เกณฑ์สำคัญ 12 อย่างในพัฒนาการของเด็ก
ในขณะที่ลูกเติบโตและพัฒนาขึ้นเขาก็จะพัฒนาทั้งด้านร่างกาย ด้านการสื่อสาร และด้านความคิด อาจมีหลายเหตุการณ์ที่ดูเป็นเรื่องธรรมดาจนคุณแม่ไม่ทันสังเกต แต่จะมีเกณฑ์สำคัญ ๆ หลายอย่างที่บ่งบอกให้เรารู้ได้ว่าลูกน้อยกำลังพัฒนาอย่างมีสุขภาพดี
เด็กแต่ละคนพัฒนาการเร็วเท่ากันหรือไม่?
เด็กแต่ละคนแตกต่างกัน และมีจังหวะการพัฒนาที่ไม่เท่ากัน เช่น ลูกคนแรกของคุณแม่อาจเริ่มเดินได้ตอนอายุ 10 เดือน แต่ลูกคนที่สองอาจมีก้าวแรกตอน 18 เดือนก็ได้ โดยส่วนใหญ่แล้วถือเป็นเรื่องปกติ เพราะในขณะที่ลูกคนที่สองไม่ได้ฝึกเดิน เขาอาจกำลังพัฒนาในด้านอื่น ๆ อยู่ เช่น ฝึกกล้ามเนื้อส่วนอื่น หรือฝึกพัฒนาการทางภาษา ทั้งนี้ เด็กทารกที่คลอดก่อนกำหนดมักจะมีพัฒนาการช้ากว่าปกติ
นี่คือ 12 เกณฑ์สำคัญในพัฒนาการของลูก และช่วงเวลาคร่าว ๆ ที่เขาจะสามารถทำได้
พัฒนาการด้านร่างกาย
การนั่ง เด็กทารกส่วนใหญ่นั่งเองได้โดยไม่ต้องพยุงเมื่ออายุประมาณ 5 – 6 เดือน อย่างไรก็ตาม อาจมีเด็กส่วนน้อยมาก ๆ ที่อาจจะข้ามขั้นตอนนี้ไปและหัดคลานเป็นอย่างแรก จากนั้นจึงนั่งได้เมื่ออายุ 7 – 9 เดือน
การคลาน โดยเฉลี่ยแล้วเด็กทารกจะคลานเมื่ออายุ 6 – 10 เดือน และโดยปกติลูกจะคลานได้ช้าหรือเร็วขึ้นอยู่กับช่วงเวลานอนคว่ำเล่น (tummy time) ที่คุณแม่จะให้เขาเล่น ถ้าคุณแม่อยากให้เขาคลานไว ๆ ก็ควรให้เขาเริ่มนอนคว่ำและเล่นได้ตั้งแต่สัปดาห์แรกหลังคลอด
การเดิน ลูกน่าจะเริ่มเดินได้ในช่วงอายุ 10 – 18 เดือนเช่นเดียวกับเด็กคนอื่น ๆ เขาจะไม่ได้เดินเป็นในชั่วข้ามคืน แต่ต้องผ่านการฝึกหลายอย่าง ลูกจะเริ่มฝึกยืนโดยจับเฟอร์นิเจอร์ เขาอาจฝึกเดินโดยจับเฟอร์นิเจอร์ต่าง ๆ ไปตลอดทาง จากนั้นเขาอาจจะฝึกยืนด้วยตัวเองโดยไม่ต้องมีคนช่วงพยุง และในที่สุดเขาก็จะเริ่มหัดเดินก้าวแรกอันน่าตื่นเต้นด้วยตัวเอง คุณแม่สามารถช่วยเขาได้โดยให้เขาคลานเล่นในห้องที่มีเฟอร์นิเจอร์ ซึ่งเขาสามารถเกาะและหัดเดินได้
ทานอาหารเองโดยใช้ช้อน หนึ่งในทักษะการเคลื่อนไหวที่ลูกจะได้เรียนรู้ในวัยเด็กคือการป้อนอาหารให้ตัวเอง เหตุการณ์นี้จะเกิดในช่วงอายุ 12 – 18 เดือน ช่วงเวลานี้ลูกน้อยอาจอยากทานอาหารด้วยตัวเองมากกว่า คุณแม่ควรเลิกป้อนอาหารเขาเพื่อสนับสนุนให้เขาใช้พัฒนาการเคลื่อนไหว
พัฒนาการด้านการสื่อสารและภาษา
ตอบสนองต่อเสียงของคุณแม่ ถึงแม้ว่าลูกจะรู้จักเสียงของคุณแม่ตั้งแต่อยู่ในท้อง แต่เขาจะไม่รู้วิธีตอบสนองต่อเสียงคุณแม่จนกว่าจะถึงช่วง 4 – 6 เดือน ตอนที่เขาสามารถขยับคอและหันหัวไปมาได้ เมื่อถึงเวลานี้ลูกก็จะรู้ว่าเสียงมาจากทางไหนและขยับคอไปดูได้
พูดอ้อแอ้ เด็กทารกมักเริ่มพูดอ้อแอ้ในช่วงอายุ 6 – 10 เดือน เหตุการณ์นี้สำคัญเพราะเป็นเครื่องหมายว่าเขากำลังหัดพูด โดยส่วนใหญ่เขาจะเลียนแบบเสียงต่าง ๆ เพื่อให้คุณแม่สนใจ ให้ลองทำเสียงอ้อแอ้ตอบกลับเพื่อสนับสนุนให้เขาพูดเก่งขึ้น
