การแพ้ถั่วในเด็กเล็กและการป้องกัน
เด็กที่แพ้อาหารจากจำนวน 9 ใน 10 คนนั้น มักแพ้นมวัว ถั่ว หรือกลูเตนในข้าวสาลี
ถึงแม้ว่าอาการแพ้ของเด็กบางคนอาจไม่มากนักแต่ถ้าเป็นเด็กเล็กความรุนแรงอาจเสี่ยงถึงชีวิตได้ ซึ่งการแพ้รุนแรงมีชื่อเรียกว่า Anaphylaxis หรือภูมิแพ้ถั่ว โดยส่วนใหญ่อาการแพ้ในวัยเด็กจะต่อเนื่องไปจนถึงตอนโต อย่างไรก็ตาม มีเด็กอย่างน้อย 1 ใน 5 คนที่อาการแพ้จะหายไปเมื่ออายุ 10 ขวบ
อย่างไรก็ตาม อาการแพ้ถั่วไม่ได้พบเห็นได้บ่อยในแถบตะวันตกและมีจำนวนน้อยกว่ามากในเอเชีย
การแพ้ถั่วเกิดขึ้นได้อย่างไร
สาเหตุการแพ้ถั่วนั้นยังไม่เป็นที่แน่ชัดทางการแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าถ้าพ่อแม่มีประวัติการแพ้จะเพิ่มความเสี่ยงการแพ้ถั่วในลูกได้ อาการแพ้นั้นมักมาร่วมกับโรคผิวหนังอักเสบและการแพ้ไข่
การก่อตัวของอาการการแพ้
การก่อตัวของการแพ้ถั่วนั้นเกิดจากการถูกกระตุ้น เมื่อเด็กเล็กได้กินถั่วในครั้งแรกระบบภูมิคุ้มกันของเขาก็จะเริ่มสร้างสารภูมิต้านทาน และสารภูมิต้านทานนี่เองที่ทำให้เด็กเกิดอาการแพ้ขึ้นมาเมื่อสัมผัสกับถั่วในครั้งต่อ ๆ ไป การสัมผัสนั้นไม่เพียงแค่การกินแต่รวมถึงการสูดดมฝุ่นของถั่วที่อยู่ในอากาศเช่นกัน
อาการเมื่อเด็กแพ้ถั่ว
วิธีสังเกตเมื่อลูกมีอาการแพ้ถั่ว จะเริ่มจากอาการคันและผื่นขึ้น อาการบวมที่ตาปากและหน้า น้ำมูกและน้ำตาไหล อาการเหล่านี้จัดเป็นอาการแบบไม่รุนแรง ในขณะที่เด็กที่เป็นภูมิแพ้ถั่วนั้นจะรุนแรงกว่ามาก อาการที่พบมากได้แก่
- อาการบวมบริเวณลำคอ รวมถึงการหายใจและการกลืนที่ผิดปกติ หรือการไออย่างต่อเนื่อง
- ความดันโลหิตลดลงอย่างฉับพลัน จนผิวหนังหรือริมฝีปากเปลี่ยนเป็นสีน้ำเงิน
- อ่อนแรงหรือหมดสติ
- คลื่นไส้ ท้องเสียและอาเจียน
คำแนะนำสำหรับผู้ปกครองเมื่อพบว่าลูกมีอาการแพ้ คือ การปฐมพยาบาลเบื้องต้น หรือเรียกรถพยาบาลหากภูมิแพ้ถั่วกำเริบเพราะเด็กต้องได้รับการฉีดอิพิเนฟรินทันที
ถ้าลูกมีอาการแพ้
คุณพ่อคุณแม่ไม่ต้องกังวลมากเกินหากลูกได้รับการวินิจฉัยว่าแพ้ถั่ว เพราะคุณหมอสามารถให้คำแนะนำตามอาการให้กับลูกได้ สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรจะทำคือการเลือกสิ่งที่ลูกกินอย่างระมัดระวัง เช่น ดูส่วนประกอบในอาการ และคอยติดตามอาการแพ้ของลูก
มีวิธีการป้องกันหรือไม่
ปัจจุบันยังไม่มีวิธีรักษาอาการแพ้ถั่วให้หายขาด อย่างไรก็ตาม มีงานวิจัยล่าสุดแนะนำว่าการเริ่มให้เด็กได้ลองอาหารที่มีถั่วจำนวนน้อย ๆ ตั้งแต่ช่วง 6 – 12 เดือนจะสามารถช่วยป้องกันอาการแพ้ได้ ถ้าคุณแม่ต้องการให้ลูกลองรับประทานถั่ว ควรทำตามข้อปฏิบัติต่อไปนี้
- เพื่อป้องกันอาการติดคอ ไม่ควรให้ลูกทานถั่วเป็นเม็ด ควรเริ่มจากการลองทานเนยถั่ว หรือถั่วบดจำนวนน้อย ๆ ก่อน
- คุณแม่ควรสังเกตอาการของลูกอย่างใกล้ชิดทุกครั้งที่ได้ลองทานอาหารใหม่ ๆ เพื่อเตรียมรับมือกับอาการแพ้ได้ทันที
- สำหรับเด็กที่มีความเสี่ยงสูง คือมีโรคผิวหนังอักเสบหรือแพ้ไข่ คุณแม่ควรปรึกษาแพทย์เพื่อวางแผนการทดลองทานถั่ว
รับรองโดย:
นพ. ปิยวุฒิ กรีฑาภิรมย์ (31 มีนาคม 2021)