การดูแลสุขภาพช่องปากในเด็กเล็ก
การมีฟันที่แข็งแรงจะช่วยให้ลูกน้อยกินอาหารและพูดคุยได้อย่างสนุกสนาน นอกจากนี้ยังช่วยให้สุขภาพโดยรวมของลูกดีขึ้นอีกด้วย หากไม่ดูแลสุขภาพช่องปากให้ดี อาจมีปัญหาฟันผุและติดเชื้อตามมา
นอกจากนี้การฝึกให้ลูกดูแลสุขภาพช่องปากอยู่เสมอจะช่วยให้ลูกมีสุขนิสัยที่ดีเมื่อเขาโตขึ้น
วิธีแปรงฟัน และใช้ไหมขัดฟันให้ลูก
แน่นอนว่าคุณได้แปรงฟันให้ลูกตั้งแต่ฟันซี่แรกของเขางอกออกมา แต่เมื่อลูกมีฟันเพิ่มมากขึ้น คุณพ่อคุณแม่ก็ควรเพิ่มทักษะการแปรงโดยเพิ่มการใช้ไหมขัดฟันเข้าไปในกิจวัตรของลูกด้วย การใช้ไหมขัดฟันจะช่วยกำจัดเศษอาหารบริเวณระหว่างซอกฟันขนาดเล็กที่แปรงสีฟันแปรงไม่ถึงได้
ต่อไปนี้คือวิธีการแปรงฟันและใช้ไหมขัดฟันให้ลูก
- ผู้ปกครองต้องมีทัศนคติที่ดีเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพช่องปากให้ลูกก่อน แม้ว่าลูกจะไม่ให้ความร่วมมือหรือร้องไห้งอแงก็ต้องพยายามแปรงฟันให้ได้เพราะนี่เป็นวิธีที่ง่ายและดีที่สุดในการป้องกันโรคฟันผุ
- เริ่มด้วยการเลือกแปรงสีฟันที่มีขนาดเหมาะสมกับวัยควรมีขนนุ่มเพื่อให้อ่อนโยนต่อเหงือกตลอดการแปรงฟัน
- พยายามแปรงฟันให้ลูกสองครั้งต่อวัน โดยแปรงตอนเช้าหลังจากลูกตื่นนอน และแปรงตอนกลางคืนก่อนลูกเข้านอน หลังการแปรงฟันก่อนนอนจะต้องไม่ให้ลูกทานอาหารหรือนมอีก
- ในการแปรงแต่ละครั้ง ให้แปรงประมาณสองนาที คุณอาจทำให้การแปรงฟันเป็นเรื่องสนุกโดยร้องเพลงให้ลูกฟัง หรืออาจแปรงฟันหน้ากระจก ลูกจะได้สนใจเงาของเขาในกระจกไปด้วย
- ใช้ยาสีฟันที่มีฟลูออไรด์เป็นชั้นบาง ๆ สำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 3 ปี ใช้ยาสีฟันขนาดเท่าเม็ดถั่วลันเตาสำหรับเด็ก 3-6 ปี และใช้ยาสีฟันเต็มหน้าแปรงสำหรับเด็กอายุ 6 ปีขึ้นไป โดยแปรงแบบแห้ง ไม่ต้องบ้วนน้ำ
- ดูให้แน่ใจว่าแปรงทั่วพื้นผิวทั้งหมดของฟัน ทั้งด้านใน ด้านนอก บนฟันกราม และแปรงลิ้นด้วย
- ใช้ไหมขัดฟันขัดระหว่างซอกฟันแต่ละซี่ เพื่อกำจัดเศษอาหารที่ซ่อนอยู่
- ตรวจฟันลูกทุกครั้งที่แปรงฟันให้ลูกโดยการให้ลูกอ้าปากและมองหาจุดสีขาวหรือจุดสีน้ำตาลเล็ก ๆ บนผิวฟัน ซึ่งอาจเป็นสัญญาณของฟันผุ หากเห็นฟันผุหรือสงสัยควรนัดพบทันตแพทย์ ไม่ควรรอจนลูกมีอาการปวดฟันเพราะนั่นอาจสายเกินไปที่จะรักษาฟันไว้แล้ว
