ดาวน์โหลดแอป

ทฤษฎีพัฒนาการทางสติปัญญาของเพียเจต์

ทฤษฎีพัฒนาการทางสติปัญญาของเพียเจต์
ทฤษฎีพัฒนาการทางสติปัญญาของเพียเจต์

พัฒนาการทางสติปัญญาของเด็กนั้นเป็นขั้นตอนที่ซับซ้อนและละเอียดอ่อน แต่คุณพ่อคุณแม่สามารถทำความเข้าใจการเดินทางของลูกน้อยได้ด้วยการศึกษาว่า ฌอง เพียเจต์นั้นแบ่งทั้ง 4 ขั้นตอนของพัฒนาการทางสติปัญญาอย่างไร

ทฤษฎีของเพียเจต์ระบุว่าเราทุกคนต้องพิชิต 4 ขั้นตอนของพัฒนาการทางสติปัญญา ซึ่งก็คือ ขั้นที่ 1 ประสาทการรับรู้และการเคลื่อนไหว ขั้นที่ 2 ขั้นก่อนปฏิบัติการคิด ขั้นที่ 3 การคิดแบบเป็นรูปธรรม ขั้นที่ 4 การคิดแบบเป็นนามธรรม เมื่อใดที่เราผ่านครบทุกขั้นตอนแล้ว ไม่ว่าจะอายุเท่าไหร่ก็ตาม เราจะได้เข้าถึงระดับสติปัญญาของมนุษย์ที่พัฒนาแล้ว

ขั้นที่ 1 ประสาทการรับรู้และการเคลื่อนไหว (อายุ 0 – 2 ปี)
ในขั้นตอนนี้ เราพัฒนาประสาทสัมผัสทั้ง 5 ผ่านประสบการณ์และการเคลื่อนไหว สมองของเราต้องการที่จะมองเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น รับรส และสัมผัสให้ได้มากที่สุด ขั้นตอนแรก เราเริ่มจากปฏิกิริยาตอบสนองแบบง่าย ๆ ซึ่งหลังจากนั้นไม่นานก็จะเริ่มพัฒนามาเป็นนิสัย เมื่ออายุถึง 4 เดือนเราก็จะเริ่มรับรู้สิ่งรอบตัวนอกเหนือจากร่างกายของตัวเองมากขึ้น และเมื่อโตขึ้นก็จะเริ่มเรียนรู้การตั้งใจทำบางสิ่งบางอย่างด้วยตัวเอง ในแง่คิดของเพียเจต์ ก้าวสำคัญของการพัฒนาหน่วยความทรงจำก็คือการรับรู้ความคงอยู่ของวัตถุ เมื่อเราเห็นคุณแม่ยกตุ๊กตาหมีขึ้นมาแล้วซ่อนมันไว้ข้างหลัง เราก็จะคิดว่ามันหายไป แต่เมื่อโตขึ้นเราก็จะเข้าใจว่าตุ๊กตาหมีตัวนั้นยังคงอยู่แม้เราจะมองไม่เห็นมันก็ตาม

เราเริ่มสงสัยในทุกสิ่ง เราอยากดมกลิ่นดอกไม้ อยากชิมอาหาร อยากฟังเสียง และพูดคุยกับคนแปลกหน้า เพื่อที่จะสำรวจได้มากขึ้น เราเริ่มขยับตัว เริ่มเรียนรู้ที่จะนั่ง คลาน ยืน เดิน และอาจจะเริ่มวิ่ง การเคลื่อนไหวร่างกายที่มากขึ้นจึงนำไปสู่การพัฒนาทางปัญญา แต่เราก็ยังคงมุ่นเน้นที่ตัวเองอยู่ ซึ่งหมายความว่าเรามองโลกใบนี้แค่จากมุมมองของตัวเองเท่านั้น

