วิธีการเลี้ยงดูลูก 5 แบบ
วิธีการเลี้ยงดูลูกของคุณพ่อคุณแม่มีอิทธิพลมากต่อบุคคลิกภาพและนิสัยของลูกเมื่อโตขึ้น เรามาดูว่ารูปแบบการเลี้ยงดูของพ่อแม่แต่ละแบบนั้นส่งผลต่อบุคลิกของลูกอย่างไรบ้าง
ในทางทฤษฏีรูปแบบการเลี้ยงดูของพ่อแม่ สามารถแยกออกได้เป็น 4 แบบ คือ การเลี้ยงดูแบบควบคุม คือพ่อแม่แบบเผด็จการจะชอบควบคุมและเรียกร้องการเชื่อฟังโดยไม่สนใจมุมมองของเด็ก การเลี้ยงดูแบบตามใจ คือพ่อแม่ที่รักลูกมากจนทำให้ไม่มีการควบคุม หรือ กฎเกณฑ์ใด ๆ การเลี้ยงดูแบบเอาใจใส่ คือพ่อแม่ที่มีความหนักแน่นแต่แสดงความรักอยู่สม่ำเสมอ และมีการจัดกรอบเพื่อมอบอิสระให้เด็กได้ทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยตัวเอง การเลี้ยงดูแบบทอดทิ้ง คือพ่อแม่ที่ปล่อยปะละเลย ไม่ควบคุม ไม่ขะยั้นขะยอ เย็นชา และไม่ตอบสนองความต้องการของเด็ก เมื่อไม่นานมานี้เริ่มมีรูปแบบที่ 5 ขึ้นมา แต่เราจะพูดถึงมันในตอนท้าย
การเลี้ยงดูในแต่ละรูปแบบนั้นก็จะมีตั้งแต่การควบคุมและเรียกร้องไปจนถึงการให้อิสระอย่างเต็มที่ และจากความเย็นชาและเมินเฉยจนถึงความรักใคร่และเปิดกว้าง ทุกรูปแบบการเลี้ยงดู ไม่ว่าจะเป็นแบบใด ต่างก็มีคุณสมบัติที่แตกต่างของตัวเอง เพื่อให้เข้าใจว่าการเติบโตในการเลี้ยงดูของพ่อแม่แต่ละแบบนั้นเป็นอย่างไร เราจะสามารถดูได้จากชีวิตของเด็กสี่คน
การเลี้ยงดูแบบควบคุม
พ่อแม่ของมายานั้นใช้การเลี้ยงดูแบบควบคุม ทั้งสองรักลูกของตนแต่ก็เชื่อว่าการสร้างกฎเกณฑ์นั้นสำคัญต่อการที่มายาจะเติบโตมาเป็นผู้ใหญ่ที่ประพฤติและเข้ากับสังคมได้ดี ถ้ามายาร้องไห้ เธอก็จะถูกบอกให้หยุด ถ้าเธอพยายามพูดในมุมมองของตัวเองเธอก็จะถูกทำโทษให้ไปนั่งพักเข้ามุมคนเดียวเงียบ ๆ และถ้าเธอลืมทำงานบ้าน เธอก็จะไม่ได้เล่นของเล่น มายาเรียนรู้ว่าการระงับอารมณ์ตัวเองและทำตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายคือวิธีเดียวที่จะผ่านวันแต่ละวันไปได้ เพื่อที่จะได้รับความรักจากพ่อแม่และเลี่ยงการทำให้พวกเขาโกรธ เธอจึงเรียนรู้ที่จะเชื่อฟัง อย่างไรก็ตาม เพราะมายาไม่เคยได้ตัดสินใจด้วยตัวเองหรือทำตามสิ่งที่ตัวเองอยากทำสักครั้ง เมื่อโตขึ้นแล้วเธอจึงไม่รู้ว่าตัวเองต้องการอะไร เธอเริ่มใช้ชีวิตที่อาจจะดูสมบูรณ์แบบในสายตาของพ่อแม่และสังคม แต่ลึก ๆ แล้วมันไม่ได้ทำให้เธอมีความสุขเลย
