ดาวน์โหลดแอป

อายุครรภ์ครบกำหนดคลอดคือกี่สัปดาห์: ทำไมต้อง 39 สัปดาห์

เกร็ดความรู้

อายุครรภ์ครบกำหนดคลอดคือกี่สัปดาห์: ทำไมต้อง 39 สัปดาห์

การตั้งครรภ์จะไม่ถือว่าครบกำหนดอย่างสมบูรณ์จนกว่าจะครบ 39 สัปดาห์ตามข้อกำหนดใหม่ที่ได้รับการรับรองโดยวิทยาลัยสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยาแห่งสหรัฐอเมริกา

นี่เป็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญจากความเข้าใจเดิม ซึ่งถือว่าการตั้งครรภ์ครบกำหนดนับเป็นระยะเวลา 37 สัปดาห์ ซึ่งปัจจุบัน ได้เรียกการตั้งครรภ์จนถึง 37 สัปดาห์ว่าเป็นเพียงการตั้งครภ์ครบกำหนดในระยะแรก (early term) เท่านั้นโดยผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าคุณแม่ควรทำทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อให้ลูกน้อยอยู่ในครรภ์จนครบกำหนดคลอดให้เป็นไปตามธรรมชาติ
อย่างไรก็ตาม ในประเทศไทยยังยึดตามนิยามเดิมโดยถือเอาการตั้งครรภ์ครบกำหนดที่ 37 สัปดาห์

ทำไมจึงต้องเปลี่ยนนิยามของการตั้งครรภ์ครบกำหนด
การเปลี่ยนแปลงนี้เกิดขึ้นเนื่องจากการมีการคลอดก่อนกำหนด 39 สัปดาห์โดยไม่มีเหตุผลทางการแพทย์อย่างชัดเจน ส่งผลให้เกิดความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพของทารกมากขึ้น ความเสี่ยงเหล่านี้รวมถึงปัญหาเกี่ยวกับระบบการหายใจ และปัญหาการพัฒนาสมอง อัตราการคลอดก่อนกำหนดได้เพิ่มขึ้นเนื่องจากความเข้าใจในความเสี่ยงของการคลอดก่อนกำหนดยังไม่เป็นที่เข้าใจกันอย่างแพร่หลาย และเนื่องจากมีการกำหนดวันคลอดตามความความสะดวกของสูติแพทย์ผู้รับฝากครรภ์ หรือเนื่องมาจากความเชื่อแบบดั้งเดิม

วิธีการนับกำหนดคลอดแบบใหม่
เป็นเวลาหลายปีที่การนับเวลาครบกำหนดครรภ์นั้นอยู่ระหว่าง 37 ถึง 42 สัปดาห์ของการตั้งครรภ์ เนื่องจากแพทย์ส่วนใหญ่เชื่อว่าการพัฒนาอวัยวะที่สำคัญได้เสร็จสิ้นภายใน 37 สัปดาห์ และทารกก็เหลือเพียงการเพิ่มน้ำหนักในช่วงสุดท้ายของการตั้งครรภ์ การวิจัยล่าสุดได้พิสูจน์ให้เห็นว่าความเชื่อนั้นไม่ถูกต้อง “ตอนนี้เรารู้แล้วว่าอวัยวะที่สำคัญ เช่น ปอด และสมองยังพัฒนาไม่สมบูรณ์จนกว่าจะครบ 39 สัปดาห์” เจสัน เค แบกซ์เตอร์ สูติแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในเรื่องการตั้งครรภ์ที่มีความเสี่ยงสูงจากโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยโทมัสเจฟเฟอร์สันในฟิลาเดลเฟียกล่าว

ผลจากการค้นพบนี้ ผู้เชี่ยวชาญ ณ ปัจจุบันจะไม่พิจารณาระยะเวลาครบกำหนดจนกว่าจะครบ 39 สัปดาห์ ทารกที่เกิดในช่วงสัปดาห์ที่ 37 – 38 จะถือว่าเป็นทารกที่คลอดก่อนกำหนด ส่วนทารกที่เกิดในสัปดาห์ที่ 41 เป็นต้นไป จะถือเป็นทารกที่เลยกำหนดคลอด และหลังจากสัปดาห์ที่ 42 จะนับเป็นทารกที่เกินกำหนดคลอด

อดทนไว้และไม่ต้องวางแผน
นิยามใหม่ควรส่งเสริมให้สูติแพทย์ฝึกฝนให้อดทนรอมากขึ้นในช่วงสุดท้ายของการตั้งครรภ์ ส่วนใหญ่การคลอดธรรมชาติเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการกำหนดเวลาที่ร่างกายต้องการคลอด เว้นแต่จะมีภาวะทางสุขภาพบางอย่างบ่งชี้ การคลอดควรเริ่มต้นเองโดยธรรมชาติ

