ฟันลูกขึ้นตอนกี่เดือน ลำดับการขึ้นและประเภทของฟันมีอะไรบ้าง
พัฒนาการเด็ก
ฟันซี่แรกถูกสร้างขึ้นเมื่อไหร่ และฟันของลูกจะปรากฏเมื่อใด?
ฟันน้ำนมหรือฟันชุดแรกที่เป็นฟันชั่วคราว มีบทบาทสำคัญมากต่อลูก
ฟันน้ำนมของลูกจะปรากฏขึ้นเมื่อไหร่?
ช่วงเวลาที่ฟันซี่แรกจะปรากฏขึ้น เป็นช่วงที่มีความแตกต่างกันค่อนข้างมากระหว่างทารกแต่ละคน ทารกบางคนฟันขึ้นเร็วมาก ในประมาณเดือนที่ 3 หรือ 4 ในขณะที่ทารกคนอื่น ๆ ฟันซี่แรกดูเหมือนจะใช้เวลานานมาก โดยทั่วไปแล้วฟันซึ่แรกจะเริ่มขึ้นเมื่ออายุประมาณ 6 หรือ 7 เดือน แต่ทารกบางคนอาจมีฟันซี่แรกปรากฏเกิดขึ้นเมื่ออายุ 12 เดือนขึ้นไป
ฟันน้ำนมซี่ใดที่ปรากฏขึ้นก่อน?
สำหรับทารกหลายคน ฟันหน้าล่าง (หรือที่เรียกว่าฟันหน้ากลางล่าง) จะปรากฏขึ้นเป็นซี่แรกเมื่ออายุประมาณ 6 – 10 เดือน สำหรับฟันหน้าบน (หรือฟันหน้ากลางด้านบน) ปกติจะขึ้นในช่วงอายุ 8 – 12 เดือน
ฟันน้ำนมมีกี่ซี่?
เมื่ออายุ 2 ขวบครึ่ง ทารกส่วนใหญ่จะมีฟันน้ำนมครบ 20 ซี่ แม้จะเรียกว่า “ฟันน้ำนม” แต่ก็ควรรักษาสุขภาพของฟันเอาไว้ให้ดีในช่วงหลายขวบปีแรก เนื่องจากฟันน้ำนมซี่สุดท้าย จะยังไม่ถูกแทนที่ด้วยฟันแท้จนกว่าลูกจะอายุ 12 ปี
แผนภูมิฟันน้ำนมและลำดับการปรากฏ
ต่อไปนี้คือแผนผังของลำดับการปรากฏตัวคร่าว ๆ ของฟันน้ำนม:
- ฟันตัดหน้าซี่กลาง ล่าง 2 ซี่ (Central Incisor) ฟันงอกช่วงอายุ 6-10 เดือน
- ฟันตัดหน้าซี่กลาง บน 2 ซี่ (Central Incisor) ฟันงอกช่วงอายุ 8-12 เดือน
- ฟันตัดหน้าซี่ข้าง บน 2 ซี่ (Lateral Incisor) ฟันงอกช่วงอายุ 9-13 เดือน
- ฟันตัดหน้าซี่ข้าง ล่าง 2 ซี่ (Lateral Incisor) ฟันงอกช่วงอายุ 10-16 เดือน
- ฟันกรามซี่แรก บน 2 ซี่ (First Molar) ฟันงอกช่วงอายุ 13-19 เดือน
- ฟันกรามซี่แรก ล่าง 2 ซี่ (First Molar) ฟันงอกช่วงอายุ 14-18 เดือน
- ฟันเขี้ยว บน 2 ซี่ (Canine หรือ Cuspid) ฟันงอกช่วงอายุ 16-22 เดือน
- ฟันเขี้ยว ล่าง 2 ซี่ (Canine หรือ Cuspid) ฟันงอกช่วงอายุ 17-23 เดือน
- ฟันกรามซี่ที่สอง ล่าง 2 ซี่ (Second Molar) ฟันงอกช่วงอายุ 23-31 เดือน
- ฟันกรามซี่ที่สอง บน 2 ซี่ (Second Molar) ฟันงอกช่วงอายุ 25-33 เดือน
ทารกใช้ฟันเพื่อบดเคี้ยวอาหารหรือไม่?
ฟันซี่แรกของลูกจะถูกใช้เพื่อกัดกินอาหาร ไม่ใช่เพื่อการบดเคี้ยว ส่วนการบดเคี้ยวนั้นจะเริ่มเมื่อมีฟันกรามในช่วงขวบปีที่ 2 จนกว่าจะถึงเวลานั้นทารกส่วนใหญ่ใช้เหงือกเพื่อบดเคี้ยวอาหาร
การดูแลฟันน้ำนม
แม้ฟันน้ำนมจะไม่ใช่ฟันชุดถาวร แต่ก็ยังมีความสำคัญอยู่มาก เพื่อป้องกันฟันผุและทำให้ฟันของลูกมีสุขภาพที่ดี คุณแม่ควรแน่ใจว่าได้แปรงฟัน หรือทำความสะอาดฟันให้เขาอย่างสม่ำเสมอด้วยยาสีฟันที่ไม่ผสมฟลูออไรด์ ให้รับประทานอาหารและเครื่องดื่มที่มีคุณค่าทางโภชนาการและมีปริมาณน้ำตาลต่ำ ไม่ควรใช้ยาสีฟันที่ผสมฟลูออไรด์จนกว่าเขาจะสามารถคายยาสีฟันได้ด้วยตัวเอง
คุณหมอมักจะแนะนำให้คุณแม่พาลูกไปพบทันตแพทย์ทุก 6 เดือนหลังจากฟันน้ำนมขึ้น แต่ถ้าคุณแม่คิดว่าฟันของลูกมีปัญหา หรือมีฟันผุ ก็ควรพาเขาไปพบทันตแพทย์ครั้งแรกได้เลย
รับรองโดย:
นพ. ปิยวุฒิ กรีฑาภิรมย์ (26 กุมภาพันธ์ 2019)