การเลี้ยงดูแบบตามใจ
พ่อแม่ที่เลี้ยงดูแบบตามใจเหมือนของปีเตอร์ รักลูกชายตัวน้อยของตัวเองมาก และเชื่อว่าปีเตอร์ควรได้รับทุกอย่างที่เขาอยากได้และไม่มีวันที่จะพูดว่า ‘ไม่’ หรือปฏิเสธเลย ปีเตอร์มีความสุขกับการได้รับทุกสิ่งทุกอย่าง หากปีเตอร์ไม่อยากเดิน เขาก็จะถูกอุ้ม หากปีเตอร์อยากกินไอศกรีม เขาก็จะได้กิน หากปีเตอร์อยากเล่นเกมส์ เขาก็จะได้เล่นตลอดทั้งคืน
ปีเตอร์เติบโตขึ้นโดยไม่มีขอบเขตใด ๆ เขาทำตามทุกอย่างที่ตัวเองคิดว่าถูกต้อง ไม่เคยรับมือกับปัญหา และไม่เคยเรียนรู้ที่จะควบคุมอารมณ์ตัวเอง ความจริงที่ว่าเขาได้ทุกอย่างที่เขาต้องการเสมอนั้นทำให้เขากลายเป็นคนที่ไม่มีน้ำใจนักกีฬา เมื่อโตขึ้นเขามักจะทำการกระทำที่ไม่นึกถึงผู้อื่น และไม่รู้จักการมีขอบเขต
การเลี้ยงดูแบบเอาใจใส่
พ่อแม่ของอาชาเคารพความต้องการของลูกเสมอ แต่ก็เชื่อว่าการได้รับอิสระจะต้องมีขอบเขต อาชาสามารถเล่นได้ตามใจชอบ แต่เมื่อเล่นเสร็จแล้วเขาต้องช่วยเก็บ อาชาได้รับอนุญาตให้ทานไอศกรีม แต่ได้เฉพาะวันอาทิตย์เท่านั้น การดูหน้าจอถูกจำกัดให้ดูได้วันละ 30 นาที แม้จะมีการถกเถียงเกิดขึ้น แต่พ่อแม่ก็รับฟังว่าอาชาต้องการจะบอกอะไร และวางกฎระเบียบใหม่อีกครั้ง ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตามพวกเขาจะไม่ยอม และไม่ใช้ทั้งรางวัลหรือบทลงโทษ
อาชาได้เรียนรู้ว่าแม้บางสิ่งบางอย่างจะยากเย็น แต่เขาก็จะมีพ่อแม่คอยสนับสนุนอยู่เสมอเพื่อให้เขาผ่านมันไปได้ เขาได้เรียนรู้ที่จะอดทนสู้กับความยากลำบากและเดินหน้าต่อเพื่อทำสิ่งที่เขาชอบและสนใจต่อไป ในห้องเรียนอาชานั้นกล้าที่จะแสดงความคิดเห็นของตนเองอย่างเหมาะสม ในช่วงเวลาพักเขาสามารถแสดงอารมณ์และท่าทางได้อย่างเป็นอิสระ เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่แล้วเขาก็จะตกลงกับกฎเกณฑ์ต่อเมื่อได้พิจารณาและเข้าใจมันแล้วเท่านั้น
การเลี้ยงดูแบบทอดทิ้ง
