ปั๊มนมในที่ทำงาน
การเริ่มงานอีกครั้งมักสร้างความกังวลให้กับคุณแม่ที่ให้ลูกดื่มนมแม่เป็นหลัก แต่การจัดการที่ดีจะสามารถช่วยคลายกังวลให้กับคุณแม่ได้
ฟังแล้วอาจเหมือนเป็นเรื่องยาก แต่ถ้าคุณแม่สามารถจัดตารางเวลาการปั๊มนมและวางแผนเรื่องการเลี้ยงลูกกับคนรอบข้างได้ การให้ลูกได้รับนมแม่อย่างต่อเนื่องก็จะสำเร็จไปได้ด้วยดี
การเตรียมความพร้อมก่อนกลับไปทำงาน
คุณแม่ควรทำสต็อกน้ำนมให้ได้มากที่สุด โดยเตรียมล่วงหน้า 2 – 3 สัปดาห์ก่อนเริ่มงาน ทั้งนี้น้ำนมที่ลูกควรได้รับในแต่ละวัน คือ 25 – 30 ออนซ์ (740 – 1000 มิลลิลิตร)
ควรเริ่มปั๊มอย่างไร?
สำหรับคุณแม่ที่ให้นมลูกจากเต้าอย่างเดียว คุณแม่สามารถเริ่มสับเปลี่ยนระหว่างการให้นมจากเต้าและการดูดนมแม่จากขวดนม เพื่อที่ลูกจะได้คุ้นเคยกับการดูดนมจากขวด เมื่อเขาคุ้นเคยการดูดนมขวดแล้วก็ช่วยให้คนรอบข้างดูแลลูกเวลาที่คุณแม่ไม่ว่างได้
เตรียมการล่วงหน้า
ช่วงเข้า 1 สัปดาห์ก่อนเริ่มงาน คุณแม่ควรมีแผนสำหรับการดูแลลูกในสัปดาห์แรกของการทำงาน รวมถึงการเตรียมอุปกรณ์ที่ใช้สำหรับการปั๊มนมและเก็บรักษาน้ำนมด้วย นอกจากนี้ยังมีอีกสิ่งที่คุณแม่ควรเตรียมพร้อม คือ การปรับความรู้สึกของคุณแม่ที่ต้องแยกจากลูก ยิ่งคุณแม่วางแผนล่วงหน้าดีเท่าไหร่คุณแม่ก็จะปรับตัวเองได้ง่ายขึ้นเท่านั้น
เตรียมอุปกรณ์สำหรับการปั๊มนม
เครื่องปั๊มนมที่แนะนำสำหรับใช้ที่ทำงาน คือ เครื่องปั๊มน้ำนมไฟฟ้าแบบปั๊ม 2 ข้างพร้อมกัน เพื่อที่คุณแม่จะสามารถผลิตน้ำนมได้อย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็วในการเลือกซื้อ คุณแม่ควรพิจรณาเรื่องระดับเสียงของเครื่องปั๊ม ความสะดวกในการพกพา และการสำรองแบตตารี่ของเครื่องด้วย
นอกจากเครื่องปั๊มแล้วอุปกรณ์สำคัญอื่น ๆ ที่คุณแม่ควรมี ได้แก่
- ขวดนมและถุงเก็บน้ำนม (ที่มีให้ระบุวันที่ผลิตน้ำนม)
- แผ่นซับน้ำนมเพื่อไม่ให้นมไหลเลอะเสื้อผ้าหลังหรือก่อนให้นม
- เสื้อผ้าที่ง่ายต่อการปั๊มนม
- หากที่ทำงานไม่มีตู้เย็นหรือตู้แช่แข็ง คุณแม่ควรเตรียมกระเป๋าเก็บความเย็นไปด้วย
เมื่ออยู่ที่ทำงาน
ปรึกษาหัวหน้าและเพื่อนร่วมงาน: สถานที่ทำงานหลายแห่งอนุญาติให้พนักงานปั๊มนมที่ทำงานได้ คุณแม่ควรจะขออนุญาตหัวหน้าในการปั๊มนมที่ทำงานโดยเฉพาะเรื่องเวลาและสถานที่ที่คุณแม่จะได้อยู่เป็นส่วนตัวระหว่างการปั๊มนม รวมทั้งคุณแม่ควรจะพูดคุยกับเพื่อนร่วมงานให้เข้าใจความจำเป็นที่คุณแม่ต้องปั๊มนมด้วย
จัดสรรเวลาสำหรับการปั๊มนม: คุณแม่ควรปั๊มนม 1 ครั้งตอนเช้าก่อนไปทำงาน และในระหว่างอยู่ที่ทำงานคุณแม่ควรปั๊มนมตามเวลาที่คุณแม่ให้นมลูก หรือทุก ๆ 4 ชั่วโมงต่อวัน เพื่อที่คุณแม่จะสามารถรักษาปริมาณน้ำนมและป้องกันไม่ให้เกิดอาการนมคัด ซึ่งจะทำให้คุณแม่เกิดท่อน้ำนมอุดตันหรือเต้านมอักเสบได้ ช่วงเวลาพักกลางวันเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ดีสำหรับการปั๊มระหว่างอยู่ที่ทำงาน การปั๊มแต่ละครั้งใช้เวลาประมาณ 15-20 นาที
หลังจากการปั๊มคุณแม่อย่าลืมทำความสะอาดอุปกรณ์อย่างสม่ำเสมอ ทั้งนี้เมื่อลูกเริ่มกินอาหารแข็งบางอย่างได้คุณแม่สามารถลดจำนวนครั้งของการปั๊มนมในแต่ละวัน และที่สำคัญอย่าลืมดื่มน้ำมาก ๆ และกินอาหารที่มีประโยชน์ร่วมด้วย