ดาวน์โหลดแอป

พัฒนาการทางบุคลิกของเด็ก: ทฤษฎีจิตสังคมของอิริคสัน

พัฒนาการทางบุคลิกของเด็ก: ทฤษฎีจิตสังคมของอิริคสัน

ทฤษฎีอันโด่งดังของ อิริค อิริคสัน เกี่ยวกับพัฒนาการการเรียนรู้ 8 ระยะ ที่ลูกจะได้พบ

ในช่วง 3 ระยะแรก (อายุ 0 – 5) ปี นอกจากจะเป็นช่วงเวลาที่สมองของลูกกำลังพัฒนาอย่างรวดเร็วที่สุดแล้ว ยังเป็นช่วงเวลาที่คุณพ่อคุณแม่มีส่วนร่วมในการเสริมสร้างบุคลิกภาพในด้านต่าง ๆ ของเขาได้อย่างมากที่สุดด้วย

เด็กในแต่ละวัยจะมีขั้นตอนการเสริมสร้างบุคลิกภาพที่ต่างกันดังต่อไปนี้

1. การสร้างความไว้วางใจขั้นพื้นฐานของทารก (1 – 2 ปี)
ในระยะแรกเกิด ลูกจะตั้งคำถามกับตัวเองว่า “เราจะไว้วางใจสิ่งต่าง ๆ ในโลกใบนี้ได้ไหม?” “มันจะปลอดภัยสำหรับเราหรือเปล่า?” ถ้าเขารู้สึกว่าเขาสามารถไว้ใจใครสักคนได้ในเวลานี้ เขาก็จะสามารถไว้ใจคนอื่น ๆ ได้ในอนาคต แต่ถ้าเด็กรู้สึกกลัว เขาก็จะเริ่มคลางแคลงสงสัยและไม่ไว้ใจสิ่งต่าง ๆ ไปด้วยในอนาคต ผู้ที่มีบทบาทต่อพัฒนาการของเด็กในช่วงนี้มากที่สุดก็คือคุณแม่นั่นเอง

2. ความเป็นตัวของตัวเองและความอิสระ ของเด็กปฐมวัย (2 – 4 ปี)
ในช่วงปฐมวัยลูกจะเริ่มรู้จักค้นหาตัวเองและสังเกตร่างกายของเขา พร้อมตั้งคำถามว่า “เราสามารถเป็นตัวของตัวเองได้ไหม?” หากได้รับอนุญาตให้ค้นหาตัวเอง เขาก็จะเริ่มเกิดความเชื่อมั่นในตนเอง แต่ถ้าไม่ได้รับโอกาสนั้น ก็อาจทำให้รู้สึกละอายและเกิดความสงสัยในตัวเอง ทั้งคุณพ่อและคุณแม่ต่างมีบทบาทสำคัญต่อลูกมากในช่วงนี้

3. การเป็นผู้ริเริ่ม ของเด็กวัยก่อนเข้าโรงเรียน (4 – 5 ปี)
เด็กในวัยนี้จะเริ่มมีความคิดริเริ่มเป็นของตนเอง รู้จักลองสิ่งใหม่ ๆ และเรียนรู้หลักการง่าย ๆ ทั่วไป เช่น สิ่งของทรงกลมกลิ้งได้ เขาจะเริ่มตั้งคำถามว่า “เราทำแบบนี้ได้ไหม?” ถ้ามีคนกระตุ้นหรือสนับสนุนในสิ่งที่ทำ เขาก็จะเกิดความสนใจในสิ่งนั้น แต่ถ้ามีคนห้ามหรือบอกว่าสิ่งที่ทำนั้นไม่ถูกต้อง เขาก็จะรู้สึกผิด ที่จะทดลอง และพลาดโอกาสในการเรียนรู้ ในช่วงวัยนี้ลูกจะเรียนรู้จากสมาชิกทุกคนในครอบครัว

4. ความพากเพียรอุตสาหะ ในเด็กวัยเรียน (5 – 12 ปี)
ในช่วงนี้ ลูกจะเริ่มค้นหาความสนใจของตัวเองและเรียนรู้ว่าเขาแตกต่างจากคนอื่น ๆ เขาต้องการจะแสดงให้ผู้อื่นเห็นว่าสิ่งที่เขาทำนั้นถูกต้อง และจะตั้งคำถามว่า “เราจะอยู่รอดในโลกใบนี้หรือไม่?” ถ้าลูกได้รับกำลังใจและคำชื่นชมจากเพื่อนหรือครู เขาก็จะเกิดความพากเพียรอุตสาหะ แต่ถ้าถูกตำหนิมากเกินไป เขาก็จะเริ่มรู้สึกด้อยค่าและขาดแรงผลักดัน คนรอบตัวและโรงเรียนเข้ามามีบทบาทสำคัญที่สุดต่อเด็กในช่วงนี้