การสอนลูกให้แปรงฟันและใช้ไหมขัดฟัน
คุณได้ช่วยลูกทำความสะอาดฟันมาระยะหนึ่งแล้ว แต่เมื่อลูกโตขึ้นก็ได้เวลาสอนวิธีแปรงฟันและใช้ไหมขัดฟันให้ลูกได้ วิธีสอนทำได้ดังนี้
- ระหว่างการแปรงฟัน ลองอนุญาตให้ลูกถือแปรงสีฟันและเล่นกับแปรงบ้าง
- แนะนำให้ลูกลองเอาแปรงสีฟันเข้าปากและสอนวิธีแปรงให้เขา
- คุณอาจจับมือลูกในขณะที่เขาขยับแปรงไปมาในปาก
- ดูให้แน่ใจว่าลูกบ้วนยาสีฟันออกมาหลังจากแปรงฟัน
- คุณควรช่วยลูกน้อยแปรงฟันจนกว่าเขาจะแปรงได้เองจนชำนาญ ซึ่งอาจใช้เวลาถึงลูกอายุประมาณ 6 ปี
ทำไมจึงควรใช้ยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ และใช้เมื่อไหร่
ยาสีฟันแบบมีฟลูออไรด์เป็นสิ่งสำคัญต่อสุขภาพช่องปากและควรใช้ตั้งแต่ฟันน้ำนมซี่แรกขึ้นเพราะเป็นที่รู้กันว่าฟลูออไรด์จะช่วยป้องกันฟันผุทั้งในฟันน้ำนม และฟันแท้ ฟลูออไรด์ยังช่วยให้ฟันแข็งแรงโดยการเสริมสร้างเคลือบฟันให้แข็งแรง การวิจัยพบว่าฟลูออไรด์วาร์นิช (fluoride varnish) สามารถป้องกันฟันผุในเด็กทารกได้ถึง 1 ใน 3 (33%) และเด็ก ๆ ที่แปรงฟันด้วยยาสีฟันที่มีฟลูออไรด์เป็นประจำจะมีปัญหาฟันผุน้อยกว่า
อย่างไรก็ตาม เด็กเล็กบางคนก็ได้รับฟลูออไรด์จากน้ำดื่ม และในเมืองใหญ่หลายแห่งก็มีข้อกำหนดให้เติมฟลูออไรด์ลงในน้ำใช้ด้วย งานวิจัยแสดงให้เห็นว่าเด็กที่อาศัยอยู่ในบริเวณที่น้ำประปามีฟลูออไรด์ผสมอยู่จะมีปัญหาฟันผุน้อยกว่าเด็กที่ใช้น้ำประปาแบบไม่เติมฟลูออไรด์ หากน้ำประปาในเขตของคุณไม่ได้เติมฟลูออไรด์ ลองปรึกษาทันตแพทย์เรื่องการใช้ฟลูออไรด์เสริม
โปรดทราบว่าฟลูออไรด์ปริมาณมากเกินไปอาจเป็นอันตรายต่อลูกได้ และอาจทำให้เกิดคราบที่ฟัน ดังนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ควรใช้ยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ หรือน้ำยาบ้วนปากผสมฟลูออไรด์ในปริมาณพอเหมาะ และดูให้แน่ใจว่าลูกไม่กลืนยาสีฟัน
น้ำตาลและอาการฟันผุ
เป็นที่รู้กันว่าฟันผุส่วนใหญ่เกิดจากน้ำตาล และเชื้อแบคทีเรียในช่องปาก เมื่อมีน้ำตาลจากอาหาร ขนม ต่าง ๆ ติดที่ตัวฟัน เชื้อแบคทีเรียจะเปลี่ยนน้ำตาลเป็นกรดซึ่งมีฤทธิ์กัดกร่อนผิวฟัน ทำให้เกิดฟันผุเป็นรูในที่สุด
