ดาวน์โหลดแอป

ปัญหาเกี่ยวกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

ปัญหาเกี่ยวกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

แม้ว่าการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จะเป็นวิธีการตามธรรมชาติ แต่ก็อาจไม่ใช่เรื่องง่ายเสมอไป คุณแม่อาจพบกับปัญหาในการให้นมบ้าง ซึ่งปัญหาเหล่านี้ล้วนมีทางแก้ไข

หากคุณแม่ประสบปัญหาในการให้นมลูกน้อยควรขอความช่วยเหลือจากแพทย์ พยาบาลผดุงครรภ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ หรือคุณแม่ท่านอื่น ๆ ที่มีประสบการณ์

ปัญหาเกี่ยวกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่พบบ่อยและวิธีแก้ไขมีดังนี้:

คุณแม่มีน้ำนมไม่เพียงพอ: เต้านมของคุณแม่ถูกสร้างมาเพื่อผลิตน้ำนมเมื่อลูกต้องการ หากคุณแม่ให้นมลูกไม่บ่อยพอ หรือไม่นานพอ อาจจะทำให้การผลิตน้ำนมลดลง วิธีหนึ่งที่จะรู้ว่าลูกได้รับนมเพียงพอหรือไม่ คือการนับจำนวนครั้งของปัสสาวะและอุจจาระที่เขาขับถ่ายต่อวัน หรืออีกวิธีหนึ่งคือการตรวจสอบอัตราการเพิ่มของน้ำหนัก หรือชั่งน้ำหนัก ก่อนและหลังกินนมของลูกในแต่ละมื้อ หากลูกได้รับนมไม่เพียงพอ คุณแม่ควรพยายามให้นมบ่อยครั้งขึ้น และต้องแน่ใจว่าเขาเข้าเต้าดูดนมได้อย่างถูกต้อง

คุณแม่มีน้ำนมมากเกินไป: ในบางกรณีคุณแม่อาจผลิตน้ำนมได้มากเกินไป ทำให้ลูกกินไม่ทัน  คุณแม่อาจลองเปลี่ยนท่าให้นม หรือถอยเต้านมออกจากปากของลูกเพื่อช่วยให้เขาสามารถรับมือกับน้ำนมที่ไหลออกมามากเกินไปได้

น้ำนมไหล: ในช่วง 2 – 3 สัปดาห์แรกหลังคลอด คุณแม่และลูกยังอยู่ในช่วงของการปรับปริมาณน้ำนมด้วยกันทั้งคู่ ดังนั้นคุณแม่บางคนอาจมีภาวะน้ำนมไหลหยด ซึ่งอาจเกิดขึ้นเมื่อคุณแม่ได้ยินเสียงร้องไห้ของทารก การสวมแผ่นซับน้ำนมและใส่เสื้อสีเข้มจะช่วยลดความกังวลได้

หัวนมเจ็บหรือแตก: คุณแม่มือใหม่มักต้องเผชิญกับอาการเจ็บหัวนม หรือหัวนมแตกซึ่งมักเป็นผลมาจากการเข้าเต้าไม่ถูกวิธี เพื่อลดหรือป้องกันปัญหานี้คุณแม่ควรตรวจสอบให้แน่ใจว่าลูกเข้าเต้าดูดนมในตำแหน่งที่ถูกต้องและล็อกเข้ากับหน้าอกและหัวนม โดยงับไปถึงลานนม คุณแม่อาจทาครีมที่มีส่วนผสมของลาโนลินที่หัวนมหลังการให้นมแต่ละครั้ง เพื่อช่วยบรรเทาอาการเจ็บ 

