การรับมือกับปัญหาพฤติกรรม
ความท้าทายอย่างหนึ่งของผู้ปกครองก็คือ การต้องรับมือกับปัญหาพฤติกรรมของลูก
ปัญหาทางพฤติกรรมอาจเป็นเรื่องยากหากคุณแม่ไม่รู้วิธีจัดการกับพฤติกรรมต่อต้านอย่างเหมาะสม คุณแม่ควรหาสาเหตุของพฤติกรรมนั้น ๆ เพื่อตอบสนองต่อปัญหาด้านพฤติกรรมอย่างมีประสิทธิภาพ
สาเหตุของปัญหาพฤติกรรมของลูก
มีหลายปัจจัยที่อาจส่งผลต่อพฤติกรรมของลูก และต่อไปนี้คือปัจจัยบางประการที่อาจเป็นสาเหตุของปัญหาพฤติกรรม:
- การเรียกร้องความสนใจ: ลูกอาจแสดงออกเพื่อต้องการเรียกร้องความสนใจจากคุณแม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าหากเขาเคยมีประสบการณ์ว่าหากทำพฤติกรรมดังกล่าวแล้วคุณแม่จะตอบสนองอย่างรวดเร็ว ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติเนื่องจากคุณแม่คือคนสำคัญในชีวิตของลูก คุณแม่ควรให้ความสำคัญกับพฤติกรรมการเรียกร้องความสนใจอย่างจริงจัง โดยแบ่งเวลาที่มีคุณภาพให้กับลูก เมื่อพ่อแม่มีเวลาให้ลูกอย่างมีคุณภาพ เด็กก็จะมีพฤติกรรมเรียกร้องความสนใจลดน้อยลง เมื่อเขาได้รับความสนใจอย่างเพียงพอแล้ว เขาก็จะสามารถพักผ่อน เล่น หรืออยู่ด้วยตัวเองได้
- การเปลี่ยนแปลงในชีวิต: เด็ก ๆ อาจพบกับเหตุการณ์สำคัญในชีวิต เช่น การย้ายไปอยู่บ้านใหม่ การเริ่มไปโรงเรียน การเกิดของน้องคนใหม่ และการเปลี่ยนพี่เลี้ยง เหตุการณ์เหล่านี้อาจรับมือได้ยากสำหรับเด็ก เนื่องจากบ่อยครั้งเขาไม่ทราบสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาที่จะทำให้รู้สึกไม่ปลอดภัยและเกิดความเครียด
- ปัญหาครอบครัว: เด็ก ๆ สามารถสังเกตเห็นได้หากครอบครัวกำลังเผชิญกับความยากลำบาก ซึ่งอาจมาจากการแสดงออกทางสีหน้าของคุณแม่เอง หรืออาจเป็นเพราะพวกเขาไม่ได้รับความสนใจอย่างที่เคยอีกต่อไป
- ไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น: หากคุณแม่ไม่ได้บอกลูกอย่างชัดเจนว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป พวกเขาอาจเกิดความสับสนและประพฤติตัวไม่ดีได้ กิจวัตรประจำวันที่เคร่งครัดจึงเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการสร้างพฤติกรรมที่ดีของลูกน้อย เมื่อเขาสามารถรู้ได้เสมอว่าอะไรจะเกิดขึ้นต่อไป ลูกจะสามารถผ่อนคลายและมีสมาธิจดจ่อกับสิ่งที่ต้องการทำได้ เช่น เล่นโต้ตอบกับคนที่เขารัก และเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ
- การเปลี่ยนกิจกรรมโดยไม่มีการเตือน: อาจเป็นเรื่องยากสำหรับเด็กที่จะเปลี่ยนกิจกรรมที่พวกเขากำลังเพลิดเพลินไปเป็นอย่างอื่นโดยไม่มีการเตือนล่วงหน้า ในสถานการณ์เช่นนี้ลูกมีแนวโน้มที่จะมีพฤติกรรมต่อต้าน
ปัญหาพฤติกรรมที่อาจพบได้บ่อย
ไม่ว่าคุณแม่จะเลี้ยงลูกชายที่มีพลังเหลือล้น หรือลูกสาวที่เข้มแข็ง คุณแม่ก็อาจจะต้องรับมือกับปัญหาพฤติกรรมบางอย่างที่พบได้บ่อยในเด็กทุกวัยและนี่คือตัวอย่างของปัญหาบางส่วน:
- การต่อต้าน
- พฤติกรรมที่ไม่สุภาพ
- ขี้แย
- ใจร้อน
- อารมณ์ฉุนเฉียว
- พฤติกรรมก้าวร้าว (ตีและเตะ)
- ปัญหาการนอน
- ปัญหาเกี่ยวกับการรับประทานอาหาร
- ใช้เวลาอยู่กับหน้าจอมากเกินไป
- โกหก
เคล็ดลับในการรับมือกับปัญหาพฤติกรรม
วิธีที่คุณแม่ใช้จัดการกับปัญหาพฤติกรรมเหล่านี้จะมีบทบาทสำคัญและจะส่งผลต่อการตอบสนองของลูกในสถานการณ์ที่คล้ายคลึงกันในอนาคต เรามีคำแนะนำที่ดีในการจัดการกับปัญหาพฤติกรรมในเด็กและช่วยสร้างพฤติกรรมที่ดีต่อไปในอนาคตดังนี้:
- ทำความเข้าใจกับสถานการณ์: พยายามทำความเข้าใจว่าอะไรเป็นสาเหตุของปัญหาพฤติกรรมและจัดการกับสาเหตุนั้น ๆ
- ให้คำแนะนำที่ชัดเจน: เด็ก ๆ มีแนวโน้มที่จะประพฤติตัวดีขึ้น ถ้าหากคุณแม่ได้อธิบายสิ่งที่ต้องการอย่างชัดเจนให้กับเขา
- ปรับสภาพแวดล้อม: ปรับปรุงสภาพแวดล้อมให้เหมาะสำหรับเด็ก หากลูกต้องการดูหน้าจออยู่เสมอ ให้นำอุปกรณ์เหล่านั้นออกไป
- ลดเวลาหน้าจอ: เวลาหน้าจอสามารถกระตุ้นการหลั่งฮอร์โมนโดพามีน และเมื่อทีวีหรือแท็บเล็ตถูกนำออกไป การผลิตของโดพามีนก็จะหยุดลงเช่นกัน ทำให้เด็กมีปัญหาทางพฤติกรรม ดังนั้นคุณแม่ควรกำหนดหรือลดเวลาหน้าจออย่างเคร่งครัด และให้ลูกใช้เวลากับกิจกรรมอื่น ๆ แทน
- แบ่งเวลาให้กับลูกตั้งแต่เนิ่น ๆ : แบ่งเวลาสัก 15 นาทีเพื่อให้ความสนใจกับลูกเพียงย่างเดียวโดยไม่สนใจสิ่งอื่น แล้วค่อยกลับไปทำงานต่อ แทนที่จะต้องหยุดชะงักทุก ๆ 2 – 3 นาทีในสามชั่วโมงถัดไป การให้เวลาคุณภาพในช่วงเวลาสั้น ๆ กับลูกจะช่วยลดปัญหาด้านพฤติกรรมได้อย่างมาก
- เตรียมลูกให้พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลง: คุณแม่ควรบอกลูกล่วงหน้า ว่าต้องการให้พวกเขาทำอะไรก่อนเวลาที่กำหนดไว้สักครู่ เพื่อให้เขาได้มีเวลาทำกิจกรรมปัจจุบันให้เสร็จ และเตรียมตัวเปลี่ยนไปทำกิจกรรมใหม่
- ให้ทางเลือกแก่ลูกน้อย: เมื่อลูกเริ่มโตขึ้นควรส่งเสริมให้เขารู้จักควบคุมตนเอง โดยให้ทางเลือกที่มีพร้อมกับคำแนะนำ เช่น “หนูอยากทานข้าวก่อนหรือหลังอาบน้ำ” หรือ “ลูกอยากใส่เสื้อยืดหรือชุดเอี๊ยม”
- แนะนำโดยทำให้ดูเป็นตัวอย่าง: ลูกจะเรียนรู้จากสิ่งที่คุณแม่ทำไม่ใช่จากสิ่งที่คุณแม่พูด ดังนั้นเขาต้องได้เห็นคุณแม่ทำในสิ่งที่ถูกต้อง มีคนกล่าวว่า 80% ของภาษาที่เด็กเข้าใจคือภาษากาย และอีก 20% คือภาษาพูด
- มีความสม่ำเสมอ: ทำในสิ่งที่คุณแม่คิดว่าเหมาะสมกับแต่ละสถานการณ์และสอดคล้องกับสิ่งนั้น หากคุณแม่ตอบสนองแตกต่างไปในสถานการณ์ที่คล้ายคลึงกัน เด็ก ๆ อาจจะสับสนเกี่ยวกับวิธีที่ถูกต้องในการปฏิบัติตนในสถานการณ์นั้น ๆ
- อย่าแสดงปฏิกิริยามากเกินไป: แม้ว่าบางครั้งอาจจะยาก แต่พยายามอย่าแสดงปฏิกิริยามากจนเกินไป หรือตะโกนใส่ลูก ถ้าลูกตีคนอื่นส่วนใหญ่แล้วมักไม่ใช่ว่าเขาต้องการที่จะใจร้าย แต่เป็นเพียงเพราะเขาไม่รู้ว่าจะสื่อสารความรู้สึกอย่างไรในตอนนั้น
- พูดคุยกับลูก: คุณแม่ควรอธิบายให้เขาเข้าใจว่าทำไมคุณแม่ถึงต้องการให้เขาทำหรือไม่ทำอะไรบางอย่าง และถ้าเขาโตพอที่จะพูดได้ ให้คุณแม่ลองกระตุ้นให้ลูกอธิบายว่าทำไมเขาถึงทำในสิ่งที่เขาทำ
- ให้รางวัลกับพฤติกรรมที่ดี: เมื่อลูกทำตัวดีคุณแม่ควรให้รางวัล ด้วยรอยยิ้ม กอด จูบและแม้กระทั่งให้ไอศกรีมเป็นครั้งคราว เมื่อเด็กมีพฤติกรรมที่ดี สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือการชม โดยการชมนั้นควรเป็นการชมที่กระบวนการ อย่าชมหรือเสนอของขวัญให้เขาก่อนที่เขาจะทำในสิ่งที่คุณขอให้ทำ เพราะนั่นคือสินบนและสินบนจะสนับสนุนให้เกิดการทุจริต
- อย่าตีลูก: แม้ว่าคุณแม่จะได้รับผลลัพธ์ที่ดีจากการตีได้ในทันที แต่ผลนั้นจะไม่คงอยู่ถาวร ในความเป็นจริงแล้วการศึกษาและการวิจัยที่ใช้เวลาหลายปีบอกเราว่าเด็กที่โดนตีมีแนวโน้มที่จะประพฤติตัวไม่ดีซ้ำอีกในอนาคต
รับรองโดย:
เกศสุภา จิระการณ์ (นักสุขภาพจิต) (31 มีนาคม 2021)