สารพิษตกค้างในผักที่คุณแม่ตั้งครรภ์ควรระวัง
เกร็ดความรู้
การกินผักเพื่อสุขภาพที่แข็งแรง อาจไม่เป็นจริงเสมอไปในยุคนี้ เมื่อมีการตรวจพบสารพิษตกค้างในผักและผลไม้ที่เรานิยมกินกันมากขึ้น
เนื่องจากต้นทุนในการกำจัดแมลงและวัชพืชด้วยวิธีธรรมชาติที่สูงกว่าการใช้สารเคมีหลายเท่า รวมกับมาตรการของรัฐบาลไทย ที่ยังไม่ชัดเจนด้านการควบคุมการใช้สารเคมีในการเกษตรกรรม จึงทำให้ไทยยังคงมีปริมาณการนำเข้าสารเคมีอย่าง “พาราควอต” สูงเป็นอันดับหนึ่งของวัตถุอันตรายที่นำเข้ามาในไทย
ผักชนิดใดที่ควรหลีกเลี่ยง?
จากการสุ่มตรวจโดยเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) เก็บตัวอย่างผักและผลไม้ที่คนนิยมบริโภค 16 ชนิดระหว่างวันที่ 23 – 29 สิงหาคม พ.ศ. 2559 พบว่า มีผักและผลไม้ที่มีปริมาณสารพิษตกค้างสูงเกินค่ามาตรฐานคือ
- คะน้า
- พริกแดง
- ถั่วฝักยาว
- กะเพรา
- ผักบุ้ง
- ส้มสายน้ำผึ้ง
- แก้วมังกร
- ฝรั่ง
ในขณะที่ผักที่พบสารตกค้างเกินมาตรฐานน้อยคือ กะหล่ำปลี และผักกาดขาว
ผักออร์แกนิคในไทย
อีกประเด็นที่น่าสนใจคือจากการสุ่มตรวจผักที่มีตรารับรอง Organic Thailand นั้น มี 2 จาก 10 ตัวอย่าง พบปริมาณสารพิษตกค้างเกินค่ามาตรฐาน นั่นหมายความว่า ฉลากรับรองคุณภาพ อาจไม่สามารถรับประกันความปลอดภัยของอาหารได้อย่างแท้จริง เพราะในความเป็นจริง การทำเกษตรอินทรีย์ ที่มีความเป็นออร์แกนิคร้อยเปอร์เซ็นต์นั้นเป็นไปได้ยาก มีตัวอย่างที่พบเห็นได้ในหลายประเทศ ที่ผักในแปลงออร์แกนิคนั้นมีการปนเปื้อนสารเคมี จากการฉีดพ่นของแปลงใกล้เคียง หรือเกษตรกรบางกลุ่ม ไม่ได้ซื่อสัตย์ต่อการทำเกษตรอินทรีย์
สารพิษสามารถส่งผ่านสู่ลูกได้หรือไม่?
งานวิจัยของมหาวิทยาลัยมหิดลพบว่าพาราควอต หรือสารเคมีที่ใช้ในการกำจัดศัตรูพืช ที่นิยมใช้ในการทำการเกษตร สามารถส่งผ่านทางรก จากมารดาไปยังทารกในครรภ์ได้ โดยมีการตรวจพบพาราควอตในขี้เทาของทารกแรกเกิด ซึ่งพาราควอตนั้นสามารถส่งผลต่อการทำงานของกล้ามเนื้อ ระบบประสาท และความฉลาดด้านความจำและการเรียนรู้ของเด็ก แม้อาจจะยังไม่เห็นผลทันทีเมื่อตอนทารกเกิดออกมา
สิ่งที่คุณแม่สามารถทำได้:
- เลือกซื้อผัก ผลไม้ จากแหล่งที่เชื่อถือได้ เน้นการทำเกษตรแบบปกติไม่ใช่เกษตรอุตสาหกรรม อีกทั้งในปัจจุบัน มีเกษตรกร และฟาร์มหลายแห่งที่เพาะปลูกด้วยวิธีเกษตรอินทรีย์ แล้วทำการจัดจำหน่ายเองโดยตรง ไม่ผ่านหน้าร้านหรือพ่อค้าคนกลาง การซื้อจากเกษตรกรโดยตรง นอกจากจะได้สินค้าที่มั่นใจได้ในความปลอดภัยแล้ว ยังเป็นการสนับสนุนและให้กำลังใจการเพาะปลูกด้วยวิธีนี้ด้วย
- ล้างผัก ผลไม้ ให้สะอาดถูกวิธี สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้แนะนำหลาย ๆ วิธีในการล้างผักเพื่อช่วยลดความเสี่ยงสารเคมีตกค้าง ได้แก่
– ล้างผ่านน้ำไหลนาน 2 นาที
– แช่ในน้ำผสมเกลืออัตราส่วน 2 ช้อนโต๊ะต่อน้ำ 4 ลิตร
– น้ำผสมน้ำส้มสายชูอัตราส่วนครึ่งถ้วยตวงต่อน้ำ 4 ลิตร หรือล้างด้วยน้ำผสมเบกกิ้งโซดา (โซเดียมไบคาร์บอเนต) อัตราส่วน 1 ช้อนโต๊ะต่อน้ำ 4 ลิตร แช่ทิ้งไว้ 10 – 15 นาที จากนั้นล้างด้วยน้ำเปล่าอีกสองครั้ง - เลือกซื้อผักและผลไม้ตามฤดูกาล
ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งง่าย ๆ ที่คุณแม่สามารถทำได้เพื่อคัดเลือกสิ่งที่ดีและปลอดภัยที่สุดสำหรับร่างกายของคุณแม่และลูก เพื่อช่วยเสริมสร้างอนาคตที่ดีที่สุดให้กับเขา