หลีกเลี่ยงการให้ลูกทานอาหารและเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูง เช่น นมรสหวาน น้ำอัดลม ลูกกวาด อมยิ้ม บิสกิตไส้ครีมหรือไส้ช็อคโกแลต ผลไม้แห้ง ควรให้ลูกทานนมรสจืด ผลไม้สดหรือผักสด เช่น แอปเปิ้ลหั่น ลูกแพร์ แครอท เซเลอรี่ หรือถั่วต่าง ๆ นอกจากนี้คอยดูไม่ให้ลูกนอนหลับไปพร้อมการดูดขวดนม เพราะทำให้มีคราบนมค้างอยู่ที่ฟันเป็นระยะเวลานานซึ่งทำให้เกิดฟันผุได้แน่นอน การให้ลูกมีอาหารการกินที่ดีไม่เพียงแต่จะช่วยให้ลูกมีสุขภาพร่างกายแข็งแรง แต่ยังช่วยให้ห่างไกลจากฟันผุอีกด้วย
จากฟันน้ำนมสู่ฟันแท้
ฟันน้ำนมมักเริ่มขึ้นมาเมื่อลูกอายุ 4 ถึง 7 เดือน โดยฟันหน้าสองซี่ล่างมักขึ้นมาก่อน เด็ก ๆ ส่วนใหญ่จะมีฟันน้ำนมขึ้นครบ 20 ซี่เมื่ออายุ 3 ปี
ฟันน้ำนมของเด็ก ๆ จะเริ่มหลุดออกในช่วงอายุ 6 ถึง 12 ปี โดยเริ่มจากฟันหน้าก่อน ในช่วงนี้ลูกน้อยจะมีส่วนผสมของทั้งฟันน้ำนมและฟันแท้โดยปกติฟันน้ำนมจะหลุดออกก่อนเพื่อเปิดทางให้ฟันแท้ขึ้นมา ยกเว้นฟันกรามแท้ซี่แรกของลูกที่จะขึ้นถัดไปต่อจากฟันน้ำนมซี่สุดท้ายเลยโดยที่ฟันน้ำนมไม่ได้หลุดออกมาก่อน ฟันซี่นี้จึงมีโอกาสผุได้มากที่สุด เพราะอยู่ด้านใน และแปรงยาก ทันตแพทย์จึงมักแนะนำให้เคลือบหลุมร่องฟันเพื่อป้องกันการเกิดฟันผุ
ส่วนฟันแท้ของผู้ใหญ่มีทั้งหมด 32 ซี่ รวมถึงฟันคุดซึ่งมักเกิดขึ้นในช่วงท้ายของวัยรุ่นหรือช่วงวัยผู้ใหญ่ตอนต้น
เมื่อไรที่ควรไปพบทันตแพทย์
ควรไปพบทันตแพทย์ตั้งแต่ฟันน้ำนมซี่แรกขึ้นและไม่เกิน ในช่วงอายุครบ 1 ขวบปีแรก เพื่อตรวจหาปัญหาในช่องปากที่อาจเกิดขึ้นเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโรคในช่องปาก ซึ่งจะช่วยประหยัดเวลา ค่าใช้จ่ายในการรักษา และไม่รบกวนพัฒนาการของลูก
นอกเหนือจากการนัดตรวจตามระยะแล้ว คุณอาจติดต่อหมอฟันได้ตามที่ต้องการ ตัวอย่างเช่นหากลูกน้อยมีปัญหาเจ็บฟัน หรือมีการติดเชื้อในช่องปาก หรือหากลูกฟันแท้หลุด ในกรณีหลังคุณอาจเก็บฟันซี่นั้นมาแช่นมไว้ จากนั้นนำไปพบทันตแพทย์ด้วย ทันตแพทย์อาจติดฟันกลับเข้าที่ได้
รับรองโดย:
ทพญ. ณัชค์สมิน พัชรวิภาคกิจ (18 กุมภาพันธ์ 2022)