เดือนที่ 3: ส่งเสริมพัฒนาการลูกน้อย
ตอนนี้ทุกคนในครอบครัวน่าจะเริ่มชินกับสมาชิกใหม่ และกำลังเพลิดเพลินกับการใช้เวลาร่วมกัน
ทารกน้อยเริ่มตื่นนานขึ้น ร่างกายเขาเติบโตและมีพัฒนาการด้านต่าง ๆ อย่างเห็นได้ชัด
คุณแม่และลูกเป็นอย่างไรบ้าง
คุณอาจสังเกตว่าดวงตาของลูกสามารถเคลื่อนที่ตามสิ่งของที่มองอยู่ได้ และสามารถกลอกตาไปมาด้านข้างได้แล้ว ตอนนี้กล้ามเนื้อแกนกลางลำตัวของลูกเริ่มแข็งแรงขึ้น และทารกน้อยอาจเริ่มยกศีรษะขึ้นได้เมื่ออยู่ในท่านอนคว่ำ ลูกจะเริ่มยิ้มบ่อยขึ้นโดยเฉพาะเมื่อได้ยินเสียงที่เขาชอบ และเมื่อได้เห็นใบหน้าที่คุ้นเคย เขาอาจเริ่มเลียนแบบคุณโดยการทำเสียงอ้อแอ้จากลำคอ
ตอนนี้คุณและทุกคนในครอบครัวอาจทำตัวสบาย ๆ มากขึ้น ถือเป็นเวลาที่ดีที่จะเริ่มคิดและหาข้อมูลเรื่องการส่งเสริมพัฒนาการของลูก
ขั้นพัฒนาการคืออะไร
วัยเด็กเล็กเป็นช่วงเวลาที่สำคัญอย่างยิ่งต่อพัฒนาการลูกน้อย 80% ของสมองของลูกจะพัฒนาขึ้นในช่วง 3 ขวบปีแรกของชีวิต ในช่วงวัยนี้เขายังมีการพัฒนาทักษะที่สำคัญอื่น ๆ เช่นการเดิน การเข้าสังคม การตัดสินใจ และการเรียนรู้อีกด้วย ทักษะเหล่านี้เองที่จะเป็นรากฐานของชีวิตของลูกไปจนถึงวัยผู้ใหญ่ การพัฒนาทักษะต่าง ๆ เหล่านี้เรียกว่าขั้นของพัฒนาการ
ขั้นของพัฒนาการมักถูกใช้เพื่อเป็นมาตรฐานในการวัดพัฒนาการทารก เพื่อดูว่าพัฒนาการของเขาเป็นอย่างไรบ้างเมื่อเทียบกับทารกวัยเดียวกัน องค์กรระหว่างประเทศบางแห่งเช่น Denver 2 หรือ DSMP ได้พัฒนาขั้นพัฒนาการมาตรฐานขึ้นมาเพื่อช่วยให้ผู้เชี่ยวชาญสามารถติดตามพัฒนาการเด็กไปพร้อมกับการค้นหาพัฒนาการที่อาจล่าช้า
อย่างไรก็ตาม คุณควรเข้าใจว่าเด็กแต่ละคนพัฒนาในจังหวะที่แตกต่างกัน การที่ลูกน้อยมีขั้นพัฒนาการเร็วหรือช้าไม่ได้ทำนายอนาคตของเขา อย่างไรก็ตาม มีสัญญาณเตือนบางอย่างที่ผู้ปกครองควรรู้ดังนี้
- ทารกไม่ตอบสนองต่อเสียง หรือสิ่งเร้า
- ไม่สามารถมองตามวัตถุได้
- มีดวงตาแน่นิ่ง โดยมองขึ้นลงหรือมองด้านข้าง
- ไม่ทำเสียงใด ๆ เช่นเสียงอ้อแอ้
- ไม่จับสิ่งของ ไม่มีปฏิกิริยาตอบสนองโดยการจับ
วิธีช่วยส่งเสริมพัฒนาการลูกน้อย