ขั้นที่ 2 ขั้นก่อนปฏิบัติการคิด (อายุ 2 – 7 ปี)
ความคิดของเรายังคงถูกจัดประเภทตามสัญลักษณ์และความคิดโดยสัญชาตญาณอยู่ เรายังคงมีจินตนาการที่เปี่ยมล้นและเชื่อว่าวัตถุต่าง ๆ นั้นมีชีวิตเพราะยังไม่สามารถแยกแยะอะไรที่เฉพาะเจาะจงได้ ดังนั้นเพียเจต์จึงเรียกขั้นตอนนี้ว่า ขั้นก่อนปฏิบัติการคิดนั่นเอง เราเรียนรู้ที่จะพูดและเข้าใจว่าคำศัพท์ รูปภาพ และท่าทางนั้นเป็นสัญลักษณ์สำหรับบางสิ่งบางอย่าง เมื่อเราวาดรูปครอบครัวเราจะไม่เป็นกังวลว่าจะต้องวาดให้ถูกสัดส่วน แต่เราจะวาดจากสัญลักษณ์ที่เรามองเห็นเท่านั้น เราชอบที่จะเล่นเหตุการณ์สมมุติเพราะมันทำให้เราได้เรียนรู้และทดลองสิ่งใหม่ ๆ อีกมากมาย

เมื่ออายุราว 4 ขวบ พวกเราส่วนมากจะเริ่มมีข้อสงสัยและถามคำถาม เราอยากรู้ทุกอย่าง เรียกได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการใช้เหตุผลนั่นเอง ที่เพียเจต์เรียกวัยนี้ว่าวัยแห่ง ‘สัญชาตญาณ’ เพราะในขณะที่เราตระหนักได้ว่าเรามีความรู้มากมาย แต่เรากลับไม่รู้ว่าเราได้มันมาได้อย่างไร ความคิดของเราในขั้นตอนนี้ยังคงมีตัวเองเป็นศูนย์กลางอยู่เพราะเราคิดว่าทุกคนเห็นโลกใบนี้เหมือนอย่างที่เราเห็น และยังไม่เข้าใจว่าคนอื่นมองโลกใบนี้แตกต่างไปจากตัวเราเอง

ขั้นที่ 3 ขั้นปฏิบัติการคิดแบบเป็นรูปธรรม (อายุ 7 – 11 ปี)
ในที่สุดเราก็ค้นพบเหตุผลเชิงตรรกะและเริ่มพัฒนาความคิดแบบเป็นรูปธรรมขึ้นมาแล้ว เช่น การเรียงวัตถุในลำดับที่แน่นอน ตัวอย่างหนึ่งก็คือการใช้เหตุผลแบบอุปนัย ซึ่งแปลว่าหากเราเห็นใครคนหนึ่งกำลังกินคุกกี้ เราก็สามารถหาข้อสรุปแบบคร่าว ๆ ในการกระทำของเขาได้ และถึงตอนนี้เราก็สามารถเข้าใจแนวคิดของ ‘การอนุรักษ์’ ได้แล้ว เราจะเข้าใจว่าหากเราเทน้ำส้มจากแก้วหนึ่งสู่อีกแก้วหนึ่งที่มีรูปทรงสูงกว่า ปริมาณของน้ำส้มนั้นจะยังเท่าเดิม ในขณะที่น้องสาวของเราก็จะเลือกแก้วที่สูงกว่าเพราะคิดว่าจะได้น้ำส้มเยอะกว่า ด้วยหลักการเดียวกันนั้น หาก 3 + 5 = 8 และ 8 – 3 ก็จะต้องเท่ากับ 5

สมองของเราเรียนรู้ที่จะจัดเรียงความติดต่าง ๆ เพื่อจำแนกและสร้างความคิดแบบเป็นรูปธรรมขึ้นมา ยกตัวอย่างเช่น ตอนนี้เราสามารถรู้ได้แล้วว่าการทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งจะย้อนกลับได้โดยการทำสิ่งตรงข้าม พอได้รู้สึกตื่นตาตื่นใจกับวิธีการคิดที่ค้นพบใหม่นี้แล้วเราก็สามารถนำแนวคิดนี้ไปใช้ได้เมื่อพูดคุยกับคนอื่น ตอนทำกิจกรรม และเมื่อเริ่มเรียนการเขียนที่โรงเรียน การประยุกต์ใช้นี้ จะช่วยทำให้เรารู้จักตัวเองมากขึ้น รับรู้และเข้าใจว่าความคิดและความรู้สึกเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวไม่เหมือนกันทุกคน เราเริ่มเรียนรู้ที่จะเอาใจเขามาใส่ใจเรามากขึ้น

