8 ระยะก่อนการเดินของทารก
การเดินถือเป็นก้าวสำคัญของพัฒนาการที่น่าตื่นเต้นที่สุดก้าวหนึ่ง และลูกอาจจะเริ่มหัดเดินในช่วงอายุ 10 – 18 เดือน
การหัดเดินแบ่งเป็นหลายระยะ และจะเป็นผลมาจากพัฒนาการอย่างเป็นขั้นตอนและสม่ำเสมอก่อนหน้านั้น ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนากล้ามเนื้อในการนั่ง คลาน การเกาะยืน และการเกาะเดิน
เพื่อช่วยให้ลูกผ่านการหัดเดินก้าวแรกที่น่าตื่นเต้นนี้ได้ทันเวลา คุณแม่สามารถกระตุ้นให้ลูกน้อยมีความเชี่ยวชาญในพัฒนาการที่สำคัญหลายเดือนก่อนหน้านี้ พัฒนาการที่สำคัญก่อนการเดิน ได้แก่ การนั่ง การคลาน การเกาะยืน และการเกาะเดิน ลูกจะสร้างค่อย ๆ พัฒนาความแข็งแรงและความสมดุลที่จำเป็นสำหรับการเดิน
ระยะการนั่ง: การนั่งเป็นก้าวสำคัญที่ทารกจะได้พัฒนาเมื่อมีอายุระหว่าง 4 – 7 เดือน การนั่งจะช่วยให้ลูกเสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อลำตัว ซึ่งเขาจะต้องใช้ในการรักษาความสมดุลเวลาเดิน เมื่อลูกเริ่มนั่งได้เองโดยไม่ต้องมีการพยุงหรือช่วยเหลือ แสดงว่าลูกน้อยของคุณแม่ได้ผ่านขั้นแรกของการพัฒนาทักษะการเคลื่อนไหวแล้ว
คุณแม่สามารถช่วยให้ลูกเกิดความเชี่ยวชาญในขั้นตอนนี้ได้ด้วยการฝึกฝนอย่างสม่ำเสมอ เมื่อลูกอายุถึง 4 เดือน ลองพยายามฝึกเขาให้นั่งเป็นประจำทุกวัน กระตุ้นให้ลูกน้อยของคุณเล่นขณะนั่ง คุณแม่อาจลองหมุนลูกบอลไปมา หรือวางของเล่นในตำแหน่งที่ลูกจำเป็นต้องยืดตัวก่อนที่จะคว้าเอาไว้ได้
ระยะการคลาน: ขั้นตอนที่สองในการสร้างความแข็งแรงเพื่อการเดินคือ การคลาน โดยปกติเด็กทารกจะเริ่มคลานในช่วงอายุ 6 – 10 เดือน ในขั้นตอนนี้ลูกจะต้องเคลื่อนไหวทั้งแขนและขา แขนขาทั้งสองข้างจะเรียนรู้วิธีรับน้ำหนัก ทำให้กล้ามเนื้อแขนและขาแข็งแรงขึ้นและช่วยให้ลูกเกิดความคล่องตัวและมีทักษะการทรงตัวที่จำเป็นสำหรับการเดิน
เพื่อช่วยให้ลูกหัดคลาน คุณแม่ควรเริ่มให้ “เวลานอนคว่ำเล่น” แก่เขาแต่เนิ่น ๆ คุณแม่อาจสามารถช่วยกระตุ้นลูกได้โดยวางของเล่นไว้ห่าง ๆ เพื่อให้ลูกเอื้อมและยืดตัวไปหยิบ
