ้คือแพ้อาหาร และแพ้อากาศใช่หรือไม่?
ต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่า โรคภูมิแพ้เป็นคำกว้าง ๆ แต่ครอบคลุมหลายกลุ่มโรค หมอจะไล่ไปตามช่วงวัย ดังนี้

อีกโรคหนึ่งที่เจอเยอะที่สุด คือประมาณ 30% ในเด็ก คือโรคภูมิแพ้จมูกอักเสบ ที่เรามักเรียกกันเฉย ๆ ว่าโรคภูมิแพ้นี่แหละ จะมีอาการ จาม คัน คัดจมูก น้ำมูกไหล มักจะเป็นตอนเช้า เป็นหวัดบ่อย กรนเวลานอน หายใจดัง

ในบางคน เมื่อโตขึ้น ดูเหมือนว่าอาการของโรคพวกนี้จะหายไป แต่พอเข้าสู่ช่วงวัยกลางคน อายุสี่สิบกว่า อาการเหล่านี้ก็จะกลับมาอีก เพราะร่างกายเราอ่อนแอลง เหล่านี้คือสิ่งที่หมอพบเจอจากการเก็บข้อมูลคนไข้

ถ้าสงสัยว่าลูกเป็นภูมิแพ้ ต้องไปหาหมอทันทีหรือไม่?
โรคภูมิแพ้จะมีทั้งแบบรุนแรงและไม่รุนแรง แบบรุนแรงก็เช่น แพ้อาหาร แล้วมีอาการตาบวม ปากบวม หายใจไม่ออก หรือหอบหืด หืดจับ ไอเยอะ หายใจไม่ทัน จนลูกตัวเขียว แบบนี้ก็ต้องมาโรงพยาบาลแน่ ๆ อย่างไรก็ตาม ถ้าเป็นโรคที่มีอาการเบา ๆ แล้วไม่ได้มาพบหมอ แต่คุณแม่เข้าไปค้นหาข้อมูลในอินเทอร์เน็ต ทำให้กังวลใจว่าลูกแพ้ผ่านนมแม่ บางทีคุณแม่ไปเสิร์ชอินเตอร์เน็ต จนไปทำให้คุณแม่ต้องงดอาหาร แบบนี้หมอก็คิดว่ามาหาหมอน่าจะดีกว่า เพราะหมอสามารถประเมินให้ได้ว่า ผื่นที่เกิดคือผื่นภูมิแพ้จริงหรือไม่ ถ้าเป็นผื่นภูมิแพ้ ก็ต้องดูเพิ่มเติมอีกว่า เป็นผื่นจากอาการแพ้อาหารจริงหรือเปล่า มาคุยกันเพื่อจะได้แนวทางที่ถูกต้อง จะดีกว่าการหาข้อมูลด้วยตนเอง เพราะบางครั้ง แหล่งข้อมูลที่เราอ่าน ก็ไม่ได้อ้างอิงจากแหล่งที่น่าเชื่อถือ จากเอกสารงานวิจัยที่อัปเดตแล้ว

ลูกมีผื่นขึ้น แสดงว่าลูกแพ้อาหาร?
ผื่นในเด็กทารก ส่วนใหญ่แล้วไม่ใช่ผื่นแพ้ เด็กทารกเกิดมามีผื่นอยู่แล้ว บางครั้งก็เป็นผดธรรมดา ใช้เวลาสองสามเดือนก็หาย แต่หมอก็เข้าใจว่าเวลาสองสามเดือน คุณพ่อคุณแม่ก็อาจมองว่ายาวนาน แต่มันคือเรื่องธรรมดา อย่าไปตีความว่าทุกอย่างเป็นผื่นแพ้

การกินอะไรซ้ำ ๆ ช่วงตั้งครรภ์ มีส่วนทำให้ลูกแพ้อาหารชนิดนั้น?
หมอแนะนำให้กินอย่างสมดุล จะดีที่สุด หมายความว่า อย่าไปงดอะไร และอย่าไปโด๊ปอะไร มีงานวิจัยมายืนยันแล้วว่า ยิ่งงด ยิ่งมีโอกาสทำให้แพ้สิ่งนั้นมากยิ่งขึ้น แต่ถ้าเรากินเยอะมาก โปรตีนตัวนั้นก็จะเข้าสู่ร่างกายมากเกินไป นอกจากเรื่องแพ้แล้ว ยังทำให้อ้วนด้วยซ้ำ ดังนั้นคุณแม่จึงควรกินให้ครบห้าหมู่ กินอย่างสมดุล กินให้หลากหลาย เท่านั้นเอง