ขั้นที่ 4 ขั้นปฏิบัติการคิดแบบเป็นนามธรรม (อายุ 12 ปีขึ้นไป)
เมื่อเราโตขึ้นเป็นวัยรุ่นเราจะเริ่มคิดแบบเป็นนามธรรมได้แล้ว เราสามารถคิดอย่างมีเหตุผลมากขึ้นเกี่ยวกับแนวความคิดที่เป็นนามธรรมและเหตุการณ์แนวสมมติได้ ความสามารถทางปัญญาที่สูงขึ้นทำให้เราเข้าใจแนวคิดแบบที่ไม่สามารถจับต้องได้มากขึ้นแล้ว เช่นความสำเร็จและความล้มเหลว ความรู้สึกรักและความรู้สึกเกลียด เราเริ่มเข้าใจลึกซึ้งมากขึ้นเกี่ยวกับตัวตนและศีลธรรมของตัวเอง และพอจะเริ่มรู้แล้วว่าทำไมคนอื่นถึงทำในสิ่งที่เขาทำ การเข้าใจนี้ทำให้เราเห็นอกเห็นใจผู้อื่นมากขึ้น ตอนนี้สมองของเราสามารถให้เหตุผลแบบนิรนัยได้แล้ว ซึ่งแปลว่าเราสามารถเทียบข้อมูลสองอย่างและนำไปสู่ข้อสรุปแบบมีเหตุผลได้ ทักษะใหม่นี้เองทำให้เราวางแผนและจัดลำดับความสำคัญในชีวิตของตัวเองได้ เราสามารถตั้งสมมติฐานเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่ไม่เกี่ยวข้องกับความเป็นจริงได้ 

ตอนนี้เราสามารถตั้งปรัชญาของตัวเองได้และคิดคำนึงเกี่ยวกับความคิดของตัวเองได้แล้ว การรับรู้ตัวตนของตัวเองนั้นจะเริ่มทำให้เราให้ความสำคัญกับความคิดของตัวเองมากขึ้น และบางคนก็อาจจะเริ่มจินตนาการว่ามีผู้ชมกำลังจับตามองตัวเองอยู่ตลอดเวลา เพียเจต์เชื่อในการเรียนรู้ไปชั่วชีวิต และมั่นใจเสมอว่าขั้นปฏิบัติการคิดแบบเป็นนามธรรมนั้นคือขั้นสุดท้ายของการพัฒนาทางสติปัญญา 

ประวัติของฌอง เพียเจต์
ความสนใจครั้งแรกของ ฌอง เพียเจต์ นั้นจริง ๆ แล้วเกี่ยวกับสัตว์ ซึ่งเขาก็ได้ตีพิมพ์งานวิจัยทางวิทยาศาสตร์งานแรกเกี่ยวกับนกกระจอกเผือกในปี 2450 เมื่ออายุ 11 ปี และในปี 2463 เขาได้เริ่มทำงานเกี่ยวกับชุดการทดสอบทางสติปัญญา เพียเจต์สังเกตว่าเด็กเล็กมักจะทำผิดพลาดในสิ่งเดิม ๆ ซ้ำ ๆ ที่เด็กโตไม่ทำ จึงสรุปได้ว่าเด็กเล็กนั้นมีความคิดที่แตกต่าง และได้ใช้เวลาที่เหลือเพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับการพัฒนาสติปัญญาของเด็กเล็ก

ดาวน์โหลดแอปMali Daily Pregnancy Tracker

แม่มือใหม่ & การตั้งครรภ์

เรตติ้ง 4.8 จากผู้ใช้งานกว่า 5,000+ คน

เรตติ้ง 4.8 จากผู้ใช้งานกว่า 5,000+ คน