การทำ Timeout อย่างมีประสิทธิภาพ
คุณพ่อคุณแม่บางคนใช้ Timeout เพื่อสร้างวินัยให้กับเด็กที่มีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เป้าหมายคือเพื่อหยุดพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์
Timeout ทำได้โดยใช้เวลา 1 – 2 นาทีให้ลูกได้อยู่กับตัวเอง ถ้าหากใช้ Timeout อย่างถูกต้องจะสามารถจัดการกับพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากสิ่งเหล่านี้ไม่มีประโยชน์ในการกระตุ้นให้เกิดพฤติกรรมที่ต้องการ คุณพ่อคุณแม่ที่มีแนวทางการฝึกอบรมบุตรหลานแบบองค์รวมจึงมักไม่ค่อยเชื่อในวิธีการนี้
Timeout ได้ผลอย่างไร?
จากการวิจัยหลายทศวรรษแสดงให้เห็นว่าการให้ความสนใจกับลูกมากเกินไปอาจเป็นการส่งเสริมพฤติกรรมที่ไม่ดีของเด็กได้ ดังนั้นตรรกะที่อยู่เบื้องหลังเทคนิคของ Timeout ก็คือการใช้ช่วงเวลาสั้น ๆ เพื่อตัดความสนใจในตัวเด็กทุกรูปแบบออกไป ไม่ว่าจะเป็นความต้องการ คำอธิบาย ภัยคุกคาม การให้รางวัล และอื่น ๆ การส่งเด็กไปนั่งคนเดียวในบางครั้ง หมายความว่าคุณกำลังปฏิเสธที่จะให้ความสนใจที่เขากำลังเรียกร้อง ด้วยพฤติกรรมไม่ดีที่เขาทำ
ข้อจำกัดของ Timeout
อย่างไรก็ตามแม้ว่า Timeout จะสามารถหยุดพฤติกรรมในขณะนั้นได้ แต่ก็ไม่อาจป้องกันไม่ให้เด็กทำพฤติกรรมนั้น ๆ ซ้ำได้ในอนาคต เนื่องจาก Timeout ไม่ได้สอนให้เด็กรู้ถึงพฤติกรรมที่เราต้องการให้เป็น ดังนั้นจึงเพียงช่วยจำกัดพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ได้เท่านั้น แต่ก็ยังมีอีกหลายวิธีที่คุณสามารถทำให้ Timeout มีประสิทธิภาพมากขึ้น
วิธีการเพิ่มประสิทธิภาพให้ Timeout
เพื่อให้การทำ Timeout ได้ประสิทธิภาพมากขึ้น ควรทำดังต่อไปนี้:
- ใช้เท่าที่จำเป็น: Timeout ไม่ควรเป็นเพียงเทคนิคเดียวในการสร้างวินัย ดังนั้นอย่าใช้มันตลอดเวลา อันที่จริงไม่ควรใช้มากกว่า 2 ครั้งในแต่ละวันสำหรับพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมเดียวกัน
- กำหนดกฎเกณฑ์ให้ชัดเจน: อธิบายให้ลูกน้อยอย่างชัดเจนก่อนว่า พฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมประเภทใดที่จะนำไปสู่การทำ Timeout จากนั้นใช้ให้สอดคล้องกันทุกครั้งที่เกิดพฤติกรรมดังกล่าว อย่าเตือนเขาซ้ำ ๆ เกี่ยวกับสิ่งที่จะเกิดขึ้น เนื่องจากคำเตือนจะให้ผลเสีย หากคุณไม่ได้ทำตามอย่างที่เคยเตือนไว้
- เริ่มทันที: คุณต้องเริ่ม Timeout ทันทีหลังจากเกิดพฤติกรรมที่เป็นปัญหา หากใช้ Timeout ล่าช้าจะไม่ได้ผล