ลูกสามารถแพ้อาหารผ่านน้ำนมแม่ได้จริงหรือ?
ข้อนี้เป็นเรื่องจริงครับ แต่เป็นส่วนน้อยมาก ๆ มีงานวิจัยหนึ่ง ที่ให้คุณแม่กินอาหาร แล้วก็มาตรวจสารอาหารที่เป็นสารก่อภูมิแพ้ในน้ำนม ก็พบว่า นมวัว ไข่ แป้งสาลี ถั่วเหลือง เหล่านี้จะพบตกค้างในนมแม่ได้ แต่เราจะพบในเด็กที่แพ้รุนแรง แพ้มากจริง ๆ เท่านั้น แต่สำหรับเด็กทั่วไป เช่น คนไข้เด็กที่หมอดูแลอยู่ เขาแพ้อาหารจริง ๆ แต่เด็กทุกคนคุณแม่สามารถกินได้ทุกอย่าง โดยที่ลูกไม่มีอาการอะไร

สรุปก็คือ คนที่แพ้อาหารผ่านนมแม่มีอยู่จริง แต่เป็นส่วนน้อย น้อยมาก ๆ หมอจึงไม่แนะนำให้งดสะเปะสะปะ งดมากไปจนกระทั่งห้ามกินอะไรเลย และไม่แนะนำให้งดนำไปก่อน จนกว่าจะได้พิสูจน์ว่า ลูกแพ้อาหารชนิดนั้นจริง ๆ และแพ้ผ่านนมแม่ เพราะถ้ายิ่งไปงด คุณภาพน้ำนมคุณแม่ก็จะยิ่งตกต่ำลง ส่งผลไปยังลูกได้

ลูกเป็นภูมิแพ้ แต่ไม่อยากให้ลูกกินยา?
ข้อแนะนำของหมอคือ อย่ากลัวยา บางครั้งเด็กเป็นโรคภูมิแพ้จมูกอักเสบ มันมีข้อบ่งชี้ว่า ถ้ามีอาการเกินห้าวันต่อสัปดาห์ หรือมีอาการมากจนรบกวนชีวิตประจำวัน ต้องใช้ยาพ่นจมูก และอาจต้องกินยาแก้แพ้ อันนี้จะเรียกว่า ยาควบคุมอาการ (Controller) ซึ่งต้องใช้ระยะยาว ผู้ปกครองหลายคนก็จะกลัวยา กลัวว่าใช้แล้วจะเป็นอะไรไหม ตรงนี้หมอจะบอกว่า ถ้าเกิดว่าได้รับการดูแลโดยหมอที่เป็นหมอภูมิแพ้โดยตรง หมอจะเลือกยาที่ปลอดภัยและถูกต้อง เข้าสู่ร่างกายน้อยมาก

ปัจจุบันการรักษาโรคภูมิแพ้พัฒนาขึ้น หมออยู่ในวงการนี้มา ก็จะเห็นแนวทางการรักษาที่เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่จึงอย่ากลัวยา ถ้าจำเป็นต้องใช้ยา ก็ควรใช้ตามที่หมอแนะนำ และถ้าเราหายแล้ว เราก็จะสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ แม้ว่าต้องใช้ยา หมอก็จะปรับยา ให้เป็นไปในแนวทางที่ใช้ยาน้อยที่สุด เพื่อให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีที่สุด

ฝุ่นควันและมลพิษ ทำให้เด็กธรรมดา เป็นภูมิแพ้ได้?
ไม่ว่าจะวัยไหน หากสัมผัสฝุ่นควันมลพิษเข้าไป ก็ทำให้ป่วยได้ทั้งนั้น มีข้อมูลจากงานวิจัยพบว่า ฝุ่นมีผลต่อระบบทางเดินหายใจ และผิวหนัง อันนี้ชัดเจน เป็นเรื่องที่ทุกคนต้องให้ความสนใจ ศึกษาวิธีการปฏิบัติตนให้เหมาะสม โดยเฉพาะคนที่เป็นภูมิแพ้อยู่แล้ว ก็ยิ่งต้องดูแลตัวเองให้ดีขึ้น

มะลิหวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์กับคุณแม่ที่กำลังตั้งคำถามเกี่ยวกับโรคภูมิแพ้ และเป็นตัวช่วยของคุณแม่ในการดูแลลูกให้มีสุขภาพที่แข็งแรงต่อไป

ดาวน์โหลดแอปMali Daily Pregnancy Tracker

แม่มือใหม่ & การตั้งครรภ์

เรตติ้ง 4.9 จากผู้ใช้งานกว่า 10,000+ คน

เรตติ้ง 4.9 จากผู้ใช้งานกว่า 10,000+ คน