5. การสร้างอัตลักษณ์ ในช่วงวัยรุ่น (13 – 19 ปี)
ในช่วงวัยรุ่น ลูกจะเริ่มเข้าใจว่าเขามีหน้าที่ในสังคมหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นในฐานะเพื่อน นักเรียน เด็ก และพลเมือง เด็กวัยรุ่นหลายคนมักเกิดความสับสนเกี่ยวกับอัตลักษณ์และตัวตนในช่วงนี้ หากคุณแม่ปล่อยให้เขาได้ออกไปค้นหาตัวตนบ้าง ลูกก็อาจค้นพบตัวเอง แต่ในทางกลับกัน หากเขาโดนห้ามปรามและบังคับให้อยู่ในกรอบกำหนดมากเกินไป ก็อาจรู้สึกสับสนในบทบาท เอกลักษณ์ของตนเอง และหลงทางได้ ผู้ที่มีอิทธิพลสำคัญต่อเด็กในวัยนี้คือเพื่อนและคนที่เด็กนับเป็นแบบอย่าง

6. ความใกล้ชิดผูกพัน ในช่วงวัยทำงาน (20 – 40 ปี)เมื่อเริ่มก้าวสู่วัยทำงาน ลูกจะเริ่มเข้าใจตัวเองและเริ่มปล่อยวางความสัมพันธ์บางส่วนที่เคยสร้างไว้เพื่อปรับตัวให้เข้ากับสังคม เขาจะตั้งคำถามว่า “เรารักใครได้หรือไม่?” ถ้าเขาได้มีโอกาสได้ลงหลักปักฐานในความสัมพันธ์ในระยะยาว เขาก็จะรู้สึกมั่นใจและมีความสุข แต่ถ้าเขาไม่สามารถสร้างความสัมพันธ์ใกล้ชิด สุดท้ายก็อาจรู้สึกโดดเดี่ยวและอ้างว้างได้ เพื่อนและคู่รักจึงกลายเป็นศูนย์กลางของพัฒนาการในช่วงนี้

7. การถ่ายทอดสู่คนรุ่นหลัง (40 – 65 ปี)
เมื่อมนุษย์เราเริ่มเข้าสู่วัย 40 จะเริ่มรู้สึกสบายใจขึ้น รู้จักใช้เวลาว่างอย่างสร้างสรรค์ และอาจเริ่มสนใจช่วยเหลือสังคมมากขึ้น เราจะเริ่มคิดถึงการถ่ายทอดสิ่งต่าง ๆ ให้กับคนรุ่นต่อไป ถ้ารู้สึกว่าเราสามารถถ่ายทอดสิ่งที่เป็นประโยชน์ให้กับคนรุ่นหลังได้ เราก็จะรู้สึกมีความสุข แต่ถ้าเราไม่สามารถแก้ไขความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในช่วงชีวิตก่อนหน้าได้ เราก็อาจกลายเป็นคนมองโลกในแง่ลบและเริ่มนึกถึงแต่ตนเอง ไม่สนใจคนรอบข้าง ผู้ที่มีบทบาทต่อพัฒนาการมากที่สุดในช่วงนี้คือคนที่บ้านและที่ทำงาน

8. ความพอใจในตนเอง (65 ปีเป็นต้นไป)
เมื่อเราแก่ตัวลง เราเริ่มมองย้อนกลับไปในช่วงชีวิตที่ผ่านมา เราถามตัวเองว่า “ที่ผ่านมาเราเป็นอย่างไรบ้าง?” ถ้าเราคิดว่าเราใช้ชีวิตได้ดี เราก็จะรู้สึกพอใจและสมบูรณ์ แต่ถ้าเราไม่คิดเช่นนั้น เราก็จะรู้สึกสิ้นหวังและกลายเป็นคนขมขื่นและขี้หงุดหงิด

เกี่ยวกับ อิริค อิริคสัน
อิริค อิริคสัน นักจิตวิทยาชาวเยอรมัน – อเมริกัน และภรรยา โจแอน เป็นที่รู้จักจากงานเกี่ยวกับพัฒนาการด้านจิตสังคม เขาได้รับอิทธิพลจากซิกมุนด์และแอนนา ฟรอยด์ และมีชื่อเสียงในฐานะที่เป็นผู้ริเริ่มคำว่า “วิกฤตอัตลักษณ์” (identity crisis) แม้ว่าเขาไม่เคยมีปริญญาสักใบ แต่เขาก็ได้เป็นศาสตราจารย์ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดและเยล

รับรองโดย:

นพ. ปิยวุฒิ กรีฑาภิรมย์ (31 มีนาคม 2021)

ที่มา:

ดาวน์โหลดแอปMali Daily Pregnancy Tracker

แม่มือใหม่ & การตั้งครรภ์

เรตติ้ง 4.8 จากผู้ใช้งานกว่า 5,000+ คน

เรตติ้ง 4.8 จากผู้ใช้งานกว่า 5,000+ คน