ดาวน์โหลดแอป

พ่อแม่จะช่วยสนับสนุนการพัฒนาสมองของลูกได้อย่างไร?

พ่อแม่จะช่วยสนับสนุนการพัฒนาสมองของลูกได้อย่างไร?

เมื่อแรกเกิด สมองของลูกยังไม่พัฒนาเต็มที่ แต่การพัฒนาที่เหลือส่วนใหญ่นั้นเกิดขึ้นในช่วง 5 ปีแรกของชีวิต

ในช่วงเวลา 5 ปีแรกนี้ ทั้งการถ่ายทอดทางพันธุกรรม (ตามธรรมชาติ) และประสบการณ์ชีวิตที่ได้เผชิญในแต่ละวัน ไม่ว่าจะเป็นการเรียนรู้ และสารอาหารที่ได้รับ (การเลี้ยงดู) ล้วนมีบทบาทสำคัญในการเสริมสร้างพัฒนาการทางสมองของทารก

สิ่งที่สามารถช่วยสนับสนุนการพัฒนาสมองของลูกได้มีดังนี้:

ปฏิกิริยาการตอบสนองด้านบวก: ในช่วง 2 – 3 ปีแรกสมองของลูกจะมีความไวต่ออิทธิพลจากสิ่งเร้าภายนอกอย่างมาก เนื่องจากสมองกำลังสร้างความเชื่อมโยงกับอวัยวะต่าง ๆ เพื่อรับความรู้สึก สิ่งเร้าจากภายนอก ตัวอย่างเช่น การสัมผัส การได้ยินเสียง การมองเห็น การดมกลิ่น ความหิว และการรับรสชาติจึงเป็นส่วนหนึ่งของประสบการณ์ของเด็ก ซึ่งจะช่วยหล่อหลอมสมองที่กำลังพัฒนา หากลูกได้รับการตอบสนองทางอารมณ์อย่างถูกต้อง เข้าอกเข้าใจ และรวดเร็ว จะทำให้เขารู้สึกอบอุ่นปลอดภัย ได้รับความรักและการดูแล ซึ่งจะถูกเก็บสะสมไว้เป็นประสบการณ์เชิงบวกภายในสมอง และช่วยให้เขามีพัฒนาการที่ดีที่สุด

การอ่านหนังสือให้ลูกฟัง: การอ่านเป็นวิธีที่ดีในการส่งเสริมพัฒนาการทางสมองของลูก แม้กระทั่งช่วงก่อนที่เขาจะจำคำศัพท์หรือตัวอักษรได้ การอ่านเป็นพื้นฐานสำหรับการพัฒนาทักษะทางภาษา เพียงแค่ได้ยินคำพูด และมองเห็นภาพ สมองของลูกก็สามารถเชื่อมต่อระหว่างภาพและเสียง และจดจำความหมายของคำศัพท์ใหม่นั้นได้ การอ่านหนังสือ (ที่ไม่ใช่หนังสือดิจิตอล) เล่มเดิมซ้ำ ๆ จะช่วยเสริมสร้างความจำและช่วยให้ได้ความรู้ในเชิงลึกมากยิ่งขึ้น

การเล่น: การเล่นมีความสำคัญต่อการพัฒนาสมองของทารกเป็นอย่างมาก ไม่ว่าคุณจะเล่นกับลูก หรือเขาจะเล่นคนเดียว การเล่นจะช่วยกระตุ้นสมองหลาย ๆ ด้าน และกระตุ้นการพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์ การเล่นจ๊ะเอ๋ เล่นซ่อนหา เล่นบทบาทสมมติ หรือแม้แต่การสร้างและทำลายของเล่นก็ช่วยเสริมสร้างจินตนาการ สร้างความจำเชิงพื้นที่ และส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ของลูกน้อยได้

ลดเวลาอยู่หน้าจอให้น้อยลง: การดูทีวีหรือการเล่นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่น ๆ เป็นกิจกรรมที่จะทำให้เด็กเอื่อยเฉื่อย และไม่ช่วยกระตุ้นการเรียนรู้ใด ๆ ของเด็ก เด็ก ๆ ต้องการกิจกรรมที่ต้องมีส่วนร่วมทั้งร่างกายและจิตใจ แม้ว่าของเล่นบางอย่างอาจจำเป็นสำหรับกิจกรรมการเล่นของลูก แต่ใบหน้าที่เต็มไปด้วยความรักและรอยยิ้มของคุณพ่อคุณแม่นั้นดีต่อลูกน้อยมากกว่าของเล่นชิ้นไหน ๆ ในโลก

โภชนาการที่เพียงพอ: สมองต้องการสารอาหารที่จำเป็น เพื่อให้สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้นคุณแม่ควรตรวจสอบให้แน่ใจว่าลูกน้อยไม่เพียงแค่ได้รับอาหารที่ดี แต่ยังต้องได้รับอาหารในปริมาณที่เหมาะสมอีกด้วย โดยในช่วง 6 เดือนแรก ลูกควรได้รับนมแม่อย่างเพียงพอ เมื่อคุณเริ่มให้เขาทานอาหาร ควรตรวจสอบให้แน่ใจว่าได้ให้อาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการแก่ลูกเท่านั้น และไม่ควรให้ลูกรับประทานประเภทอาหารขยะ หรือได้รับน้ำตาลมากเกินไป

ดูแลสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ: คุณแม่จำเป็นต้องพาลูกน้อยไปตรวจสุขภาพเป็นประจำ ปรึกษากุมารแพทย์หากคุณแม่มีความกังวลเกี่ยวกับความล่าช้าของพัฒนาการที่สำคัญของลูกน้อย และควรตรวจสอบให้แน่ใจว่าลูกน้อยได้รับการฉีดวัคซีนอย่างครบถ้วนในแต่ละช่วงอายุ

ดูแลลูกน้อยอย่างมีคุณภาพ: หากคุณจำเป็นต้องอยู่ห่างจากลูกน้อยด้วยเหตุผลใดก็ตาม ควรตรวจสอบให้แน่ใจว่าลูกได้รับการดูแลที่เหมาะสม ผู้ดูแลควรเป็นคนที่คุณแม่เชื่อใจได้ว่าจะสามารถตอบสนองต่ออารมณ์และความต้องการของเขาได้อย่างถูกต้องเหมาะสม และเมื่อคุณมีเวลาอยู่กับเขา แม้เป็นเวลาเพียงสั้น ๆ  แต่เป็นเวลาคุณภาพก็จะทำให้ลูกได้รับรู้ความรักความอบอุ่นที่คุณแม่มีให้กับเขา

รับรองโดย:

เกศสุภา จิระการณ์ (นักสุขภาพจิต) (31 มีนาคม 2021)

ที่มา:

ดาวน์โหลดแอปMali Daily Pregnancy Tracker

แม่มือใหม่ & การตั้งครรภ์

เรตติ้ง 4.8 จากผู้ใช้งานกว่า 5,000+ คน

เรตติ้ง 4.8 จากผู้ใช้งานกว่า 5,000+ คน