ดาวน์โหลดแอป

วิธีนวดเต้านมง่าย ๆ สำหรับคุณแม่มือใหม่

วิธีนวดเต้านมง่าย ๆ สำหรับคุณแม่มือใหม่

การนวดนมเหมาะสำหรับคุณแม่ที่มีความกังวลในเรื่องปัญหาน้ำนมน้อย ปัญหาท่อน้ำนมอุดตัน ปัญหาการเข้าเต้าไม่ได้ หรือปัญหาต่าง ๆ เกี่ยวกับคุณแม่หลังคลอด

มะลิได้รับคำแนะนำการนวดเต้านมเบื้องต้น จากนักกายภาพบำบัดผู้เชี่ยวชาญเรื่องปัญหาเต้านมของคุณแม่หลังคลอด คุณนุ่น รัตนาวดี ยิ่งเสมอ และขั้นตอนการนวดเต้านมเบื้องต้นที่คุณแม่สามารถทำเองได้ที่บ้านในกรณีที่รู้สึกว่าน้ำนมน้อยมี 3 ท่าหลัก ๆ ดังนี้: 


นวดคลึงเต้า: เป็นการวอร์มหรืออุ่นเต้านมให้น้ำนมไหลเวียนได้ดีมากขึ้น คุณแม่สามารถใช้บริเวณข้อนิ้วมือหรือบริเวณฝ่ามือนวดคลึงบริเวณเต้านม นวดเป็นแบบก้นหอย นวดวนทั้งทิศบนล่างและทิศซ้ายขวา นวดคลึงจนกว่าเต้านมคุณแม่จะเริ่มนิ่ม ในช่วงแรกจะรู้สึกว่าเต้าค่อนข้างคัด หรือแข็งหน่อย ให้คุณแม่คลึงไปเรื่อย ๆ ใช้เวลาประมาณ 2 – 3 นาทีจะรู้สึกว่าเต้าเริ่มนิ่มลง


นวดหัวนม-ลานนม: หัวนม และลานนมเป็นส่วนที่ค่อนข้างสำคัญมาก เพราะเป็นส่วนของปลายท่อน้ำนม เหมือนเป็นการเปิดปลายท่อซึ่งจะทำให้น้ำนมไหลได้ค่อนข้างง่าย ให้คุณแม่ใช้ 2 หรือ 3 นิ้ว ประคองไว้ข้างล่างบริเวณหัวนมหลังจากนั้นให้ใช้นิ้วโป้งกดลงจากด้านบนบริเวณหัวนม เสร็จแล้วให้คุณแม่คลึงวน เช่นเดียวกับการวอร์มเต้า คือมีทิศบน-ล่าง และทิศซ้าย-ขวา คลึงจนกว่าหัวนมจะนิ่ม เมื่อหัวนมเริ่มนิ่มให้คุณแม่เลื่อนมาที่ลานนม และคลึงเหมือนเดิม จนกว่าลานนมจะนิ่มด้วย คุณแม่จะรู้สึกว่าน้ำนมไหลได้ง่ายขึ้น


นวดบีบไล่นม: เทคนิคสำหรับบีบไล่เคลียร์คือให้คุณแม่ใช้มือ ทำมือเป็นรูปตัวซีด้วยนิ้วโป้ง นิ้วกลาง นิ้วชี้ ให้ 3 นิ้วนี้ประคองที่เต้านม โดยใช้นิ้วกลางยกเต้าขึ้น แล้วใช้นิ้วโป้งและนิ้วชี้อยู่บริเวณที่ขอบลานนม นิ้วชี้อยู่ด้านล่าง นิ้วโป้งอยู่ด้านบน แล้วกดไปที่ขอบลานนมจากนั้นถ่างนิ้วออก ให้รู้สึกว่าหัวนมตึง แล้วให้คุณแม่ค่อย ๆ บีบไล่เต้านมด้วยนิ้วโป้งและนิ้วชี้ การทำลักษณะนี้จะเป็นการเคลียร์เต้า คุณแม่สามารถประคบร้อนก่อนที่จะเริ่มนวดเพื่อให้น้ำนมไหลเวียนดีขึ้น หากคุณแม่ไม่มีที่ประคบร้อน หรือถุงน้ำร้อน คุณแม่สามารถประยุกต์โดยนำขวดนม ใส่น้ำร้อนประมาณครึ่งขวด จากนั้นใช้ผ้าอ้อมพันที่ก้นขวดแล้วนำก้นขวดนั้นมาคลึงที่เต้านม ในลักษณะวนคลึงที่เต้านม จะช่วยทำให้การไหลเวียนน้ำนมดีขึ้น

การให้นมในช่วงแรก
คุณแม่หลายท่านมีความกังวลว่าปริมาณน้ำนมจะไม่เพียงพอต่อความต้องการของลูก ซึ่งในช่วงแรกด้วยฮอร์โมน ร่างกายของคุณแม่ หรือกระเปาะน้ำนม อาจยังปรับตัวไม่ได้ทำให้รู้สึกว่ามีน้ำนมน้อยในช่วงแรก แต่ปริมาณน้ำนมของคุณแม่จะแปรผันไปตามความต้องการของลูกเองโดยธรรมชาติ ซึ่งในช่วงแรก ๆ นั้นลูกจะต้องการน้ำนมค่อนข้างถี่แต่ว่าต้องการในปริมาณน้อย ตราบใดที่คุณแม่ให้ลูกเข้าเต้า หรือคุณแม่ยังปั๊มนมอยู่อย่างสม่ำเสมอ คุณแม่ก็จะยังสามารถผลิตน้ำนมได้อย่างต่อเนื่อง คุณแม่สามารถติดตามบทสัมภาษณ์เพิ่มเติมของคุณนุ่นได้ที่วิดิโอสัมภาษณ์ วิธีนวดเต้านมง่าย ๆ สำหรับคุณแม่มือใหม่ โดยผู้เชี่ยวชาญด้านนมแม่

หากคุณแม่มีปัญหาหรือข้อสงสัย สามารถเข้าปรึกษากับคลินิกนมแม่ใกล้บ้าน หรือปรึกษาคุณนุ่น นักกายภาพบำบัดและที่ปรึกษาปัญหาเต้านมคุณแม่หลังคลอดได้ที่เบอร์โทรศัพท์: 097-9261656

รับรองโดย:

รัตนาวดี ยิ่งเสมอ (นักกายภาพบำบัด) (1 พฤษภาคม 2022)

ที่มา:

ดาวน์โหลดแอปMali Daily Pregnancy Tracker

แม่มือใหม่ & การตั้งครรภ์

เรตติ้ง 4.9 จากผู้ใช้งานกว่า 10,000+ คน

เรตติ้ง 4.9 จากผู้ใช้งานกว่า 10,000+ คน