การป้องกันลูกให้ปลอดภัยจากเชื้อโรคและไวรัส
ทารกแรกเกิดนั้นยังไม่ได้สร้างภูมิคุ้มกันเพื่อป้องกันไวรัสและแบคทีเรียที่อาจก่อให้เกิดความเจ็บป่วยได้
ดังนั้นควรปกป้องลูก ด้วยการเว้นระยะห่าง และตรวจสอบให้แน่ใจว่าทุกคนที่สัมผัสลูกนั้นล้างมือสะอาดก่อนทุกครั้ง
เป็นไปไม่ได้เลยที่จะปกป้องลูกจากเชื้อโรคทั้งหมดได้ จริง ๆ แล้วการได้สัมผัสกับเชื้อแบคทีเรียจะช่วยให้ลูกสามารถสร้างระบบภูมิคุ้มกันที่แข็งแกร่ง ซึ่งจะอยู่ในร่างกายเขาไปตลอดชีวิต มีเพียงแค่ในช่วง 2 – 3 เดือนแรกเท่านั้นที่คุณแม่ต้องระวัง
ต่อไปนี้คือวิธีลดความเสี่ยงที่จะเกิดการเจ็บป่วยได้
การล้างมือ: ล้างมือให้สะอาดเสมอก่อนอุ้มลูก และหลังจากเปลี่ยนผ้าอ้อม หรือใช้ห้องน้ำ นอกจากนี้ ยังต้องกำชับว่าทุกคนที่ต้องการอุ้มลูกจะต้องปฏิบัติตามมาตรฐานเดียวกัน ถ้าเป็นไปได้คุณแม่ควรพกเจลล้างมือติดกระเป๋าไว้เสมอเวลาออกนอกบ้าน ถ้ามีใครอยากจับแก้มนิ่ม ๆ ของลูก เพียงแค่ให้พวกเขาล้างมือให้สะอาดก่อนเท่านั้น
ถ้าหากลูกเอามือจับตัวเองขณะเปลี่ยนผ้าอ้อม หรือทำมือตัวเองสกปรก อย่าลืมทำความสะอาดมือให้เขาด้วยทุกครั้ง เนื่องจากเมื่อเขาอายุได้ 2 – 3 เดือน ก็จะเริ่มเอามือเข้าปากตัวเอง
ตรวจสอบให้แน่ใจว่าผู้ที่มาเยี่ยมมีสุขภาพดี: คุณแม่ควรเตือนผู้ที่มาเยี่ยมว่า ให้อยู่ห่างจากลูก ถ้ากำลังป่วย ถ้าคุณแม่ไม่แน่ใจ และไม่ต้องการให้เขาสัมผัสลูก อย่ากลัวที่จะพูดว่า “หมอบอกว่าไม่ควรให้คนอื่นจับเขาตอนนี้” หรือคุณจะขอวัดอุณหภูมิผู้มาเยี่ยมก็ได้
ปฏิบัติตามตารางการฉีดวัคซีน: วิธีหนึ่งที่สำคัญที่สุดในการปกป้องลูกจากความเจ็บป่วยซึ่งอาจติดจากผู้อื่นก็คือ ต้องแน่ใจว่าเขาได้รับวัคซีนครบทั้งหมด แต่การฉีดวัคซีนไม่ใช่สิ่งสำคัญสิ่งเดียวสำหรับเขา คุณแม่ควรตรวจสอบให้แน่ใจว่าทั้งคุณพ่อ คุณแม่ และผู้ช่วยดูแลนั้นได้รับวัคซีนครบถ้วนด้วยเช่นกัน
ให้ลูกกินนมแม่ตั้งแต่แรกเกิด: ในน้ำนมแม่นั้นมีภูมิต้านทานบางตัวที่สามารถกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของลูกได้ การให้ลูกกินนมแม่จะช่วยเพิ่มการป้องกันเพิ่มเติมสำหรับลูก สารที่มีประโยชน์เหล่านี้มีความแข็งแกร่งมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 3-4 เดือนแรก และยังคงประสิทธิภาพได้นานเท่าที่ลูกยังกินนมแม่อยู่ หรือแม้กระทั่งหลังจากที่หย่านมไปแล้ว
จัดการการให้นมอย่างสะอาด: ทิ้งนมที่ลูกกินเหลือทั้งหมด ไม่ว่าคุณแม่จะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่หรือให้นมผง แบคทีเรียและเอนไซม์ย่อยอาหารจากน้ำลายของทารกสามารถย้อนกลับเข้าไปในขวด และทำให้เกิดการปนเปื้อนได้ ฆ่าเชื้อของทุกอย่างที่จะเข้าปากของลูก เช่น จุกนมปลอม หรือขวดนม
หลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีผู้คนแออัด: เมื่อต้องพาลูกออกนอกบ้าน อาจเป็นเรื่องยากที่จะป้องกันเพื่อน และคนแปลกหน้ามาสัมผัสเขา ควรพยายามหลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีผู้คนแออัด เนื่องจากมีแนวโน้มที่จะเจอคนป่วยได้
ระมัดระวังสัตว์เลี้ยง: แม้ว่าการสัมผัสสัตว์เลี้ยงในขณะอายุน้อย ๆ จะสามารถช่วยป้องกันโรคภูมิแพ้ และโรคหอบหืดได้ แต่ในปากของสัตว์นั้นเต็มไปด้วยแบคทีเรียที่อาจเป็นอันตรายต่อลูก หลีกเลี่ยงการสัมผัสลิ้นหรือปากของสัตว์เลี้ยงโดยตรง ล้างมือของลูกทุกครั้งหลังจากเลิกเล่น และเก็บห้องน้ำแมวไว้ในสถานที่ที่เขาไม่สามารถเข้าถึงได้
รับรองโดย:
นพ. ปิยวุฒิ กรีฑาภิรมย์ (31 มีนาคม 2021)