ดาวน์โหลดแอป

เดือนที่ 8: วิธีช่วยกันเลี้ยงลูก

เดือนที่ 8: วิธีช่วยกันเลี้ยงลูก

การช่วยกันเลี้ยงลูกไปพร้อมกับคู่ชีวิต หรือพร้อมกับพ่อแม่ของคุณ จะต้องใช้การพูดคุยกันบ่อย ๆ ว่าแต่ละคนมีมุมมองในการเลี้ยงเด็กอย่างไร

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการให้คุณค่า การฝึกวินัย กิจวัตรประจำวัน ไปจนถึงการสนับสนุนเด็ก การร่วมมือกันอย่างสม่ำเสมอจากทุกฝ่ายจะเป็นกุญแจสำคัญที่ช่วยให้ลูกมีความมั่นคงทางอารมณ์ได้

คุณแม่และลูกเป็นอย่างไรบ้าง
ลูกเริ่มเคลื่อนไหวร่างกายมากขึ้น เขาอาจเล่นของเล่นขณะนั่งตัวตรงได้โดยไม่ต้องพยุง หรืออาจเริ่มคลานไปมาได้แล้ว ลูกน้อยน่าจะสำรวจสิ่งแวดล้อมรอบตัวอย่างลึกซึ้งมากขึ้น เช่น เขาอาจรู้จักรูปทรง ขนาด พื้นผิว และเสียงต่าง ๆ มากขึ้นแล้ว

ลูกอาจสามารถยืนได้โดยมีคนช่วยพยุง กล้ามเนื้อขา และแกนกลางลำตัวของเขาเริ่มแข็งแรงขึ้น อย่าลืมให้โอกาสเขาฝึกยืนมาก ๆ

เด็กทารกวัยนี้จะซึมซับข้อมูลได้ราวกับเป็นฟองน้ำ ในช่วงนี้ลูกจะเริ่มสร้างนิสัยการตอบโต้ในสถานการณ์ต่าง ๆ ฝึกควบคุมอารมณ์ และเรียนรู้ภาษาจากการพบเจอและตอบโต้กับผู้ใหญ่ที่เขาคุ้นเคยในชีวิตจริง ดังนั้นช่วงนี้น่าจะเป็นโอกาสที่ดีในการปรึกษาคู่ชีวิต หรือผู้ช่วยเลี้ยงเด็กเรื่องการสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีเพื่อช่วยในการเรียนรู้ของลูก

การช่วยกันเลี้ยงลูกคืออะไร
การช่วยกันเลี้ยงลูกเป็นวิธีที่เป็นธรรมชาติที่สุดในการสร้างครอบครัว เมื่อคุณพ่อ คุณแม่ และสมาชิกคนอื่น ๆ ในครอบครัวช่วยกันดูแลและเลี้ยงดูเด็กคนหนึ่งให้เติบโต โดยแต่ละคนแบ่งปันหน้าที่รับผิดชอบเท่า ๆ กัน

ในการช่วยกันเลี้ยงลูก ควรให้สมาชิกในครอบครัวทุกคนมาปรึกษาและเห็นพ้องกันเรื่องคุณค่าในการเลี้ยงดูเด็กที่จำเป็น ดังนั้น ไม่ว่าเด็กจะใช้เวลาร่วมกับใคร ลูกจะต้องได้รับการฝึกวินัยที่เหมือนกัน ได้รับการตอบโต้เหมือนกัน และมีกิจวัตรประจำวันเหมือนกัน รายละเอียดต่าง ๆ มีทั้งเรื่องการป้อนอาหาร การอุ้มเด็ก และการฝึกวินัย คำถามในการปรึกษาแต่ละครั้งอาจเป็นดังนี้ “เราอยากให้ลูกเลือกอาหารที่อยากกินจากบนจาน หรือเราควรผสมอาหารรวมกันและใช้ช้อนป้อนให้เขากินดี” ประเด็นอื่น ๆ ที่อาจคุยกันได้แก่การใช้เวลาหน้าจอ และการฝึกลูกใช้กระโถน

