ผลของหน้าจอต่อลูก

ปัจจุบันมีสื่ออิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ ที่ช่วยในการเรียนรู้ให้บริการฟรีมากมาย จนบางครั้งคุณแม่อาจกังวลว่าจะจำกัดเวลาหน้าจอของลูกน้อยอย่างไรดี
หากไม่จำกัดการใช้งาน การให้ลูกอยู่กับหน้าจอมากเกินไปอาจทำให้เขาเฉื่อยชา และมีปัญหาทางอารมณ์ แต่ในอีกแง่หนึ่งหากใช้งานได้อย่างถูกต้องแล้ว สื่ออิเล็กทรอนิกส์ก็จะมีประโยชน์ต่อลูกได้อย่างมาก ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับคุณแม่ว่าจะกำกับดูแลคุณภาพของเวลาหน้าจอของลูกอย่างไร โดยเฉพาะระดับการมีส่วนร่วมของลูกในการดูหน้าจอ
ปัญหาที่อาจเกิดขึ้นจากช่วงเวลาหน้าจอ
องค์การอนามัยโลก (WHO) สนับสนุนให้เด็ก ๆ ได้ใช้เวลาเล่นโดยได้เคลื่อนไหวร่างกายทุกวัน เนื่องจากเด็กจะเรียนรู้ผ่านประสบการณ์จริงได้ดีกว่าการดูวิดีโอ การเล่นจะช่วยพัฒนาทักษะด้านสังคม และทักษะการคิดของลูกอย่างมาก และยังช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นโรคอ้วนด้วย
ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมามีเด็ก ๆ ที่มีภาวะน้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วนเพิ่มมากขึ้นอย่างน่าตกใจ และการให้เด็กอยู่กับหน้าจอก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่สำคัญ การปล่อยให้ลูกใช้เวลาหน้าจออย่างไม่มีคุณภาพ เช่น การให้ดูการ์ตูนโดยไม่มีคุณพ่อคุณแม่อยู่ด้วย และการไม่มีข้อจำกัดทางเวลาอาจจะนำไปสู่ปัญหาต่าง ๆ มากมายดังนี้
- ลูกนอนไม่หลับ นอนหลับได้น้อยลง : การรับแสงจากหน้าจอก่อนนอนจะรบกวนการนอนของลูก
- ปัญหาด้านพฤติกรรม : หากลูกน้อยอยู่เฉย ๆ นานเกินไป เช่น นั่งดูทีวีนานหลายชั่วโมง อาจทำให้เขามีปัญหาทางอารมณ์
- ปัญหาในการเรียนรู้ : ตามสถิติแล้วเด็กที่ไม่มีทีวีในห้องจะมีผลการเรียนที่ดีกว่า
- ความรุนแรง : หากไม่กรองเนื้อหา ลูกอาจเลียนแบบพฤติกรรมรุนแรงที่เขาเห็นในทีวี
เวลาหน้าจอเท่าไรถึงเรียกว่ามากเกินไป?
นอกจากเวลาวิดีโอคอลกับครอบครัวและเพื่อน ๆ ซึ่งลูกจะได้โต้ตอบและมีส่วนร่วมแล้ว ควรให้ลูกอยู่กับหน้าจอให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ในช่วงวัยเด็ก
- เมื่อลูกอายุต่ำกว่า 18 เดือน : ในช่วงนี้เด็กทารกไม่ควรดูหน้าจอเลย
- อายุ 18-24 เดือน : ดูได้เล็กน้อย คุณพ่อคุณแม่ควรดูหน้าจอไปพร้อมกับลูกและดูสื่อที่มีคุณภาพเท่านั้น
- หลังจากอายุ 2 ปี : ควรจำกัดเวลาไม่เกิน 1-2 ชั่วโมงต่อวันและให้ดูสื่อที่มีคุณภาพเท่านั้น
หาความสมดุล
เด็กแต่ละคนมีความต้องการไม่เหมือนกัน อีกทั้งยังอยู่ในสถานการณ์และข้อจำกัดที่แตกต่าง ดังนั้นจึงไม่มีกฎตายตัวสำหรับทุกคนว่าควรใช้เวลาหน้าจอเท่าไร อย่างไรก็ตาม คุณแม่จำเป็นต้องดูแลและจำกัดเวลา โดยคำนึงถึงคุณภาพของการใช้หน้าจอเป็นสำคัญ การให้ลูกดูหน้าจอไม่ได้เลวร้ายหรือทำลายการเรียนรู้ของเขาไปทั้งหมด หากผู้ปกครองสามารถสร้างสมดุลการใช้ชีวิตโดยให้ลูกทำกิจกรรมอื่น ๆ เช่น อ่านหนังสือ เล่น และเข้าสังคมไปพร้อมกับการใช้เวลาหน้าจอด้วย เมื่อนั้นสื่ออิเล็กทรอนิกส์ก็จะเป็นส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิตอย่างสุขภาพดีของลูกได้
จะใช้เวลาหน้าจอให้มีคุณภาพอย่างไร?
การใช้เวลาหน้าจออย่างมีคุณภาพ คือการให้ลูกใช้สื่อที่จะช่วยให้เขาเรียนรู้ และที่สำคัญคือช่วยให้เขาได้ใช้จินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ ตัวอย่างเช่น เมื่อลูกเริ่มโตขึ้นและสนใจการวาดภาพ ก็มีแอพมากมายที่จะช่วยให้เขาสื่อสารไอเดียออกมาเป็นภาพวาดได้ คุณพ่อคุณแม่ควรใช้เวลาร่วมกับลูกในการดูหน้าจอ และพูดคุยโต้ตอบเพื่อให้เขาได้เรียนรู้อย่างเต็มที่ นอกจากนี้ คุณแม่อาจดูวิดีโอกับลูก โดยเลือกเรื่องที่ช่วยปรับทัศนคติของเขา เช่น เรื่องความเมตตา การห่วงใยผู้อื่น การเคารพผู้อื่น และการแบ่งปัน คุณแม่อาจส่งเสริมให้ลูกทำตามตัวละครที่เขาชอบ พยายามหลีกเลี่ยงวิดีโอที่มีเนื้อหาเรื่องความโกรธ ความรุนแรง และเลือกวิดีโอที่เป็นเรื่องราวในชีวิตประจำวัน เพื่อให้ลูกนำมาใช้จริงได้ เช่น เรื่องอาหาร หรือสัตว์ต่าง ๆ
การบริหารเวลา
คุณแม่ควรมีกฎชัดเจนเพื่อไม่ให้เวลาหน้าจอมารบกวนเวลานอนของลูก โดยกรองเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมออกไป วิธีหนึ่งที่ช่วยได้คือการตั้งค่าในแอพต่าง ๆ
การสร้างสมดุลให้กับเวลาหน้าจอของลูกถือเป็นเรื่องท้าทายทีเดียว แต่หากคุณแม่มีความคงเส้นคงวาและมีข้อจำกัดชัดเจน สื่อเหล่านี้ก็จะเป็นเครื่องมือที่เป็นประโยชน์กับลูก ได้อย่างมากในอนาคต
รับรองโดย:
ดร. ประภาศรี นันท์นฤมิต (นักจิตวิทยาพัฒนาการ) (31 มีนาคม 2021)