ระยะการเกาะยืน: เมื่อกล้ามเนื้อของลูกแข็งแรงขึ้นเขาจะเริ่มอยากรู้อยากเห็นและกล้าหาญมากขึ้น เมื่ออายุประมาณ 8 เดือน ลูกจะเริ่มพยายามดึงตัวเองขึ้นมายืนโดยอาจพึ่งการช่วยเหลือคนอื่น ๆ หรือสิ่งต่าง ๆ รอบตัว ไม่ว่าจะเป็นแม่ พ่อ คนอื่น ๆ หรือเฟอร์นิเจอร์ ความพยายามที่จะยืนเหล่านี้จะช่วยให้ลูกได้เสริมสร้างกล้ามเนื้อขาและพัฒนาทักษะการทรงตัว
สิ่งหนึ่งที่คุณแม่ทำได้ในขั้นตอนนี้คือ ช่วยให้ลูกคุ้นเคยกับตำแหน่งการยืนและฝึกฝนทักษะการทรงตัว คุณแม่ยังสามารถช่วยให้เขาเรียนรู้วิธีงอเข่าเมื่อพยายามกลับลงไปนั่งที่พื้น เพื่อป้องกันการหกล้ม
ระยะการเกาะเดิน: เมื่อเวลาผ่านไป ลูกจะเริ่มมีความมั่นใจในการเกาะยืนและจะพยายามเคลื่อนที่โดยใช้เฟอร์นิเจอร์ ผนัง หรือร่างกายของผู้อื่นในการช่วยพยุง การเคลื่อนไหวนี้เรียกว่าการเกาะเดิน โดยปกติจะเกิดขึ้นในช่วงอายุ 8 – 10 เดือน ซึ่งจะช่วยให้ทารกได้เรียนรู้วิธีขยับขาในขณะที่กำลังยืนอยู่
เนื่องจากลูกกำลังมีการเคลื่อนที่เพิ่มมากขึ้น คุณแม่ควรตรวจสอบให้แน่ใจว่าบ้านที่อยู่ปลอดภัยและมีพื้นนุ่มรองรับหากเขาล้ม ยึดเฟอร์นิเจอร์ทั้งหมดให้แน่นเพื่อให้แน่ใจว่าลูกไม่สามารถดันไปมาได้ คุณแม่อาจลองกระตุ้นให้ลูกน้อยปล่อยมือจากผนังหรือเฟอร์นิเจอร์ โดยยื่นมือให้ลูกในระยะห่างจากตัวเขาเล็กน้อย เพื่อที่ลูกจะได้ลองพยายามย้ายมือจากผนังมาจับมือของคุณ ซึ่งควรอยู่ห่างจากตัวลูกเล็กน้อย
ระยะการยืนได้ด้วยตัวเอง: ในขั้นตอนนี้ลูกจะสามารถยืนได้เองโดยไม่ต้องได้รับการช่วยเหลือใด ๆ พัฒนาการที่สำคัญนี้มักเกิดขึ้นในช่วงอายุ 9 – 12 เดือน เป็นช่วงที่สำคัญมากในการสร้างสมดุลและพัฒนาความสามารถในการประสานข้อต่อสะโพก เข่า และข้อเท้า โดยไม่ต้องพึ่งสิ่งใดมาช่วยพยุง เป็นทักษะที่สำคัญต่อการเดิน
เพื่อช่วยให้ลูกน้อยของคุณแม่เชี่ยวชาญในทักษะการทรงตัว คุณแม่อาจลองร้องเพลงและปรบมือให้ลูกขณะที่เขายืน สังเกตดูว่าเขาสามารถยืนอยู่ได้นานแค่ไหนในการพยายามยืนแต่ละครั้ง และลองตั้งเป้าให้ได้มากขึ้นในครั้งต่อไป ชื่นชมและให้กำลังใจลูกสำหรับความพยายามในแต่ละครั้ง อย่ากังวลมากจนเกินไปหากลูกล้มลง การหกล้มเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนรู้ และลูกน้อยของคุณแม่ก็ต้องเรียนรู้วิธีการล้มด้วยเช่นกัน