เนื่องจากการช่วยกันเลี้ยงลูกอาจมีความขัดแย้งระหว่างวัย ส่วนใหญ่จึงมักทำได้ยาก

วิธีช่วยกันเลี้ยงลูกเพื่อประโยชน์ของลูก

สื่อสารเรื่องความแตกต่างอย่างให้ความเคารพ: ไม่ว่าคุณ คู่ชีวิต หรือปู่ย่าตายายของลูกจะคิดเช่นไร เมื่อต้องหาทางแก้ปัญหา ก็ควรเอาความจำเป็นในการเรียนรู้และการเติบโตของลูกมาเป็นเป้าหมายหลักที่สำคัญที่สุดเสมอ การสร้างขอบเขตที่ชัดเจนและตรงกันให้เด็กจะช่วยลดโอกาสเกิดปัญหาด้านพฤติกรรมต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นภายหลังในวัยเตาะแตะเมื่อเด็กโตขึ้น การเปลี่ยนแปลงเรื่องที่อนุญาตให้เด็กทำได้หรือไม่ได้ไปเรื่อย ๆ จะทำให้เด็กเกิดความสับสน หงุดหงิด และร้องไห้ตามมาในที่สุด นี่จึงเป็นเหตุผลที่ควรสื่อสารกันอย่างให้ความเคารพ และควรสื่อสารกันบ่อย ๆ ระหว่างทุกคนในครอบครัว

ให้ความสม่ำเสมอ: เช่นเดียวกับเรื่องอื่น ๆ เมื่อเด็กทำพฤติกรรมแบบหนึ่งแล้วได้รับการโต้ตอบแบบเดิมซ้ำ ๆ จะช่วยให้เด็กเข้าใจบทบาทของตนเองได้ เริ่มจากบทบาทในครอบครัว และต่อมาคือบทบาทในสังคม เด็ก ๆ มักจะสงบลง และมีอารมณ์ที่มั่นคงมากกว่าเมื่อเขารู้ว่าผู้ใหญ่ต้องการอะไรจากเขา ดังนั้น ไม่ว่าเขาจะอยู่กับใคร ลูกควรมีกิจวัตรประจำวันแบบเดิม เมื่อทำพฤติกรรมต่าง ๆ หรือต้องการสิ่งใดก็ควรได้รับการโต้ตอบแบบเดิม และได้รับการปฏิบัติดังสมาชิกในครอบครัวเสมอ

ทำไมจึงควรให้ความสม่ำเสมอกับลูก
การเลี้ยงดูลูกเป็นเรื่องที่ขึ้นอยู่กับบุคคล เป็นเรื่องอ่อนไหวและแตกต่างกันไปในแต่ละบ้าน ในช่วงวัยนี้ลูกจะเรียนรู้จากการโต้ตอบกับผู้ใหญ่เป็นหลัก

เมื่อลูกได้รับการปฏิบัติอย่างให้ความเคารพ ให้ความเข้าใจ และให้การสนับสนุนจากทุกคนในบ้านเหมือน ๆ กัน เขาจะได้รับรากฐานที่ดีสำหรับพัฒนาการทางอารมณ์และการเข้าสังคมในอนาคต

เมื่อเด็กได้รับการเลี้ยงดูที่มีแนวทางสม่ำเสมอซ้ำ ๆ จากสมาชิกในครอบครัวทุกคน จะช่วยให้เด็กสามารถสนใจเรียนรู้พฤติกรรมที่คุณอยากให้เขาฝึกทำได้ดีขึ้น

รับรองโดย:

เกศสุภา จิระการณ์ (นักสุขภาพจิต) (18 กุมภาพันธ์ 2022)

ที่มา:

ดาวน์โหลดแอปMali Daily Pregnancy Tracker

แม่มือใหม่ & การตั้งครรภ์

เรตติ้ง 4.8 จากผู้ใช้งานกว่า 5,000+ คน

เรตติ้ง 4.8 จากผู้ใช้งานกว่า 5,000+ คน