คัดตึงเต้านม: อาการคัดตึงเต้านมคือการที่หน้าอกของคุณแม่มีน้ำนมเต็มมากเกินไปและอาจรู้สึกแข็ง ตึง ไม่สบายตัว หรือเจ็บปวดอย่างชัดเจน ส่วนใหญ่แล้วมักเกิดขึ้นในช่วงแรก ๆ เนื่องจากเต้านมของคุณแม่กำลังผลิตน้ำนม แต่ลูกยังกินนมได้ไม่มากนัก อาการเหล่านี้จะบรรเทาลงภายใน 2 – 3 วัน หรืออาจยาวนานเป็นสัปดาห์ คุณแม่อาจลองใช้วิธีต่อไปนี้เพื่อบรรเทาความรู้สึกไม่สบายตัวได้:

หัวนมแบนหรือบอด: โดยปกติแล้วหัวนมของคุณแม่ส่วนใหญ่จะชี้ออกไปด้านนอกและพอดีกับปากของทารก แต่คุณแม่บางคนอาจมีหัวนมแบนหรือบอด ทำให้ลูกดูดนมได้ยาก หากมีอาการนี้แต่น้ำนมของคุณแม่ยังไหลได้ดี ให้วางปากของลูกไว้ที่หัวนมและบีบหน้าอก หรือใช้ซิลิโคนครอบเต้านม เพื่อช่วยให้ลูกดูดนมได้อย่างถูกต้อง แต่ถ้าน้ำนมไหลไม่เพียงพอคุณแม่อาจใช้เครื่องปั๊มนมช่วยปั๊มเพื่อให้น้ำนมไหลก่อนค่อยวางปากของลูกไว้ที่หัวนม

Put nipple and areola in mouth_15 problems with breastfeeding by Mali_TH

ทารกไม่ได้ดูดนมอย่างถูกต้อง: การล็อกหัวนมอย่างถูกต้องเป็นกุญแจสำคัญที่จะช่วยให้คุณแม่สามารถผลิตน้ำนมได้เพียงพอ และทำให้ลูกได้รับอาหารสม่ำเสมอ อย่างไรก็ตาม อาจเป็นเรื่องยากที่จะทำสำเร็จตั้งแต่แรกเริ่ม หากคุณแม่พบว่ามีอาการเจ็บปวดจากการให้นมหรือลูกดูเหมือนยังไม่อิ่มหลังจากกินนมแล้ว เป็นไปได้ว่าเขาอาจไม่ได้เข้าเต้าดูดนมอย่างถูกวิธี คุณแม่อาจลองทำตามวิธีต่อไปนี้ขณะให้นม:

  1. ตรวจสอบให้แน่ใจว่าลูกอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม
  2. บีบหน้าอกระหว่างนิ้วเพื่อให้หัวนมชี้ออกมา
  3. จิ้มแก้มของลูกเพื่อกระตุ้นให้เขาอ้าปากกว้าง
  4. จากนั้นวางหัวนมและลานหัวนมเข้าไปในปากของลูก

Blocked milk duct_15 problems with breastfeeding by Mali_TH

ท่อน้ำนมอุดตัน: บางครั้งท่อน้ำนมที่เชื่อมต่อระหว่างต่อมน้ำนมกับหัวนมอาจถูกปิดกั้นทำให้น้ำนมอุดตันและก่อตัวเป็นก้อนซึ่งทำให้รู้สึกเจ็บปวด คุณแม่ควรให้นมแม่เป็นประจำอย่างต่อเนื่องและไม่ควรสวมเสื้อชั้นในรัดจนเกินไป ควรประคบอุ่นกับเต้านมที่มีอาการ และนวดเบา ๆ เพื่อกระตุ้นการเคลื่อนที่ของน้ำนม การนวดเต้านมโดยผู้เชี่ยวชาญก็สามารถช่วยได้เช่นกัน

ลูกหลับคาเต้า: ในช่วง 2 – 3 สัปดาห์แรกหลังคลอด ทารกส่วนใหญ่จะง่วงนอนมากจึงมักจะหลับระหว่างกินนมแม่ อาจเป็นไปได้ว่าน้ำนมไหลไม่สม่ำเสมอ หากคุณแม่สังเกตเห็นว่าลูกดูดนมช้าลงหรือกำลังหลับ คุณแม่อาจจับเขาเปลี่ยนข้าง หรือพยายามกระตุ้นด้วยการอุ้มเรอ จั๊กจี้เท้าหรือพูดคุยกับเขาเบา ๆ

