ทฤษฎีพัฒนาการทางจิตสังคม 8 ขั้นของอีริคสัน
อีริค อีริคสัน นักจิตวิทยาชื่อดังได้พัฒนาทฤษฎีจิตสังคม 8 ขั้นอันโด่งดัง เขาเป็นคนพูดถึงความรู้สึกไว้เนื้อเชื่อใจ และความไม่ไว้วางใจ ว่าเป็นสิ่งที่เด็กจะพบในช่วงแรกของชีวิต
หากเด็กเรียนรู้ที่จะเชื่อใจคุณแม่และผู้ดูแลได้ตั้งแต่วัยเยาว์ เขาก็จะมีโอกาสสูงขึ้นที่จะเรียนรู้ที่จะเชื่อใจผู้อื่นในอนาคตในทางตรงข้ามหากเด็กรู้สึกกลัวและผิดหวังซ้ำ ๆ เขาก็จะพัฒนาความไม่มั่นใจและเชื่อใจคนยาก
ทฤษฎีพัฒนาการทางจิตสังคมของอีริคสัน
ทฤษฎีพัฒนาการทางจิตสังคมของอีริคสันแบ่งขั้นตอนของการพัฒนาไว้ 8 ขั้น เป็นขั้นในการพัฒนาที่มนุษย์คนหนึ่งควรจะผ่านไปตั้งแต่เกิดจนตาย ในแต่ละขั้นเราจะมีความต้องการที่แตกต่าง มีคำถามใหม่ ๆ ในชีวิตและพบกับผู้คนใหม่ ๆ ที่จะมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมและการเรียนรู้ของเรา
ขั้นที่ 1 ความรู้สึกไว้เนื้อเชื่อใจ และความไม่ไว้วางใจ (แรกเกิดถึง 1 – 2 ปี)
เด็กเล็กจะถามตัวเองเสมอว่าเขาสามารถเชื่อใจใครได้ไหม เขาจะสงสัยว่าเขาปลอดภัยหรือไม่ ในขั้นนี้หากเด็กเรียนรู้ว่าสามารถเชื่อใจใครสักคนได้ เขาก็จะสามารถเชื่อใจคนอื่น ๆ ได้ในอนาคต หากเด็กรู้สึกกลัว เขาก็จะพัฒนาความไม่มั่นใจในตัวคนอื่น และไม่ไว้เนื้อเชื่อใจใคร ซึ่งบุคคลสำคัญในพัฒนาการขั้นนี้คือคุณแม่นั่นเอง
ขั้นที่ 2 ความเป็นตัวของตัวเอง และความละอายและสงสัย (อายุ 2 – 4 ปี)
ในวัยเด็กเล็ก เด็กจะสำรวจร่างกายตัวเองและค้นพบว่าร่างกายทำอะไรได้บ้าง เขาจะมีคำถามว่า “มันโอเคไหมนะที่จะเป็นตัวฉัน?” หากเด็กได้รับการอนุญาตให้เล่นและค้นหาอย่างเต็มที่ เขาจะพัฒนาความมั่นใจในตัวเอง หากไม่ได้ทำ เขาก็จะพัฒนาความละอายและสงสัยในตัวเอง ในขั้นนี้ทั้งพ่อและแม่ต่างมีส่วนสำคัญ
ขั้นที่ 3 ความคิดริเริ่มและความรู้สึกผิด (ก่อนวัยเรียน อายุ 4 – 5 ปี)
ในวัยอนุบาล เด็กมักมีความคิดริเริ่มลองทำสิ่งใหม่ ๆ และเรียนรู้สิ่งพื้นฐาน เช่น รู้ว่าวัตถุทรงกลมจะกลิ้งได้ เขาจะตั้งคำถามว่า “มันโอเคไหมที่ฉันจะทำแบบนี้?” หากเด็กได้รับการส่งเสริม เขาก็จะตามความสนใจต่อไปได้เรื่อย ๆ แต่หากเด็กโดนห้าม หรือบอกว่าสิ่งที่เขาทำนั้นไร้สาระ เขาก็จะพัฒนาความรู้สึกผิดขึ้น ในขั้นนี้เด็กจะเรียนรู้จากคนทั้งครอบครัว
ขั้นที่ 4 ความขยันหมั่นเพียร และความรู้สึกต่ำต้อย (วัยเรียน อายุ 5 – 12 ปี)
ในขั้นนี้เด็กจะเรียนรู้เรื่องที่เขาสนใจ และเริ่มพบว่าตัวเองแตกต่างจากคนอื่น ๆ เขาจะอยากให้คนอื่นเห็นว่าเขาทำสิ่งต่าง ๆ ได้ถูกต้อง เด็กจะตั้งคำถามว่าเขาสามารถอยู่รอดในโลกนี้ได้อย่างไร หากเด็กในขั้นนี้ได้รับการยอมรับจากคุณครูและเพื่อน ๆ เขาก็จะมีความขยันหมั่นเพียร และกลายเป็นคนทำงานหนัก แต่หากเด็กได้รับคำติมากเกินไป เขาจะเริ่มรู้สึกต่ำต้อยและสูญเสียแรงบันดาลใจ ในขั้นนี้โรงเรียนและคนรอบข้างมีอิทธิพลมากที่สุด
