การมองเห็นของทารกตั้งแต่แรกเกิดถึง 24 เดือน
ความสามารถในการมองเห็นของทารกจะพัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ ตามการเจริญเติบโตแต่ละช่วงวัย
ทารกไม่ได้เกิดมาพร้อมกับความสามารถในการมองเห็นที่จำเป็นทั้งหมดสำหรับการดำเนินชีวิต ความสามารถในการมองเห็นของพวกเขาจะค่อย ๆ พัฒนาขึ้นตามการเจริญเติบโต เมื่อลูกอายุครบ 2 ปี ควรมีการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างมือกับตา การรับรู้เชิงลึก ความสามารถในการตีความภาพ และความสามารถในการโฟกัสวัตถุทั้งระยะใกล้และไกล
พัฒนาการทางการมองเห็นของลูก
เด็ก ๆ ทุกคนแตกต่างกัน โดยแต่ละคนจะพัฒนาไปถึงเกณฑ์พัฒนาการได้ในช่วงอายุที่แตกต่างกันไป อย่างไรก็ตาม เกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับช่วงอายุต่อไปนี้ จะช่วยให้คุณแม่ทราบถึงสิ่งที่ควรคาดหวังในพัฒนาการและการทำงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการมองเห็นของลูก:
วัยแรกเกิด
ภายใน 2 – 3 วันแรกหลังคลอดการมองเห็นของลูกยังคงอ่อนแอ:
- ทัศนวิสัยขุ่นมัว
- สามารถกะพริบเพื่อตอบสนองต่อแสงจ้า หรือเมื่อถูกสัมผัสดวงตา
- ดวงตาอาจยังทำงานไม่ประสานกันและอาจดูเหมือนตาเหล่
- สามารถจ้องมองวัตถุได้หากอยู่ในระยะ 8 – 10 นิ้ว
- จับจ้องบางสิ่งบางอย่าง แต่อาจไม่สามารถมองตามวัตถุที่เคลื่อนไหวได้
อายุ 1 เดือน
เมื่ออายุครบ 1 เดือน ลูกอาจสามารถทำสิ่งต่อไปนี้ได้:
- ดูใบหน้าและรูปภาพสีขาว – ดำ
- มองตามวัตถุได้ถึง 90 องศา
- จ้องใบหน้าที่คุ้นเคยอย่างใกล้ชิด
- มีน้ำตาไหลเมื่อร้องไห้
อายุ 2 – 3 เดือน
เมื่อมีอายุได้ 2 – 3 เดือน ลูกอาจสามารถทำสิ่งต่อไปนี้ได้:
- ใช้ดวงตาทั้งสองข้างจ้องไปที่วัตถุและเห็นเป็นภาพเดียว
- มองตามมือที่โบกได้
- มองตามแสง ใบหน้า และวัตถุต่าง ๆ ได้
อายุ 4 – 5 เดือน
เมื่อมีอายุได้ 4 – 5 เดือน ลูกอาจสามารถทำสิ่งต่อไปนี้ได้:
- มองที่มือของตัวเองและขยับตามที่ต้องการ
- ยื่นมือไปจับสิ่งของที่แขวนอยู่
- สังเกตขวดที่ใช้สำหรับป้อนนม
- มองตัวเองในกระจกอย่างตั้งใจ
อายุ 5 – 7 เดือน
เมื่อมีอายุได้ 5 – 7 เดือน ลูกอาจสามารถทำสิ่งต่อไปนี้ได้:
- ลูกจะมีการมองเห็นสีที่สมบูรณ์
- ลูกน้อยของคุณแม่สามารถมองเห็นได้ในระยะที่ไกลขึ้น