- แยกลูกไปเข้ามุมในที่ที่สงบคนเดียว: จุดมุ่งหมายของ Timeout คือการแยกเด็กออกจากความสนใจในทุกรูปแบบ เนื่องจากความสนใจเหล่านั้นสามารถทำหน้าที่เป็นตัวกระตุ้นให้เด็กทำพฤติกรรมนั้นซ้ำ ดังนั้นอย่าลืมแยกเด็กไปยังที่ที่พวกเขาไม่สามารถจะโต้ตอบกับใครได้ จากการวิจัยแสดงให้เห็นว่าความสนใจในรูปแบบใด ๆ ไม่ว่าจะเป็นเชิงบวกหรือเชิงลบสามารถเพิ่มโอกาสที่จะก่อให้เกิดพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมขึ้นอีกครั้ง
- ทำอย่างใจเย็น: คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรใช้อารมณ์ในการปรับพฤติกรรมของลูก อย่าตะโกน อย่าโกรธ อย่าพูดหยาบคาย ควรทำอย่างใจเย็นและเป็นมิตร ไม่จำเป็นต้องเริ่ม Timeout ด้วยความโกรธ หรือทำเป็นการแก้แค้น แต่เพื่อเป็นการตอบสนองต่อพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์เท่านั้น
- ใช้เวลาให้น้อยที่สุด: จากการศึกษาพบว่าผลในเชิงบวกของ Timeout ต่อพฤติกรรมของเด็กจะเกิดขึ้นภายในหนึ่งหรือสองนาทีแรก นาทีเพิ่มเติมใด ๆ ไม่มีประโยชน์ในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ดังนั้นควรใช้เวลาให้สั้นที่สุด เช่น 60 วินาที
- ชมเชยหลังจากหมดเวลา: เมื่อลูกได้ใช้เวลาอยู่คนเดียวจนหมดเวลาโดยไม่เอะอะโวยวาย ให้ชมพฤติกรรมที่เฉพาะเจาะจงดังกล่าว: “ดีมากที่หนูนั่งเงียบ ๆ ตลอดเวลาที่มุมนั้นโดยไม่โวยวาย” หากเป็นไปได้คุณสามารถใช้ภาษากายร่วมด้วย เช่น การตบหลังเบา ๆ แปะมือ หรือท่าทางอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง คุณอาจรู้สึกแปลกที่จะต้องชมเชยลูกในขณะที่ควรต้องอบรมวินัย แต่อย่าลืมว่าการตอบโต้ด้วยกระทำที่รุนแรงนั้นมีแนวโน้มที่จะทำให้เกิดพฤติกรรมนั้น ๆ ขึ้นซ้ำในอนาคต คำชมจะทำให้เด็ก ๆ ยอมทำ Timeout อีกครั้งเมื่อคราวจำเป็น
Timeout สำหรับเด็กเล็ก
เด็กเล็ก ๆ โดยเฉพาะเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 3 ปียังไม่มีความสามารถในการไตร่ตรองถึงการกระทำของตนเอง นั่นหมายความว่าเป้าหมายของ Timeout ของเด็กเล็กนั้นไม่ใช่เพื่อให้เด็กได้ไตร่ตรองการกระทำของตัวเอง แต่เพื่อเป็นการแยกเด็กไปอยู่ในสถานที่ที่เงียบสงบ ซึ่งเด็ก ๆ จะสามารถปรับอารมณ์จากสภาวะที่มีความกระวนกระวายใจ และอารมณ์เสียไปสู่ความสงบได้
อีกทางเลือกหนึ่งคือมองข้ามพฤติกรรมที่ไม่ดี
หากไม่สามารถควบคุมลูกได้ แต่เขาไม่ได้ไปทำร้ายใคร บางครั้งก็อาจเป็นการดีกว่าที่จะเพิกเฉยต่อพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ แล้วพยายามเปลี่ยนสถานการณ์โดยให้ดึงความสนใจของลูกไปที่สิ่งอื่น สมมติว่าลูกมีอารมณ์ฉุนเฉียวเพราะคุณเอาขนมที่เขากำลังกินออกไป รับรู้ความโกรธและแสดงความเอาใจใส่ จากนั้นนำขนมออกไปและพาเขาออกไปเดินเล่นข้างนอกแทน
รับรองโดย:
เกศสุภา จิระการณ์ (นักสุขภาพจิต) (31 มีนาคม 2021)