ความสำคัญของการเล่น
การเล่นเป็นกิจกรรมที่ไม่เพียงแต่ให้ความสนุกสนานเพื่อฆ่าเวลาเท่านั้น แต่ยังมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อพัฒนาการของเด็กด้วย
ทำไมการเล่นจึงสำคัญ
เด็กเล็กจะมีการพัฒนาทักษะที่สำคัญ ๆ ผ่านพลังแห่งการเล่น พวกเขาจะได้เรียนรู้ภาษา อารมณ์ ความคิดสร้างสรรค์ และทักษะทางสังคม การเล่นยังช่วยเสริมสร้างจินตนาการและให้เด็ก ๆ รู้สึกถึงการผจญภัย หากขาดการเล่น เมื่อโตขึ้นพวกเขาอาจขาดความสามารถในการเข้าหาเพื่อนที่โรงเรียนหรือแม้แต่ไม่สามารถแก้ปัญหาในที่ทำงานที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ได้
ขั้นตอนทั่วไปของการเล่น
เราสามารถระบุขั้นตอนการเล่นในวัยเด็กได้ 5 ขั้นตอน ซึ่งทั้งหมดนี้มีความสำคัญต่อพัฒนาการของลูก
การเล่นที่ไม่เฉพาะเจาะจง: เกิดขึ้นได้ตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุประมาณ 3 เดือน ทารกจะเคลื่อนไหวแขน ขา มือ และส่วนอื่น ๆ ของร่างกายแบบสุ่ม ในขณะที่การเคลื่อนไหวอย่างไร้จุดหมายนี้จะช่วยให้เขาพัฒนาการควบคุมตนเองได้
การเล่นตามลำพัง: ระยะนี้จะเริ่มในวัยเด็กและดำเนินต่อไปจนถึงตอนอายุประมาณ 2 ขวบ ซึ่งเป็นช่วงที่เด็ก ๆ เริ่มเล่นด้วยตัวเองโดยไม่สนใจเด็กคนอื่น ๆ เป็นการเล่นคนเดียว โดยที่เด็กจะใช้ของเล่นคนละแบบกับเพื่อน เช่น เด็กอาจนั่งเล่นตัวต่อ ในขณะที่เพื่อนเล่นอย่างอื่นไปเลย การเล่นตามลำพังจะช่วยให้เขาสามารถฝึกฝนทักษะส่วนบุคคลใหม่ ๆ เช่น ทักษะการรับรู้และการเคลื่อนไหว ซึ่งใช้ในการเตรียมความพร้อมสำหรับการเล่นกับผู้อื่น
การเล่นแบบคู่ขนาน: เกิดขึ้นหลังจากอายุ 2 ขวบเป็นต้นไป ในช่วงนี้เด็กไม่เพียงแต่สังเกตว่าเด็กคนอื่น ๆ กำลังทำอะไร แต่ยังพยายามทำเช่นเดียวกันด้วย เด็ก ๆ สามารถเล่นเกมประเภทเดียวกันข้าง ๆ กันได้โดยไม่ต้องโต้ตอบซึ่งกันและกัน แต่จะคอยมองดูเพื่อนเป็นครั้งคราว
การเล่นร่วมกัน: เกิดขึ้นในช่วงอายุ 3 – 4 ขวบ ช่วงนี้เด็ก ๆ เริ่มจะมีปฏิสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน แต่การเล่นยังไม่เป็นระเบียบ และไม่มีการตกลงเป้าหมายที่ชัดเจน การเล่นร่วมกันจะช่วยให้เด็ก ๆ เริ่มสร้างทักษะทางสังคม ตัวอย่างเช่น เด็ก ๆ ทุกคนอาจเล่นอุปกรณ์สนามเด็กเล่นชิ้นเดียวกัน แต่ทุกคนทำสิ่งที่แตกต่างกัน เช่น ปีน โหน แกว่ง ฯลฯ
การเล่นแบบร่วมมือกัน: หรืออาจเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า การเล่นทางสังคม จะเกิดขึ้นประมาณอายุ 4 ขวบขึ้นไป เด็ก ๆ จะมีปฏิสัมพันธ์กับตัวเองอย่างอิสระ และสามารถจัดระเบียบการเล่นเกมได้ พวกเขาอาจตั้งเป้าหมายของกลุ่มและตั้งกฎสำหรับเกมของพวกเขาเอง
ขั้นตอนเหล่านี้เป็นแนวทางทั่วไปสำหรับสิ่งที่จะได้เห็นในทักษะการเล่นของลูก แต่อย่าลืมว่าเด็ก ๆ ทุกคนนั้นมีความแตกต่างกัน
รับรองโดย:
เกศสุภา จิระการณ์ (นักสุขภาพจิต) (31 มีนาคม 2021)