ดาวน์โหลดแอป

3 สิ่งที่มักเข้าใจผิดเกี่ยวกับการลงโทษ

3 สิ่งที่มักเข้าใจผิดเกี่ยวกับการลงโทษ

เมื่อพูดถึงการแก้ไขพฤติกรรมของเด็ก คุณพ่อคุณแม่บางคนมักหันมาใช้การลงโทษ แต่ความจริงแล้วอาจไม่ได้ผล

น่าเสียดายที่พ่อแม่หลาย ๆ คนไม่รู้ว่าการลงโทษใช้ได้ผลในระยะสั้นเท่านั้น แต่ไม่สามารถขจัดพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ในระยะยาวได้ ในความเป็นจริงแล้วการลงโทษมักจะทำให้เด็กมีแนวโน้มที่จะประพฤติตัวไม่เหมาะสมอีกด้วย

ต่อไปนี้เป็นความเชื่อผิด ๆ 3 ประการเกี่ยวกับการลงโทษและเหตุใดจึงไม่ได้ผล

ความเชื่อที่ 1: การลงโทษจะสอนเด็กให้รู้จักพฤติกรรมที่เหมาะสม
แม้ว่าการลงโทษจะสามารถทำให้เด็กหยุดพฤติกรรมที่ไม่ดีได้ในขณะนั้น เพราะถูกขัดจังหวะ แต่การที่คุณลงโทษลูกจะไม่ทำให้เขามีพฤติกรรมที่ดีขึ้นโดยอัตโนมัติในอนาคต สำหรับเด็ก ๆ แล้ว ความสัมพันธ์ในการเปลี่ยนข้อมูลเชิงลบ (การลงโทษ) ให้เป็นผลลัพธ์เชิงบวก (พฤติกรรมที่ดี) เป็นเรื่องนามธรรมเกินไป

ตัวอย่างเช่น หากคุณตะโกนใส่ลูก ๆ เพราะพวกเขากำลังคุยกันตอนกินข้าว เด็ก ๆ อาจจะกินข้าวจนเสร็จโดยไม่พูดอะไรกันอีก แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าพวกเขาจะไม่พูดในระหว่างมื้ออาหารมื้อต่อไป ไม่เพียงแต่ลูกจะลืม แต่เขาไม่สามารถเชื่อมโยงการตะโกนอย่างโกรธเกรี้ยวของคุณกับความคิดที่ว่าพวกเขาควรจะเงียบ  ลองคิดง่าย ๆ ว่า การพูดว่า “เงียบเดี๋ยวนี้!” ด้วยเสียงดังก็เป็นวิธีที่ค่อนข้างขัดแย้งกับสิ่งที่คุณต้องการให้ลูก ๆ  ทำ

หากคุณต้องการให้ลูกเรียนรู้นิสัยการกินโดยไม่พูดคุยกัน คุณต้องแสดงให้เห็นว่าควรทำอย่างไร และชมเชยเขาเมื่อใดก็ตามที่เขาไม่พูดคุยกันในช่วงเวลาอาหาร

ความเชื่อที่ 2: การลงโทษที่ยาวนานหรือรุนแรงขึ้นจะมีประสิทธิภาพมากกว่า
เป็นเรื่องธรรมดาที่จะคิดว่าหากเพิ่มความรุนแรง หรือระยะเวลาของการลงโทษ เด็กจะถูกบังคับให้เรียนรู้วิธีการปฏิบัติตน แต่นั่นไม่เป็นความจริงเลย การลงโทษที่ยาวนานขึ้น หรือรุนแรงขึ้นไม่ได้เพิ่มประสิทธิภาพในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของเด็ก ในความเป็นจริงแล้ว เด็กจะปรับตัวเข้ากับการลงโทษใหม่ได้อย่างรวดเร็ว แม้ว่าในตอนแรกจะดูเจ็บปวดแค่ไหนก็ตาม เมื่อปรับตัวเข้ากับการลงโทษใหม่ได้แล้ว การลงโทษนั้นก็จะไม่มีประสิทธิภาพในการหยุดพฤติกรรมที่ไม่ดีได้อีกต่อไป