ระยะการก้าวเดินโดยได้รับความช่วยเหลือ: เมื่อลูกเริ่มยืนได้อย่างสบาย ๆ ด้วยขาทั้งสองข้างโดยไม่ต้องมีคนพยุงแล้ว ก็ถึงเวลากระตุ้นให้เขาพยายามก้าวเดินบ้าง การเดินเป็นการรักษาสมดุลของขาข้างหนึ่งในขณะที่เคลื่อนไหวอีกข้างหนึ่ง ในขั้นตอนนี้ลูกอาจต้องการความช่วยเหลือในการทรงตัวบนขาข้างเดียว
สิ่งหนึ่งที่คุณแม่ทำได้คือให้ลูกน้อยจับมือของคุณแม่ไว้ในขณะที่ช่วยพยุงให้เขาเดินไปมาในห้องสัก 2 – 3 ก้าว อีกทางเลือกหนึ่งคือให้ลูกจับของเล่นแบบผลัก เช่น รถเข็นของเล่น การเข็นรถเข็นไปรอบ ๆ เป็นเรื่องสนุกสำหรับเด็ก ๆ และช่วยให้ลูกได้พัฒนาทักษะการเคลื่อนไหว ไม่ควรใช้รถหัดเดินสำหรับเด็ก เพราะจริง ๆ แล้วจะทำให้เขาเดินได้ช้าลง
ก้าวแรกของการเดิน: ก้าวแรกของทารกนั้นเป็นช่วงเวลาที่น่าตื่นเต้นสำหรับทุกคน ดังนั้นควรให้ลูก มีความมั่นใจในการก้าวเดินครั้งแรก ลูกควรได้รับการสนับสนุนให้ลืมความกลัวและเพิ่มความพยายาม สิ่งหนึ่งที่คุณแม่ทำได้คือปล่อยมือของคุณแม่ออกชั่วคราวขณะที่เดินไปด้วยกัน และสังเกตดูว่าลูกสามารถเดินต่อไปเองได้หรือไม่
คุณแม่ยังสามารถห้อยของเล่นไว้ข้างหน้าเมื่อเขายืนขึ้น และรอดูว่าลูกพยายามจะคว้ามันไว้หรือไม่ ชื่นชมและให้กำลังใจเขาสำหรับความพยายามทุก ๆ ครั้ง
การเดิน: ลูกอาจต้องสะดุดล้มสัก 2 – 3 ครั้งก่อนที่จะเดินได้เก่ง คุณแม่ควรให้กำลังใจลูกน้อยจนกว่าการเดินจะเป็นการเคลื่อนที่โดยปกติของเขาแทนการคลาน
คุณแม่อาจหารองเท้าที่ส่งเสียงดังมาให้ลูกใส่ รองเท้าเหล่านี้จะคอยส่งเสียงที่น่าสนใจเมื่อเขาก้าวเดิน ดังนั้นอาจช่วยกระตุ้นความอยากรู้อยากเห็นของลูกและทำให้เขาอยากเดินบ่อยขึ้น นอกจากนี้ คุณแม่ก็จะได้รู้ว่าเขาอยู่ที่ไหนตลอดเวลา
สิ่งที่ควรรู้เกี่ยวกับรถหัดเดิน
จากการศึกษาพบว่ารถหัดเดินอาจชะลอการพัฒนาการการเคลื่อนที่ของทารก ซึ่งทำให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับหลัง และอาจก่อให้เกิดอันตราย เนื่องจากรถสามารถพลิกคว่ำได้ ในประเทศแคนาดาได้มีห้ามการใช้รถหัดเดินแล้ว และสถาบัน American Academy of Pediatrics (AAP) ก็ไม่สนับสนุนให้ใช้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ดังนั้นเพื่อให้พัฒนาการของลูกน้อยของคุณเป็นไปได้อย่างดี ควรหลีกเลี่ยงรถหัดเดิน
รับรองโดย:
ดร. ประภาศรี นันท์นฤมิต (นักจิตวิทยาพัฒนาการ) (31 มีนาคม 2021)