ทำอย่างไรเมื่อลูกน้อยมีภาวะโคลิค (Colic)

โคลิค (Colic)คือภาวะที่ทารกร้องไห้ติดต่อกันเป็นเวลานานโดยไม่ทราบสาเหตุ
เรายังไม่ทราบสาเหตุชัดเจนว่าภาวะโคลิคเกิดขึ้นได้อย่างไร แพทย์บางคนคาดว่าอาจเกิดจากแก๊สหรือปัญหาเกี่ยวกับทางเดินอาหาร โชคดีที่ภาวะนี้เกิดขึ้นเพียงชั่วคราวและจะหายเองเมื่อเวลาผ่านไป
สัญญาณและอาการของภาวะโคลิค
ทารกจะร้องไห้เป็นเรื่องปกติ เพราะการร้องไห้เป็นวิธีเดียวที่พวกเขาใช้ในการสื่อสารในช่วงระยะแรก ๆ อย่างไรก็ตาม สัญญาณบ่งบอกว่าทารกเป็นภาวะโคลิคจะมีดังต่อไปนี้:
- ร้องไห้มากกว่า 3 ชั่วโมง หลายครั้งต่อสัปดาห์
- บรรเทาและปลอบให้หายได้ยาก
- ทารกกำหมัด มีอาการเกร็งแขน แอ่นหลัง หรือเกร็งขา
- ทารกร้องไห้เสียงแหลมและในบางครั้งฟังคล้ายเสียงกรีดร้อง
- ใบหน้าเป็นสีแดง
ทารกที่มีภาวะโคลิคส่วนใหญ่จะมีอาการกำเริบในเวลาเดียวกันทุกวัน โดยอาการส่วนใหญ่เกิดขึ้นในช่วงเย็น
ภาวะโคลิคหรือการร้องไห้ปกติ?
ก่อนที่จะตัดสินว่าอาการร้องไห้มากเกินไปของลูกน้อยเป็นภาวะโคลิค ควรตรวจเช็คปัญหาทางสุขภาพอื่น ๆ ก่อน (สัญญาณที่ชัดเจน ได้แก่ มีไข้ ท้องเสีย หรืออาเจียน) สังเกตพฤติกรรมของทารกตอนดูดนม ว่าเขาเข้าเต้าอย่างถูกต้อง ดูดนมได้เต็มที่และเพียงพอหรือไม่? หากไม่มีปัญหาดังกล่าว อาจมีความเป็นไปได้สูงว่าลูกน้อยมีภาวะโคลิค
จะรักษาภาวะโคลิคได้หรือไม่?
ถึงแม้ว่าภาวะโคลิคจะไม่สามารถรักษาได้ แต่ก็มีหลายวิธีที่จะช่วยบรรเทาการร้องไห้มากเกินไปของลูกน้อย เช่น:
- อุ้มลูกน้อยไว้ขณะร้องไห้
- ให้มีการเรอเป็นระยะเวลานานหลังการป้อนนม
- ให้ลูกน้อยดื่มนมโดยลำตัวอยู่ในแนวตั้ง เพื่อลดความเป็นไปได้ที่พวกเขาจะกลืนอากาศเข้าไปด้วยขณะดูดนม
- นวดให้ลูกน้อย
- ไกวลูกน้อยในเปลหรือเตียงเด็กทารก
- เปิดเสียงที่ผ่อนคลายหรือเพลงเบา ๆ ไว้เป็นพื้นหลัง
- ร้องเพลงกล่อม หรือพูดคุยกับลูกน้อยด้วยน้ำเสียงที่ผ่อนคลาย
- พาลูกน้อยออกไปเดินเล่นในรถเข็นเด็ก
- ให้ลูกน้อยนั่งในที่นั่งเด็กและพาเขาไปขับรถเล่น
- เปลี่ยนสูตรนมผงเป็นชนิดที่ทำจากโปรตีนย่อยง่าย
อาการจะหายไปได้เมื่อไร?
ทารกที่มีภาวะโคลิคจะเริ่มมีอาการในช่วง 2 – 5 สัปดาห์แรก และอาการร้องไห้มากเกินไปจะหยุดภายใน 4 เดือน
คุณพ่อคุณแม่อาจรู้สึกเครียดเมื่อได้ทราบว่าลูกน้อยมีภาวะโคลิค ถึงแม้ว่านี่อาจเป็นสถานการณ์ที่ท้าทาย แต่ขอให้ทราบว่าคุณไม่ได้อยู่คนเดียว ภาวะโคลิคเกิดขึ้นได้ค่อนข้างบ่อย โดยคิดเป็น 1 ใน 5 ของทารกทั้งหมดทั่วโลก
หากคุณพ่อคุณแม่กำลังเลี้ยงดูลูกน้อยที่มีภาวะโคลิคและรู้สึกเครียดจนทนไม่ไหว สามารถทำตามข้อแนะนำดังต่อไปนี้:
- ขอความช่วยเหลือจากสมาชิกในครอบครัวหรือเพื่อน
- รับฟังคำแนะนำจากคุณแม่คนอื่น ๆ ซึ่งอาจเคยอยู่ในสถานการณ์เดียวกัน
- จ้างพี่เลี้ยงที่มีประสบการณ์หรือขอความช่วยเหลือจากเพื่อนสนิทและสมาชิกในครอบครัว
- ขอความช่วยเหลือจากแพทย์และผู้เชี่ยวชาญ
จำไว้ว่าภาวะนี้ไม่ได้เป็นความผิดพลาดของใคร ลูกจะหยุดร้องไห้มากเกินไปในเวลาอีกไม่นาน ความท้าทายครั้งใหญ่นี้ จะกลายเป็นประสบการณ์อันมีค่าสำหรับคุณ และจะช่วยเตรียมความพร้อมให้คุณเป็นพ่อแม่ที่ดีขึ้น
รับรองโดย:
นพ. ปิยวุฒิ กรีฑาภิรมย์ (31 มีนาคม 2021)