ฝึกบ่อย ๆ เป็นกิจวัตร: เด็ก ๆ จะเรียนรู้ได้ดีเมื่อได้โต้ตอบและทำซ้ำ ๆ ดังนั้นการทำกิจวัตรประจำวัน เช่น การอาบน้ำ เปลี่ยนผ้าอ้อม และเข้านอนเป็นเวลาสม่ำเสมอ เป็นวิธีง่าย ๆ ที่จะช่วยกระตุ้นให้ลูกไปถึงขั้นพัฒนาการต่อไปได้ ตัวอย่างเช่น คุณอาจร้องเพลงให้ลูกฟังตอนอาบน้ำเพื่อกระตุ้นการได้ยินและแนะนำให้ลูกรู้จักทักษะทางภาษา ซึ่งจะมีประโยชน์เมื่อลูกเรียนรู้ที่จะพูดในอีกหนึ่งปีข้างหน้า คุณอาจนับนิ้วเท้าของลูกตอนเปลี่ยนผ้าอ้อม เพื่อให้เขาคุ้นเคยกับแนวคิดของคณิตศาสตร์ ซึ่งเป็นทักษะสำคัญที่จะช่วยเรื่องการใช้เหตุผล และการแก้ปัญหาต่าง ๆ นอกจากนี้การสัมผัสลูกอย่างอ่อนโยนในช่วงก่อนนอนจะช่วยสอนให้ลูกเรียนรู้ที่จะไว้ใจคุณ เรียนรู้การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีด้วยการใส่ใจผู้อื่น ซึ่งเป็นพื้นฐานของพัฒนาการทางสังคม
เล่นกับลูกบ่อย ๆ : เมื่อคุณเล่นและโต้ตอบกับลูก ไม่ว่าจะเป็นการนอนคว่ำเล่น เขย่าของเล่นมีเสียง อ่านหนังสือหรือร้องเพลงให้ลูกฟัง ทารกน้อยจะได้รับการกระตุ้นในแบบต่าง ๆ ที่จะช่วยส่งเสริมพัฒนาการของเขาได้ ตัวอย่างเช่น เมื่อคุณเขย่าของเล่นให้ลูกดู เขาจะได้เรียนรู้การใช้เหตุและผล และเรียนรู้ว่าการเขย่าทำให้เกิดเสียง นอกจากนี้เขาจะได้ฝึกสมาธิเพื่อสนใจสิ่งหนึ่ง และยังได้พัฒนาสายตาเมื่อมองตามความเคลื่อนไหวของคุณ
ทำไมจึงควรรู้จักขั้นพัฒนาการของลูกน้อย
พัฒนาการและการเจริญเติบโตของเด็กมีลักษณะเป็นขั้นตอน นั่นหมายความว่าเด็กจะต้องเรียนรู้และเข้าใจทักษะขั้นพื้นฐานอย่างหนึ่งก่อนที่จะเรียนรู้ทักษะที่ยากขึ้นไปเรื่อย ๆ เมื่อผู้ปกครองช่วยสนับสนุน และให้เวลาลูกในการพัฒนาทักษะต่าง ๆ ลูกน้อยก็จะสามารถมีพัฒนาการเป็นขั้นตอนในเวลาที่เหมาะสม และคุณก็จะได้สัมผัสประสบการณ์อันน่ามหัศจรรย์ของวิวัฒนาการมนุษย์ไปพร้อม ๆ กับลูกอีกด้วย
การทำความรู้จักขั้นของพัฒนาการในทุกแง่มุมตลอดการเติบโตของลูก ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนากล้ามเนื้อ การสื่อสาร การเล่น และทักษะการเข้าสังคม จะช่วยให้คุณสามารถสนับสนุนลูกได้อย่างเหมาะสมในทุก ๆ ช่วงเวลา
นอกจากนี้ ความรู้เรื่องขั้นพัฒนาการจะช่วยให้คุณแยกแยะสัญญาณที่บอกว่าลูกน้อยพร้อมสำหรับพัฒนาการขั้นต่อไป และคุณก็จะสามารถคาดเดาอนาคตได้คร่าว ๆ หากคุณเห็นว่าลูกมีพัฒนาการล่าช้า คุณก็จะสามารถบอกได้และขอความช่วยเหลือทางการแพทย์ได้ทันเวลาอีกด้วย
รับรองโดย:
เกศสุภา จิระการณ์ (นักสุขภาพจิต) (19 กุมภาพันธ์ 2022)