ดาวน์โหลดแอป

สัปดาห์ที่ 38 ของการตั้งครรภ์

อัปเดต

สัปดาห์ที่ 38 ของการตั้งครรภ์

ดวงตาและเส้นผมของลูกเริ่มมีการสะสมของเม็ดสีแล้ว ปอดของเขาเองก็ยังผลิตสารลดแรงตึงผิวเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

เมื่อมาถึงสัปดาห์นี้ คุณแม่จะอยู่ในสภาวะที่สามารถคลอดได้ทุกเมื่อ ดังนั้นถ้าคุณแม่รู้สึกถึงการบีบตัวของมดลูกบ่อย ๆ มีมูกเลือดไหลออกจากช่องคลอด หรือรู้สึกถึงอาการน้ำแตก ให้รีบไปที่โรงพยาบาลทันที

ลูกเป็นอย่างไรบ้าง
ศีรษะและท้องของลูกเริ่มมีขนาดใกล้เคียงกัน นิ้วเท้าเองก็ได้พัฒนาไปจนถึงส่วนปลายแล้ว และเส้นขนลานูโกส่วนใหญ่ก็หลุดออกไปแล้วเช่นกัน ในตอนนี้ลูกมีน้ำหนักประมาณ 2.8 กก.ความยาวประมาณ 49 ซม.หรือขนาดประมาณฟักทอง

สีของดวงตา: ดวงตาของลูกเริ่มมีสีสันแล้ว แต่สีของดวงตาจะเปลี่ยนไปเมื่อม่านตาเริ่มสะสมเม็ดสีเพิ่มขึ้นในช่วงหนึ่งปีแรกหลังจากคลอด เมลานิน คือเม็ดสีที่ทำให้ ดวงตา เส้นขน และสีผมมีสีสัน เมื่อลูกคลอดออกมา เขาอาจจะมีตาสีฟ้า สีน้ำตาล หรือสีเข้มก็ได้ ขึ้นอยู่กับปริมาณของเม็ดสีเมลานินที่มาสะสม ทารกบางคนอาจมีดวงตาสีฟ้าตอนเกิด เพราะสีฟ้าเกิดจากการมีเม็ดสีเมลานินมาสะสมที่ม่านตาน้อย เมื่อเวลาผ่านไป เม็ดสีสะสมมากขึ้น ดวงตาของเขาก็จะมีสีที่เปลี่ยนไปจากเดิม

ปอด: จนถึงตอนนี้ ปอดของลูกยังคงผลิตสารลดแรงตึงผิวอยู่ เพื่อป้องกันไม่ให้ถุงลมพับตัวขณะหายใจ และในช่วงสัปดาห์นี้ ปอดของเขาได้มีปริมาณสารลดแรงตึงผิวมากเพียงพอที่จะทำให้เขาสามารถหายใจภายนอกครรภ์ได้อย่างปลอดภัยแล้ว

คุณแม่เป็นอย่างไรบ้าง
ถ้าคุณแม่มีอาการ เบลอมองเห็นไม่ชัด คลื่นไส้ ปวดหัวบ่อย ๆ หรืออาการปวดท้องที่รุนแรง คุณแม่ต้องรีบแจ้งคุณหมอทันที เพื่อที่คุณหมอจะได้ทำการตรวจว่าคุณแม่มีภาวะความดันสูงหรือพบโปรตีนในปัสสาวะหรือไม่ เพื่อให้แน่ใจว่าคุณแม่ไม่มีอาการที่บ่งชี้ว่าถึง อาการครรภ์เป็นพิษ ซึ่งอาจส่งผลอันตรายถึงคุณแม่และลูกได้

ทำอะไรได้บ้างในช่วงนี้
ช่วงเวลานี้ คุณแม่สามารถเริ่มมองหากุมารแพทย์ที่จะมาดูแลลูกหลังจากคลอดได้แล้ว กุมารแพทย์อาจจะต้องดูแลลูกไปอีกหลายปีหลังจากคลอด ดังนั้นคุณแม่จึงควรมองหากุมารแพทย์ที่คุณแม่รู้สึกสบายใจที่จะปรึกษาด้วย แต่ถ้าคุณแม่รู้สึกไม่สบายใจก็สามารถบอกให้ทางโรงพยาบาลหากุมารแพทย์คนใหม่ให้ได้

ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด: ถึงแม้ว่าคุณแม่จะตั้งตารอที่จะได้พบกับลูก แต่หลังคลอดกลับมีความรู้สึกเศร้าหรือหดหู่ คุณแม่ก็อย่าแปลกใจไปเพราะนี่คืออาการที่เรียกว่า ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด ภาวะซึมเศร้าหลังคลอดมีได้หลายรูปแบบ ตั้งแต่มีอาการเศร้าเล็กน้อยอย่าง Baby blues ไปจนถึงอาการซึมเศร้าที่รุนแรง คุณแม่อาจต้องดูแลและสังเกตอาการของตนเองมากขึ้น และขอความช่วยเหลือทันทีเมื่อรู้สึกถึงอาการซึมเศร้า

โปรดทราบ
ทางทีมงานMali ได้พยายามรวบรวมข้อมูลที่อัปเดทล่าสุดมาให้กับคุณแม่หรือผู้อ่านแล้ว แต่ทั้งนี้ยังคงมีข้อสงสัยหลายอย่างที่ทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์ยังคงต้องหาคำตอบต่อไปเกี่ยวกับการตั้งครรภ์และพัฒนาการของทารกในครรภ์ ทางทีมเราจึงต้องการแจ้งให้ทราบว่าข้อมูลที่นำเสนออาจไม่ครอบคลุมเมื่อนำมาเปรียบเทียบกับการตั้งครรภ์ของแต่ละบุคคลหรือเด็กแต่ละคน

รับรองโดย:

พญ.วรรวดี ทรัพย์มี ปัญญากาศ (สูตินรีแพทย์) (20 ตุลาคม 2021)

ที่มา:

ดาวน์โหลดแอปMali Daily Pregnancy Tracker

แม่มือใหม่ & การตั้งครรภ์

เรตติ้ง 4.8 จากผู้ใช้งานกว่า 5,000+ คน

เรตติ้ง 4.8 จากผู้ใช้งานกว่า 5,000+ คน