ไม่สำคัญว่าการลงโทษจะเบาหรือรุนแรง เพราะการลงโทษไม่ใช่วิธีที่มีประสิทธิภาพในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของลูกน้อยในระยะยาว ดังนั้นหากคุณมีลูกที่เอาแต่ใจตัวเอง เมื่อเขาทำในสิ่งที่คุณไม่ชอบแล้วคุณตีเขา เขาก็อาจจะทำสิ่งนั้นอีกหรืออาจทำมากกว่าเดิม ครั้งต่อไปคุณอาจตีเขาหนักขึ้น และเขาอาจหยุดมันสักครู่ แต่หลังจากนั้นเขาก็จะยังคงทำมันอีกครั้ง

ดังนั้นการลงโทษทางร่างกายจึงไม่เพียงแต่ไม่ได้ผล แต่ยังส่งผลเสียต่อความสัมพันธ์ระหว่างลูกกับคุณเอง และอาจทำให้เขาสูญเสียความรู้สึกปลอดภัยในตนเอง เด็กที่ได้รับบาดเจ็บจากผู้ที่ควรปกป้องเขามักจะเกิดความวิตกกังวล หรือรู้สึกไม่ปลอดภัยเมื่อโตขึ้น

ความเชื่อที่ 3: การพูดคุยกับเด็กเกี่ยวกับพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม มีผลในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม
การอธิบายสิ่งต่าง ๆ ให้ลูกฟังเป็นเรื่องที่ดีเสมอ ควรสอนเขาว่าคุณคิดอย่างไร และอาจอธิบายให้เขาเข้าใจว่าทำไมคุณถึงต้องการให้เขาทำหรือไม่ทำบางสิ่ง นอกจากนี้ ยังช่วยสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างคุณและลูกอีกด้วย

แต่คำอธิบายเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของเด็ก เพราะการรู้และปฏิบัติอย่างถูกต้องนั้นแตกต่างกันโดยสิ้นเชิงและไม่เชื่อมโยงกัน เด็ก ๆ อาจรู้ว่าเป็นเรื่องผิดและยังคงทำอยู่ เพราะมันเป็นธรรมชาติของมนุษย์เรา ตัวอย่างเช่น ผู้ใหญ่ส่วนใหญ่รู้ว่าการสูบบุหรี่นั้นไม่ดี แต่หลายคนก็ยังคงสูบบุหรี่

แม้การอธิบายจะเป็นเรื่องดี แต่คุณอาจต้องทำมากกว่าอธิบายหากต้องการให้ลูกน้อยทำสิ่งที่คุณต้องการ ซึ่งเรื่องนี้สามารถใช้การเสริมแรงเชิงบวกและการสร้างต้นแบบทางพฤติกรรมมาช่วย

การเสริมแรงในเชิงบวกคือให้รางวัล เช่น การชมเชย การกอด การแปะมือ หรือเพียงแค่ให้ความสนใจอย่างเต็มที่เมื่อเขาประพฤติ

การสร้างต้นแบบทางพฤติกรรมที่ดี หมายความว่า คุณพ่อคุณแม่และคนในครอบครัวจะต้องประพฤติตนเป็นแบบอย่าง และเป็นไปในทิศทางเดียวกันทั้งครอบครัว เนื่องจากเด็ก ๆ มักจะเลียนแบบพฤติกรรมของคุณพ่อคุณแม่อยู่แล้ว ซึ่งจะดีกว่าสิ่งอื่นใด ดังนั้นหากคุณต้องการให้เขาพูดจาไพเราะและเป็นมิตร ก็ไม่มีอะไรจะดีไปกว่าการแสดงให้ลูกเห็นว่าควรทำอย่างไร แม้แต่ในเวลาที่เด็กประพฤติตัวไม่ดีก็ตาม

รับรองโดย:

เกศสุภา จิระการณ์ (นักสุขภาพจิต) (31 มีนาคม 2021)

ที่มา:

ดาวน์โหลดแอปMali Daily Pregnancy Tracker

แม่มือใหม่ & การตั้งครรภ์

เรตติ้ง 4.8 จากผู้ใช้งานกว่า 5,000+ คน

เรตติ้ง 4.8 จากผู้ใช้งานกว่า 5,000+ คน