พ่อแม่ที่ปล่อยปะละเลยมักจะไม่ค่อยอยู่ในชีวิตของลูกเท่าไร บ่อยครั้งที่นอร่ารู้สึกโดดเดี่ยวอยู่บนโลกใบนี้ เธอสามารถทำอะไรก็ได้ตามที่เธออยากทำและมีจินตนาการที่เปี่ยมล้น แต่เธอกลับไม่เคยได้รับการโต้ตอบ ความรัก หรือความสนใจจากพ่อแม่เลย
นอร่าตระหนักได้ว่า ไม่ว่าเธอจะทำอะไรยังไงก็ไม่มีคนสนใจอยู่ดี การขาดความเอาใจใส่นำไปสู่การไม่ไว้วางใจในตัวเองและผู้อื่น ทำให้นอร่ากลายเป็นคนที่ไม่มั่นคง เธอไม่สามารถสร้างความสัมพันธ์ที่ดีได้และเริ่มมองตัวเองด้วยภาพลักษณ์ที่ไม่ดี เพื่อหยุดความรู้สึกว่าตนไม่คู่ควรกับความรัก เธอก็จะพยายามที่จะไม่รู้สึกอะไรเลย
การเลี้ยงดูแบบยุ่งเกี่ยวมากเกินไป
ในปีที่ผ่าน ๆ มา พ่อแม่ที่ยุ่งเกี่ยวกับลูกมากเกินไปและอยู่ในทุกช่วงวินาทีของพวกเขานั้นกำลังจะกลายเป็นการเลี้ยงดูรูปแบบที่ 5 หรือที่เรียกว่า ‘เครื่องไถหิมะ’ หรือ ‘เฮลิคอปเตอร์’ เพราะพวกเขาจะกวาดทุกสิ่งที่อย่างที่เป็นอุปสรรคต่อเส้นทางในชีวิตของลูกออกไป หรือไม่ก็คอยเฝ้ามองค้ำศรีษะของลูกและจัดการดูแลทุกสิ่งทุกอย่างแทนให้หมด เพราะพ่อแม่เหล่านี้ทำให้ทุกอย่างแล้วจึงทำให้เด็กไม่สามารถเรียนรู้อะไรใหม่ได้ ไม่สามารถข้ามผ่านปัญหาและความท้าทายได้ด้วยตนเอง งานวิจัยจัดเด็กประเภทนี้ไว้ว่าจะไม่ชอบแก้ปัญหา จะขาดความขยันหมั่นเพียร และอาจจะผลัดวันไปเรื่อย ๆ หากต้องทำอะไรที่ต้องใช้ความพยายามสูง
งานวิจัยและเบื้องหลัง
เนื่องจากการวิจัยเรื่องการปกครองบุตรส่วนมากมาจากการรายงานด้วยตนเองและถูกจัดทำในสหรัฐอเมริกาและยุโรปเท่านั้น ผลสรุปจึงอาจจะยังไม่ชัดเจนและแข็งแกร่งพอเมื่อเทียบกับการทำวิจัยในการทดลองที่ถูกควบคุม หรือในส่วนอื่น ๆ ของโลกได้
ทฤษฎีการเลี้ยงดูบุตรทั้งสี่รูปแบบนั้นถูกแนะนำครั้งแรกโดยนักจิตวิทยา Diana Baumrind และเพื่อการเลี้ยงดูลูกที่ดีเธอจึงแนะนำเรื่อง ‘ความสมดุลระหว่างความต้องการและการตอบสนอง’ เหมือนที่ Maria Montessori กล่าวเอาไว้ว่า ‘อย่าช่วยเด็กทำสิ่งที่เขาคิดว่าสามารถทำได้ด้วยตนเอง’ แค่นี้ก็น่าจะช่วยให้คุณพ่อคุณแม่เลี้ยงดูลูกได้ดีพอสมควรแล้ว
คุณคิดว่าอย่างไรบ้าง? ผู้ปกครองควรใช้รูปแบบการเลี้ยงดูแบบใดแบบหนึ่ง หรือพวกควรค่อย ๆ เลือกวิธีตอบสนองที่ดีที่สุดไปตามเหตุการณ์ — ตราบใดที่พวกเขาไม่เมินเฉยหรือทำร้ายลูกของตัวเอง