ดาวน์โหลดแอป

ทารกในครรภ์นอนหลับอย่างไร

ลูก

ทารกในครรภ์นอนหลับอย่างไร

คุณแม่บางคนอาจคิดว่าทำไมลูกน้อยจึงได้นอนหลับยากนัก หรือบางเวลาอยากให้ตื่น ลูกก็หลับ บางครั้งอยากให้หลับก็ไม่ยอมนอนซะอย่างนั้น หรือในบางครั้งทั้ง ๆ ที่ดูเหมือนง่วงมาก ๆ ก็ยังไม่ยอมหลับ

อาจจะเป็นเรื่องยากที่จะทำความเข้าใจลักษณะการนอนของทารก ทารกแต่ละคนนั้นแตกต่างกัน ถ้าหากคุณแม่ลองศึกษากลไกการนอนของทารกตั้งแต่อยู่ในครรภ์ อาจช่วยทำให้คุณแม่เข้าใจลักษณะการนอนของเขา และสามารถนำมาปรับกิจวัตรการนอนของลูกได้ง่ายขึ้น

ทารกในครรภ์มักจะนอนหลับในตอนกลางวัน เนื่องจากสภาวะในครรภ์ของคุณแม่นั้น อบอุ่น เงียบ และมืด ไม่มีสิ่งใดสามารถมารบกวนได้ และตื่นในตอนกลางคืน เนื่องจากในช่วงกลางคืนที่คุณแม่นอนหลับนั้น จะมีพื้นที่ให้ลูกน้อยได้เคลื่อนไหวได้มากกว่าเดิม ส่วนในช่วงกลางวันที่คุณแม่ได้ทำกิจกรรมต่าง ๆ ก็จะทำให้ลูกรู้สึกเหมือนกับได้นอนอยู่ในเปลที่กำลังไกวไปมา น่านอนมากขึ้น

ลูกน้อยในครรภ์จะนอนหลับประมาณ 20 ชั่วโมงต่อวัน
ทารกจะตื่นไม่เป็นเวลา และจะตื่นเป็นช่วงเวลาสั้น ๆ เท่านั้น ในช่วงที่หลับอยู่ในครรภ์ ทารกอาจมีการเคลื่อนไหว ขยับตัวไปมา หรืออาจถีบคุณแม่บ้าง เพราะทารกที่อยู่ในครรภ์มักจะเป็นเด็กนอนดิ้น

ขณะที่อยู่ในครรภ์ ทารกจะได้ยินเสียงหัวใจของคุณแม่เต้น เสียงท้องของคุณแม่ร้อง และเสียงพูดของคุณแม่ ซึ่งจะทำให้รู้สึกอุ่นใจ ที่สำคัญลูกจะไม่รู้สึกหิวเลย เพราะได้รับสารอาหารผ่านทางสายสะดือที่เชื่อมต่อกับรกของคุณแม่ตลอดเวลา ซึ่งเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ลูกน้อยนอนหลับได้อย่างสบายใจ

ลูกฝันหรือเปล่า
เมื่ออายุครรภ์ครบ 7 เดือน ลูกจะเริ่มมีความฝัน เนื่องจากมีการพัฒนาของสมองอย่างเพียงพอที่จะทำให้สามารถหลับได้แบบ REM (Rapid Eye Movement) ซึ่งเป็นการนอนหลับแบบที่ร่างกายหลับ แต่สมองยังทำงานอยู่โดยทารกจะเริ่มมีกระแสประสาทที่เกี่ยวข้องกับการมองเห็น และการได้ยิน

เมื่ออายุครรภ์ครบ 8 เดือน ทารกจะสามารถนอนหลับแบบ Non-REM (Non Rapid Eye Movement) ซึ่งก็คือการหลับลึกนั่นเอง ทารกที่อายุน้อยจะฝันมากกว่าทารกที่อายุมาก

ถ้าคุณแม่ได้มีโอกาสทำการอัลตร้าซาวด์แบบ 4 มิติ ก็อาจทำให้คุณแม่ได้เห็นลูกน้อยนอนยิ้ม เพราะว่าในช่วงที่ทารกนอนหลับแบบ REM นั้น กล้ามเนื้อบริเวณหน้าอาจเกิดการกระตุก หรือถูกดึงนั่นเอง

ถ้าหากคุณแม่ตั้งครรภ์มีปัญหานอนไม่หลับ
สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์บางคนอาจต้องเผชิญกับปัญหาการนอนไม่หลับ ลองวิธีแก้ปัญหาง่าย ๆ เช่น ดื่มนมอุ่น ๆ ก่อนเข้านอน แต่ก็ควรคำนึงถึงระยะของการตั้งครรภ์ด้วย เนื่องจากการดื่มน้ำก่อนเข้านอนในช่วงไตรมาสแรก และไตรมาสสุดท้ายอาจส่งผลให้คุณแม่ต้องลุกไปเข้าห้องน้ำกลางดึกบ่อยขึ้น

การอาบน้ำอุ่นก่อนเข้านอน สามารรถช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อ ทำให้เส้นเลือดขยายตัวและช่วยให้โลหิตไหลเวียนได้ดีขึ้น ทำให้คุณแม่หลับได้ง่ายขึ้น

นอกจากนี้ การจัดห้องนอนให้เหมาะสมสำหรับการนอนหลับพักผ่อน นำสิ่งที่อาจรบกวนการนอนหลับออกไป สภาวะที่เหมาะสมสำหรับการนอนหลับพักผ่อนคือ ห้องที่เงียบ เย็นสบาย และมืด หากมีเสียงรบกวนอาจส่งผลให้คุณแม่ตั้งครรภ์นอนไม่หลับได้

เมื่อเข้าสู่สัปดาห์ท้าย ๆ ของการตั้งครรภ์ การนอนหงายอาจทำให้คุณแม่ตั้งครรภ์หายใจไม่ค่อยสะดวก เนื่องจากมดลูกที่ขยายตัวขึ้นไปดันกระบังลมให้สูงขึ้น ทำให้ปอดขยายตัวได้ไม่เต็มที่ หากคุณแม่รู้สึกอึดอัด หรือหายใจไม่สะดวก อาจลองใช้หมอนหลาย ๆ ใบหนุนศีรษะให้สูงขึ้น จะช่วยให้คุณแม่หายใจได้สะดวกขึ้น

ที่มา:

ดาวน์โหลดแอปMali Daily Pregnancy Tracker

แม่มือใหม่ & การตั้งครรภ์

เรตติ้ง 4.8 จากผู้ใช้งานกว่า 5,000+ คน

เรตติ้ง 4.8 จากผู้ใช้งานกว่า 5,000+ คน