ดาวน์โหลดแอป

เดือนที่ 4: สร้างกิจวัตรประจำวัน

เดือนที่ 4: สร้างกิจวัตรประจำวัน

ลูกยังคงฝึกทักษะที่เขาทำได้ในเดือนที่แล้วไปเรื่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็นการชันคอขึ้น หรือการกำมือ และคุณอาจเริ่มสร้างกิจวัตรประจำวันให้ลูกในกรณีที่คุณต้องกลับไปทำงาน

การมีกิจวัตรจะช่วยให้ช่วงเปลี่ยนผ่านราบรื่นมากขึ้นสำหรับคุณและทารกน้อย

คุณแม่และลูกเป็นอย่างไรบ้าง
หากลูกชันคอ 90 องศา โดยใช้แขนยันยกตัวชูขึ้นได้ในขณะที่นอนคว่ำเล่น เจ้าตัวน้อยก็อาจพลิกตัวได้ในเร็ว ๆ นี้ และเขาอาจเริ่มยื่นมือออกมาเพื่อคว้าสิ่งของต่าง ๆ ได้แล้ว

ลูกอาจเริ่มสื่อสารด้วยวิธีต่าง ๆ มากขึ้น เช่นหันหัวตามเสียง ส่งเสียงอ้อแอ้ หัวเราะ ทำเสียงเล่นน้ำลายเพื่อเรียกร้องความสนใจ หรือมีท่าทีผ่อนคลายมากขึ้นเมื่อได้รับการปลอบโยน

คุณอาจได้นอนหลับมากกว่าเดิม หรือเริ่มชินกับการนอนน้อยเป็นปกติไปแล้ว ร่างกายของคุณแม่เริ่มรู้สึกเหมือนคนเดิมอีกครั้ง และโอกาสในการเกิดภาวะซึมเศร้าหลังคลอดก็ลดต่ำลงอย่างมาก

กิจวัตรประจำวันคืออะไร
กิจวัตรประจำวัน คือชุดกิจกรรมหลายกิจกรรมที่ทำต่อเนื่องกัน โดยทำเป็นประจำทุกวัน เด็กทารกจะรู้สึกปลอดภัยเมื่อคุณทำกิจกรรมเดิม ๆ อย่างสม่ำเสมอ ตัวอย่างของกิจวัตรประจำวันคือกิจวัตรก่อนเข้านอน เริ่มต้นด้วยการอาบน้ำ จากนั้นให้ลูกดื่มนม อ่านนิทาน และสุดท้ายจบด้วยการเข้านอน สำหรับคุณแม่หลาย ๆ คนที่วันลาคลอดใกล้จะหมดแล้ว การวางแผนหาคนช่วยดูแลลูก ในขณะที่ต้องพยายามใช้เวลาอย่างมีคุณภาพกับลูก ไปพร้อม ๆ กับการทำกิจวัตรประจำวันอย่างสม่ำเสมอกับลูกน้อยอาจเป็นเรื่องที่ท้าทายพอสมควร

วิธีการทำสิ่งต่าง ๆ ให้เป็นกิจวัตรประจำวัน
นอน, กิน, เล่น, และทำซ้ำ ๆ : เมื่อลูกได้นอนและตื่นมาดื่มนมบ่อย ๆ จนเริ่มชินแล้ว คุณอาจเพิ่มกิจกรรมที่เป็นการเล่นเข้าไปในกิจวัตร เช่นการพูดคุย ร้องเพลง และอ่านนิทาน เป็นต้น สิ่งสำคัญที่สุดคือกิจวัตรเหล่านี้ควรเป็นสิ่งที่ทำสม่ำเสมอทุกวัน เมื่อลูกรู้ว่าต่อไปจะเกิดอะไรขึ้น เขาจะรู้สึกปลอดภัย คุณแม่หลายคนชอบทำกิจกรรมเป็นกิจวัตร เพราะทำให้สามารถวางแผนการใช้เวลาอย่างมีคุณภาพกับลูก ได้

การปั๊มนม: แน่นอนว่าการดื่มนมเป็นกิจกรรมที่ลูกต้องทำประจำทุกวัน หากคุณแม่ต้องห่างจากลูกเพราะต้องไปทำงานหรือเหตุผลอื่น ๆ ก็ควรปั๊มนมเก็บเอาไว้ ควรวางแผนเวลาปั๊มนมไม่ว่าจะปั๊มที่บ้านหรือที่ทำงาน เพื่อจะได้วางแผนว่าเวลาไหนที่ลูกจะได้ดื่มนมจากเต้าและเวลาไหนจะได้ดื่มจากขวด คุณอาจปรับกิจวัตรใหม่สองสามสัปดาห์ก่อนที่จะกลับไปทำงาน ลูกจะได้มีเวลาปรับตัวเข้ากับกิจวัตรใหม่ด้วย

การสื่อสาร: ควรอธิบายกิจวัตรประจำวันให้คนที่มาช่วยดูแลลูกเข้าใจก่อน เพื่อที่กิจวัตรของลูกจะได้ไม่ถูกรบกวน ข้อมูลที่ต้องอธิบายมีตั้งแต่การนอน ตารางเวลาการดื่มนม ของเล่นที่ชอบ กิจกรรมที่ชอบ การปลอบโยนแบบที่ลูกชอบ ไปจนถึงสิ่งที่ทำให้เขาเครียดหรือวิตกกังวล

ทำไมจึงควรทำสิ่งต่าง ๆ เป็นกิจวัตร
กิจวัตรประจำวันจะช่วยลดความเครียด  ช่วยให้เด็กเล็กคาดเดาอนาคตได้ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญต่อเด็กมากเพราะเขายังไม่เข้าใจแนวคิดเรื่องเวลาเช่นเรื่องกลางวันและกลางคืน ดังนั้นหากเขารู้ว่าต่อไปจะเกิดอะไรขึ้นจะช่วยให้เขารับมือกับการเปลี่ยนแปลงได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะเมื่อเขาต้องเจอผู้คนใหม่ ๆ และพยายามปรับตัวกับการต้องอยู่ห่างพ่อแม่ ซึ่งอาจเกิดขึ้นในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้

ในบางครั้งเมื่อเด็ก ๆ ต้องเจอกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เขาอาจรู้สึกไม่มั่นคง วิตกกังวลและหงุดหงิดง่ายกว่าปกติ อย่างน้อยการทำสิ่งต่าง ๆ เป็นกิจวัตรเหมือนเดิมทุกวันจะช่วยให้เขารู้สึกมั่นคงมากขึ้นได้

รับรองโดย:

เกศสุภา จิระการณ์ (นักสุขภาพจิต) (18 กุมภาพันธ์ 2022)

ที่มา:

ดาวน์โหลดแอปMali Daily Pregnancy Tracker

แม่มือใหม่ & การตั้งครรภ์

เรตติ้ง 4.8 จากผู้ใช้งานกว่า 5,000+ คน

เรตติ้ง 4.8 จากผู้ใช้งานกว่า 5,000+ คน