ความอดทนทำให้เกิดการผ่าตัดฉุกเฉินน้อยลง
การที่คุณแม่ตั้งครรภ์รอจนถึงสัปดาห์ที่ 39 หรือ 40 ยังทำให้อัตราการเร่งคลอดด้วยการใช้ยาลดลงอีกด้วย เนื่องจากยาที่ใช้ในการกระตุ้นการคลอด เช่น Oxytocin อาจทำให้เกิดการหดตัวของมดลูกผิดปกติ หรือมากเกินไป ซึ่งอาจมีผลให้ปริมาณออกซิเจนของทารกในครรภ์ลดลงได้ และหากการใช้ยาเร่งคลอดไม่ทำงาน หรือทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนจนอาจเป็นเหตุให้จำเป็นต้องผ่าตัดคลอด การผ่าตัดคลอดมักเป็นปัญหาโดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับคุณแม่ เนื่องจากจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ การเสียเลือดมาก อาจทำให้อาเจียนและปวดศีรษะรุนแรงหลังคลอด นอกจากนี้ ยังมีโอกาสเสียชีวิตในระหว่างการคลอดมากกว่าการคลอดธรรมชาติถึง 3 เท่า

ทำไมสัปดาห์สุดท้ายจึงมีความสำคัญ
เดือนสุดท้ายของการตั้งครรภ์มีความสำคัญต่อสุขภาพของลูกน้อยของคุณแม่ เนื่องจากสารประกอบในปอดของเขา ที่เรียกว่า สารลดแรงตึงผิว ซึ่งจะช่วยทำให้เขาหายใจได้อย่างอิสระยังคงถูกสร้างขึ้นอย่างต่อเนื่องเพื่อให้มีปริมาณที่มากพอ เพื่อลดความเสี่ยงของปัญหาระบบทางเดินหายใจเมื่อเขาคลอดออกมา ตัวอย่างการศึกษาชิ้นหนึ่งพบว่า ทารกที่คลอดด้วยวิธีผ่าตัดคลอดก่อนครบ 39 สัปดาห์มีปัญหาในการหายใจมากกว่าทารกที่คลอดโดยการผ่าตัดหลังจากอยู่ในครรภ์ครบ 39 สัปดาห์ นอกจากนี้ ทารกที่คลอดก่อนครบ 37 สัปดาห์ มีแนวโน้มที่จะต้องพักฟื้นอยู่ที่แผนกทารกแรกเกิดป่วยหนัก หรือมีปัญหาระบบทางเดินหายใจที่รุนแรงมากกว่าทารกที่เกิดในช่วง 39 สัปดาห์หรือในภายหลังถึง 4 เท่า ส่วนทารกที่คลอดในสัปดาห์ที่ 38 มักจะมีแนวโน้มที่จะมีภาวะแทรกซ้อนมากขึ้นเป็น 2 เท่า

ดีต่อสมองของลูก
ตับของทารกยังอยู่ระหว่างการเปลี่ยนแปลง ซึ่งจะช่วยให้สามารถกรองสารพิษ เช่น บิลิรูบิน ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคดีซ่าน (ตัวเหลือง) ผิวของเขาจะหนาขึ้น และสะสมไขมันในร่างกายได้มากขึ้น ซึ่งจะช่วยให้ทารกรักษาอุณหภูมิร่างกายของตัวเองได้หลังจากที่เขาคลอดออกมา การพัฒนาสมองยังคงดำเนินอยู่ ตัวอย่างเช่นในช่วงที่ 35 สัปดาห์ขนาดของสมองนั้นมีเพียงประมาณ 2 ใน 3 ของเมื่อเทียบกับขนาดที่ควรจะเป็นในสัปดาห์ที่ 39 หรือ 40 และการเชื่อมต่อของสมองและเส้นประสาทที่สำคัญเพื่อช่วยทำให้ทารกสามารถดูดกลืน และหายใจได้เมื่อคลอดออกมาก็ยังคงดำเนินอยู่

ทั้งนี้คุณแม่ควรปรึกษาระยะเวลาคลอดที่เหมาะสมกับแพทย์อีกครั้งเนื่องจากในแต่ละครรภ์อาจมีข้อบ่งชี้ที่แตกต่างกันไป

รับรองโดย:

พญ.วรรวดี ทรัพย์มี ปัญญากาศ (สูตินรีแพทย์) (18 มีนาคม 2019)

ที่มา:

ดาวน์โหลดแอปMali Daily Pregnancy Tracker

แม่มือใหม่ & การตั้งครรภ์

เรตติ้ง 4.8 จากผู้ใช้งานกว่า 5,000+ คน

เรตติ้ง 4.8 จากผู้ใช้งานกว่า 5,000+ คน