เรียกคุณพ่อคุณแม่ เมื่อลูกมีอายุประมาณ 9 – 12 เดือน เขาอาจสามารถพูดคำสั้น ๆ เช่น มาม้าเมื่อเรียกคุณแม่ หรือปาป้าเมื่อเรียกคุณพ่อ นับเป็นช่วงเวลาที่น่ามหัศจรรย์ตอนเขาพูดครั้งแรก
บรรยายสิ่งของโดยใช้คำขยาย ช่วงที่เป็นเด็กน้อย พัฒนาการทางภาษาของลูกจะพัฒนาเร็วมาก ในช่วงอายุ 18 – 24 เดือน เขาจะสามารถอธิบายถึงสิ่งของด้วยคำขยายต่าง ๆ ที่บอกถึงสี ขนาด และลักษณะต่าง ๆ ได้ เขาอาจพูดว่า “หมาสีขาว” หรือ “แมวดำตัวใหญ่”
พัฒนาการด้านการคิด
การยิ้มทักทาย ตอนเพิ่งเกิด ทารกจะไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นรอบ ๆ ตัวเขา และมักจะยิ้มในเวลาที่เขาอยากยิ้ม แต่ในช่วงอายุ 3 – 4 เดือนเขาจะพัฒนาและรู้ตัวในระดับหนึ่ง ทำให้เขาสามารถตอบสนองต่อสิ่งรอบตัวได้ เมื่อคุณแม่จักจี้เขา เขาก็อาจจะยิ้มตอบ
การเลียนแบบท่าทาง เหตุการณ์นี้มักเกิดในช่วง 6 – 8 เดือน ลูกจะพยายามเลียนแบบทุกอย่างที่คุณแม่ทำ เช่น หากคุณแม่ยิ้ม เขาก็จะยิ้มตอบ หรือเมื่อคุณแม่อ้าปาก เขาก็จะอ้าปากและพยายามทำปากตามด้วย
เล่นจ๊ะเอ๋ เมื่อลูกอายุประมาณ 8 – 12 เดือน เขาจะสามารถจดจำใบหน้าได้ และเมื่อคุณแม่ปิดหน้า เขาก็จะพยายามหาใบหน้าและตอบสนองด้วยการยิ้มเมื่อหาเจอ ในช่วงนี้เขาจะเล่นจ๊ะเอ๋ได้ ซึ่งคุณแม่ก็จะสามารถเล่นสนุกไปพร้อม ๆ กับลูกโดยช่วยเหลือเรื่องพัฒนาการของเขาไปในเวลาเดียวกัน
จดจำเรื่องที่ผ่านไปแล้ว ลูกน้อยจะได้ผ่านเกณฑ์สำคัญมากมายในช่วงเด็กเล็กและช่วงก่อนวัยเรียน หนึ่งในนั้นคือการจดจำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไปแล้ว ซึ่งมักจะทำได้ตอนอายุ 3 – 4 ปี ตอนที่ลูกสามารถพัฒนาความจำระยะยาว คุณแม่อาจชวนให้เขาเล่าเรื่องราวในแต่ละวันก่อนนอน คุณแม่อาจเริ่มเล่าก่อนในตอนแรกและชวนให้เขาช่วยคิดว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง
หากลูกมีพัฒนาการช้าควรทำอย่างไรดี?
หากคุณแม่พบว่าลูกพัฒนาการบางอย่างช้ากว่าปกติ ให้ปรึกษาคุณหมอที่ดูแลลูกในการนัดพบคุณหมอครั้งต่อไป เพื่อที่จะได้ทำการตรวจลูกอย่างละเอียดยิ่งขึ้น คุณหมออาจจะแนะนำกิจกรรมหรือบริการเสริมที่จะช่วยให้เขาพัฒนาในเรื่องนั้น ๆ ได้ดีขึ้น บริการเพิ่มเติมมีทั้งการบำบัดเรื่องการพูด การบำบัดร่างกาย หรือการเข้าโรงเรียนก่อนวัยเรียน (pre-school) หากคุณแม่เลือกส่งลูกให้ไปใช้บริการเหล่านี้ ก็ควรอยู่กับเขาตลอดเวลาเพื่อดูให้แน่ใจว่าลูกรู้สึกปลอดภัยและมีความสุข เด็กเล็ก ๆ ที่ถูกส่งไปมาระหว่างบริการบำบัดต่าง ๆ และโรงเรียนอาจมีอาการกลัว รู้สึกไม่ปลอดภัย เขาอาจผ่านเกณฑ์พัฒนาการนั้น ๆ แต่จะมีผลข้างเคียงอื่นตามมาได้ซึ่งไม่คุ้มกัน ส่วนใหญ่การยอมรับเด็กอย่างที่เขาเป็นมักจะดีกว่า ถึงแม้ว่าเขาจะไม่ปกติก็ตาม
รับรองโดย:
เกศสุภา จิระการณ์ (นักสุขภาพจิต) (31 มีนาคม 2021)