เต้านมอักเสบ: อาการเต้านมอักเสบมักเกิดขึ้นเมื่อท่อน้ำนมอุดตันเป็นเวลานาน หรือมีการติดเชื้อแบคทีเรีย คุณแม่อาจรู้สึกแสบร้อนและเจ็บเต้านม และอาจมีไข้ หรืออาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ หากมีอาการเหล่านี้คุณแม่ควรปรึกษาแพทย์

ฝีที่เต้านม: หากอาการเต้านมอักเสบไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง หรือรักษาแล้วไม่ดีขึ้น อาการดังกล่าวอาจแย่ลงและกลายเป็นฝีที่เต้านม ซึ่งอาจจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัด ควรรีบปรึกษาแพทย์

โรคเชื้อราที่ปากหรือลำคอ: คือการติดเชื้อยีสต์ภายในปากของทารกซึ่งสามารถแพร่กระจายไปสู่เต้านมของคุณแม่ได้ หัวนมของคุณแม่อาจมีอาการคัน เจ็บ แสบร้อน และมีลักษณะเป็นก้อน หากคุณแม่สงสัยว่าตัวเองหรือลูกติดเชื้อดังกล่าว ควรรีบไปพบแพทย์ เนื่องจากอาจจำเป็นต้องทำการรักษาด้วยการใช้ยาต้านเชื้อรา

ลักษณะทางกายวิภาคช่องปากของทารก: ประมาณ 1 ใน 10 ของทารกจะมีลักษณะทางกายวิภาคของช่องปากที่ไม่เหมาะสมรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง ซึ่งอาจทำให้ไม่สามารถดูดนมได้อย่างถูกต้อง เช่น พังผืดใต้ลิ้น เพดานโหว่ หรือความผิดปกติของคางและขากรรไกร หากลูกของคุณแม่มีภาวะดังกล่าวควรปรึกษาแพทย์เพื่อขอคำแนะนำในการให้นม

สับสนระหว่างเต้านมกับขวดนม: แม้ว่าทารกส่วนใหญ่จะไม่มีปัญหาในการสลับการกินระหว่างการเข้าเต้าและดูดขวดนม แต่เด็กบางคนก็อาจมีปัญหากับสิ่งเหล่านี้ หากลูกของคุณแม่ชอบดูดนมจากขวด หรือกินนมจากเต้าของคุณแม่อย่างใดอย่างหนึ่ง ควรพยายามฝึกเขาให้เคยชินกับวิธีการอื่น ๆ ในการให้นมด้วย เพราะคุณแม่อาจไม่สามารถให้เข้าเต้า หรือกินนมจากขวดได้ตลอดเวลา

ศัลยกรรมเสริมหน้าอก: คุณแม่ส่วนใหญ่ที่ผ่านการศัลยกรรมเสริมหน้าอกไม่มีปัญหาในการให้นมบุตร อย่างไรก็ตาม หากแผลทำลายเส้นประสาทหรือท่อน้ำนมบางส่วนก็อาจมีปัญหาในการให้นมได้ หากคุณแม่คิดว่าการทำศัลยกรรมเสริมหน้าอกมีผลต่อการให้นม ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านการให้นมบุตร หรืออาจใช้เครื่องปั๊มนมช่วยได้เช่นกัน

รับรองโดย:

นพ. ปิยวุฒิ กรีฑาภิรมย์ (31 มีนาคม 2021)

ที่มา:

ดาวน์โหลดแอปMali Daily Pregnancy Tracker

แม่มือใหม่ & การตั้งครรภ์

เรตติ้ง 4.9 จากผู้ใช้งานกว่า 10,000+ คน

เรตติ้ง 4.9 จากผู้ใช้งานกว่า 10,000+ คน