- ลูกจะสามารถติดตามของเล่นที่ทำหล่นและเอื้อมหยิบได้
- ลูกน้อยของคุณแม่สามารถหันหัวไปมองวัตถุต่าง ๆ ได้
- ลูกน้อยของคุณแม่อาจแสดงความชอบสีบางสีมากกว่าสีอื่น
- ลูกจะพยายามสัมผัสภาพของตัวเองในกระจก
อายุ 7 – 11 เดือน
เมื่อมีอายุได้ 7 – 11 เดือน ลูกจะทำสิ่งต่อไปนี้ได้:
- มีการทำงานประสานงานกันระหว่างตาและมือในขณะที่กำลังคลาน
- จ้องมองวัตถุขนาดเล็ก
- เข้าใจแนวคิดเชิงลึก
- เล่นจ๊ะเอ๋กับผู้อื่นได้
อายุ 12 – 14 เดือน
เมื่อมีอายุได้ 12 – 14 เดือน ลูกจะทำสิ่งต่อไปนี้ได้:
- มองตามวัตถุที่เคลื่อนไหวเร็ว
- สามารถวางรูปทรงในรูที่เหมาะสม
- สนใจรูปภาพที่มีรูปของตนเองอยู่ในภาพ
- จดจำวัตถุและรูปภาพที่คุ้นเคยในหนังสือ และสามารถชี้บอกวัตถุบางอย่างในหนังสือได้เมื่อถูกถาม
- ชี้และแสดงท่าทางเมื่อต้องการวัตถุใด ๆ
- สังเกตใบหน้าของตัวเองในกระจก
อายุ 18 – 24 เดือน
ในตอนนี้ลูกไม่เพียงแต่พัฒนาความสามารถในการมองเห็นที่ดีขึ้นเท่านั้น แต่ยังได้พัฒนาทักษะ ความรู้ความเข้าใจและการเคลื่อนไหวที่ดีอีกด้วย ลูกน้อยของคุณควรจะทำสิ่งต่อไปนี้ได้:
- โฟกัสวัตถุทั้งระยะใกล้และไกล
- ขีดเขียนด้วยดินสอหรือดินสอสี และอาจเลียนแบบการวาดเส้นตรงหรือวงกลมได้
- ชี้ไปที่ส่วนต่าง ๆ ของร่างกายเช่น จมูก ผม และตาเมื่อถูกถาม
สัญญาณของปัญหาในการมองเห็น
ปัญหาของการมองเห็นค่อนข้างหายากในทารกและเด็กเล็ก ทารกส่วนใหญ่เกิดมาพร้อมดวงตาที่แข็งแรงและพัฒนาความสามารถในการมองเห็นที่จำเป็นทั้งหมดสำหรับการดำเนินชีวิตได้โดยไม่มีปัญหา
อย่างไรก็ตาม มีไม่กี่คนที่มีปัญหาเกี่ยวกับดวงตาแต่กำเนิด หรืออาจเกิดขึ้นหลังคลอด คุณพ่อคุณแม่ หรือผู้ดูแลควรเฝ้าระวังสัญญาณของปัญหาดวงตาและการมองเห็นดังต่อไปนี้:
- ภาวะน้ำตาไหลตลอดเวลาซึ่งอาจเป็นผลมาจากท่อน้ำตาอุดตัน
- ตาเขหลังจากผ่านไป 6 เดือน ซึ่งอาจบ่งบอกถึงปัญหาเกี่ยวกับกล้ามเนื้อตา
- ความไวต่อแสงมากเกินไป ซึ่งอาจเกิดจากความดันในตาสูง
- เปลือกตาบวมแดง ซึ่งอาจส่งสัญญาณถึงการติดเชื้อที่ดวงตา
- ลักษณะของรูม่านตาสีขาว อาจบ่งบอกถึงการมีต้อกระจกหรือมะเร็งในดวงตา
หากคุณแม่สังเกตเห็นสัญญาณเหล่านี้ ควรพาลูกน้อยไปพบกุมารแพทย์ ซึ่งอาจได้รับคำแนะนำเพื่อให้คุณแม่พาลูกไปพบจักษุแพทย์เด็กต่อไป
รับรองโดย:
นพ. ปิยวุฒิ กรีฑาภิรมย์ (31 มีนาคม 2021)