ขั้นที่ 5 ความเป็นอัตลักษณ์ และความสับสนในบทบาท (อายุ 13 – 19 ปี)
เด็กในช่วงวัยรุ่นจะเรียนรู้ว่าแต่ละคนมีบทบาทในสังคมแตกต่างกัน เขาจะเรียนรู้ว่าเขาเป็นทั้งเพื่อน นักเรียน เป็นเด็ก และพลเมือง วัยรุ่นหลายคนจะพบวิกฤติในการค้นหาตัวตนของตัวเอง ในขั้นนี้หากพ่อแม่อนุญาตให้เขาออกไปค้นหาตัวเอง เขาก็จะค้นพบตัวเองได้ แต่หากพ่อแม่เรียกร้องให้ลูกอยู่ในกรอบของตัวเองอย่างเดียว วัยรุ่นอาจรู้สึกสับสนในบทบาทและรู้สึกหลงทาง บุคคลสำคัญในการพัฒนาช่วงนี้คือเพื่อน ๆ และบุคคลต้นแบบของเด็ก
ขั้นที่ 6 ความใกล้ชิดสนิทสนมและความโดดเดี่ยวอ้างว้าง (วัยผู้ใหญ่ตอนต้น อายุ 20 – 40 ปี)
ในวัยผู้ใหญ่ เราจะเริ่มเข้าใจว่าเราเป็นใคร และเราจะยุติความสัมพันธ์เดิม ๆ ที่เคยสร้างไว้เพียงเพื่อจะเป็นที่ยอมรับในสังคม เราจะถามตัวเองว่าเราสามารถรักใครได้ไหม หากในขั้นนี้เราสามารถสร้างความสัมพันธ์ระยะยาวได้ เราก็จะมั่นใจในตัวเองและมีความสุข แต่หากไม่สามารถสร้างความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดได้ อาจทำให้รู้สึกโดดเดี่ยวอ้างว้าง กลุ่มเพื่อนและคู่รักจะเป็นศูนย์กลางของการพัฒนาในขั้นนี้
ขั้นที่ 7 การสืบทอด และการคิดถึงแต่ตนเอง (อายุ 40 – 65 ปี)
ในวัยอายุ 40 กว่าเราจะเริ่มมีความสุขกับชีวิต สามารถใช้เวลาว่างอย่างสร้างสรรค์ และเริ่มทำกิจกรรมเพื่อตอบแทนสังคม สิ่งแรกที่เราสนใจคือการให้และสืบทอด หากเราคิดว่าเราสามารถเป็นผู้นำเพื่อช่วยเหลือคนรุ่นต่อ ๆ ไปได้ เราก็จะมีความสุข แต่หากเราไม่สามารถแก้ปัญหาอื่น ๆ ในชีวิตก่อนหน้านี้ ก็อาจกลายเป็นคนมองโลกในแง่ร้ายและอยู่อย่างคิดถึงแต่ตนเอง ผู้คนที่บ้านและที่ทำงานจะมีอิทธิพลกับเรามากที่สุด
ขั้นที่ 8 ความสมบูรณ์ในชีวิต และความสิ้นหวัง (อายุ 65 ปีเป็นต้นไป)
คนในวัยชรามักจะใช้ชีวิตช้าลงและเริ่มหันกลับไปมองอดีต และมักตั้งคำถามว่า “ฉันใช้ชีวิตได้อย่างดีไหม?” หากเราคิดว่าได้ใช้ชีวิตอย่างดีแล้ว เราก็จะพัฒนาความพึงพอใจและรู้สึกมั่นคงสมบูรณ์ แต่หากไม่ได้รู้สึกเช่นนั้น เราก็จะรู้สึกท้อแท้ สิ้นหวัง และกลายเป็นคนขี้บ่น ขี้หงุดหงิด ในวัยนี้เรามักเปรียบเทียบกับมนุษย์คนอื่น ๆ ทั้งหมด
เกี่ยวกับอีริค อีริคสัน
อีริค อีริคสัน เป็นนักจิตวิทยาชาวเยอรมัน-อเมริกัน เขาทำงานร่วมกับโจนผู้เป็นภรรยาในการพัฒนาทฤษฎีจิตสังคม เขาได้รับอิทธิพลจากซิกมันด์ และแอนนา ฟรอยด์ และมีชื่อเสียงจากวลี “วิกฤติการแสวงหาตัวตน” ถึงแม้อีริคสันจะไม่มีแม้แต่ปริญญาตรี แต่เขาก็ได้เป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดและเยล