เดือนที่ 1 : การดูแลทารกแรกเกิด
ยินดีต้อนรับเข้าสู่เดือนแรกของการเป็นผู้ปกครอง! คุณได้ผ่านด่านช่วงเวลาตั้งครรภ์มาแล้ว ด่านต่อไปคือการเลี้ยงดูลูก นี่เป็นการเริ่มต้นเท่านั้น
ช่วงสัปดาห์แรก ๆ คุณน่าจะยุ่งมากกับการเรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ ไปพร้อมกับการปรับตัวให้เข้ากับกิจวัตรใหม่ของคุณและลูกน้อย
คุณแม่กับลูกเป็นอย่างไรบ้าง
ลูกน่าจะกิน นอน และใช้ผ้าอ้อมหมดไปเยอะมาก ทารกแรกเกิดมักจะใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการนอนมากกว่าตื่น โดยจะนอนแบบไม่เป็นเวลา ประมาณ 16 – 18 ชั่วโมงต่อวัน หลาย ๆ รอบ รอบละประมาณ 1 – 2 ชั่วโมง ทารกจะต้องการดื่มนม 8 – 12 ครั้งต่อวัน และมักใช้ผ้าอ้อม 4 – 8 ชิ้นต่อวัน
สำหรับคุณแม่มือใหม่หลายคน ช่วงสัปดาห์แรกหลังออกจากโรงพยาบาลอาจเป็นช่วงที่หนักหน่วงมาก คุณแม่ต้องฟื้นฟูร่างกายจากการคลอด ทั้งทางร่างกาย (เลือดออกทางช่องคลอด, การฉีกขาดของเนื้อเยื่อช่องคลอด, มดลูกหดตัวคืนสภาพ) และทางจิตใจ (อาการซึมเศร้าหลังคลอด) คุณแม่ต้องปรับตัวเข้ากับเสียงร้องแบบต่าง ๆ ของลูกน้อย เรียนรู้วิธีให้นม อีกทั้งยังต้องปรับตัวเข้ากับวงจรการนอนแบบใหม่ด้วย
หากบทบาทใหม่ในชีวิตนี้ทำให้เกิดความเครียดและวิตกกังวลมากเกินไป การขอความช่วยเหลือจากผู้อื่นก็เป็นสิ่งสำคัญ รายการต่อไปนี้เป็นเรื่องที่ควรรู้เกี่ยวกับการดูแลเด็กแรกเกิด เพื่อที่จะช่วยจัดการเรื่องต่าง ๆ ในช่วงนี้
สุขภาพและความสะอาดของเด็กแรกเกิด
ในช่วงเดือนแรก ชีวิตของลูกจะต้องการการดูแลเป็นพิเศษเมื่อเทียบกับช่วงอื่น ๆ เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกัน และระบบการย่อยอาหารของทารกยังอ่อนแออยู่ คุณหมอหรือพยาบาลผดุงครรภ์อาจช่วยแนะนำการดูแลเด็กแรกเกิดให้คุณมาบ้าง เช่นการอาบน้ำให้ทารก การทำความสะอาดบริเวณที่บอบบาง เช่นสายสะดือ นอกจากนี้อาจสอนวิธีตรวจร่างกายทารกเพื่อตรวจว่าเด็กดื่มนมได้ปกติ และร่างกายเจริญเติบโตได้ดี
ในช่วงเดือนแรกนี้คุณหมออาจทำการนัดเพื่อดูการฟื้นฟูของคุณแม่หลังคลอด และตรวจพัฒนาการของทารก
วิธีดูแลทารกแรกเกิด
คอไม่แข็งแรง: กล้ามเนื้อคอของทารกแรกเกิดยังพัฒนาไม่เต็มที่ อย่างไรก็ตาม กล้ามเนื้อส่วนนี้จะเป็นส่วนแรก ๆ ที่จะพัฒนาจนแข็งแรง ในช่วงสองสามสัปดาห์แรก เมื่อลูกตื่นและอารมณ์ดี ควรให้เขาได้นอนคว่ำเล่นครั้งละสองสามนาทีต่อวันเพื่อให้เขาได้ฝึกการควบคุมกล้ามเนื้อคอ คุณควรช่วยพยุงหลังคอของลูกจนกว่าเขาจะพัฒนากล้ามเนื้อคอจนแข็งแรง
สายสะดือเด็ก: เพื่อป้องกันการติดเชื้อ ควรใช้สำลีก้อนชุบแอลกอฮอล์เพื่อทำความสะอาดสายสะดือวันละครั้ง โดยเช็ดบริเวณโคนสะดือขึ้นมาจนถึงปลายสะดือให้รอบทุกด้าน และผึ่งให้แห้งเอง หลังจาก 1 สัปดาห์สายสะดือน่าจะหลุดออกเอง
อวัยวะที่บอบบางอื่น ๆ : ผิวหนังของทารกบอบบางมาก ดังนั้นควรให้ลูกสวมเสื้อผ้านุ่ม ๆ เพื่อป้องกันการระคายเคือง โดยเฉพาะเสื้อผ้าส่วนที่ใกล้กับคอ ข้อพับแขน และหลังเข่า ควรให้เสื้อผ้าบริเวณนี้แห้งเสมอเพื่อป้องกันผื่นคัน ไม่ควรอาบน้ำให้ลูกบ่อยเกินไป เนื่องจากอาจทำให้ผิวแห้ง และทำให้เกิดการระคายเคืองได้
เสื้อผ้า: หลังจากใส่เสื้อผ้าให้ลูกน้อยแล้วควรตรวจสอบว่าลูกไม่ร้อนหรือหนาวเกินไป วิธีตรวจสอบที่ดีที่สุดคือจับบริเวณมือหรือเท้าของลูก การใส่เสื้อผ้าหลายชั้นเกินไปอาจทำให้ร่างกายร้อนเกิน ซึ่งทำให้เกิดโรคไหลตาย (SIDS) ในทารกได้ ในวันที่อากาศหนาว เด็กทารกมักสูญเสียความอบอุ่นจากบริเวณศีรษะ ดังนั้นดูให้แน่ใจว่าลูกใส่หมวกเพื่อให้ร่างกายอบอุ่น
การนอน: คุณอาจสอนให้ลูกรู้จักความแตกต่างของกลางวันและกลางคืนโดยปกติเด็กทารกแรกเกิดจะไม่สามารถแยกเวลากลางวันหรือกลางคืนได้ แต่คุณพ่อคุณแม่สามารถสอนเขาได้ด้วยการจัดสิ่งแวดล้อมในการนอนให้แตกต่างกัน ตัวอย่างเช่นอาจให้ลูกนอนกลางวันในห้องที่สีสดใสกว่าตอนกลางคืน ควรฝึกให้ลูกมีกิจวัตรก่อนเข้านอน เช่นให้อาบน้ำก่อน จากนั้นดื่มนม จบด้วยการเปิดเพลงให้ฟังก่อนพาลูกเข้านอน การทำแบบนี้จะช่วยให้ลูกติดเป็นนิสัยและนอนง่ายขึ้นในอนาคต
การร้องไห้: หลังจากอยู่ในท้องคุณแม่อย่างสุขสบายเป็นเวลา 9 เดือน ทารกแรกเกิดอาจรู้สึกหวาดกลัวมากเมื่อสิ่งแวดล้อมรอบตัวเปลี่ยนไปอย่ากะทันหัน ทารกบางคนอาจรู้สึกวิตกกังวล และแสดงออกโดยการร้องไห้นานครั้งละหลายชั่วโมง ควรปลอบโยนลูกด้วยการกอดเขาเนื้อแนบเนื้อ และการใช้ผ้าห่อตัวทารกไว้จะช่วยให้เขาปรับตัวได้ดีขึ้น
ในอีกทางหนึ่ง ลูกอาจร้องไห้เพราะหิว, ต้องเปลี่ยนผ้าอ้อม หรือมีเสียงดังรบกวนก็ได้ การร้องไห้เป็นวิธีสื่อสารวิธีเดียวที่เขารู้จัก ดังนั้นควรพยายามตอบสนองด้วยสัมผัสที่อ่อนโยน พูดกับลูกเบา ๆ ด้วยโทนเสียงปลอบโยนให้มากที่สุด คุณจะเริ่มแยกเสียงร้องไห้แบบต่าง ๆ ของลูกได้และสามารถบอกได้ว่าลูกต้องการอะไร
การให้อาหารและอุ้มเรอ: ลูกน้อยจะดื่มนมบ่อยทุก ๆ 1 – 2 ชั่วโมง ทั้งตอนกลางวันและกลางคืน บางครั้งทารกน้อยอาจสะอึก แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าลูกต้องดื่มน้ำ การสะอึกของทารกแรกเกิดมักเกิดจากดื่มนมมากเกินไป การกลืนอากาศมากเกิน หรือดื่มนมเร็วเกินไป การอุ้มเรอหลังจากดื่มนมจะช่วยลดปริมาณอากาศในท้องลูก และบรรเทาอาการโคลิคได้ นอกจากนี้ควรพยายามให้นมลูกตอนกลางคืน เด็กทารกมีกระเพาะเล็ก และต้องการกินอาหารบ่อย ๆ ดังนั้นทารกไม่สามารถทนอยู่ได้ตลอดคืนโดยไม่กินอาหาร
การเติบโต: ในช่วง 2 สัปดาห์แรกหลังคลอดเด็กทารกมักมีน้ำหนักตัวลดลงเล็กน้อย จากนั้นทารกมักน้ำหนักขึ้นมาเท่าเดิมเมื่อเขากินอาหารนอกท้องแม่เป็นแล้ว สัญญาณอื่น ๆ ที่บ่งบอกว่าลูกเจริญเติบโตได้ดีคืออุจจาระเป็นสีเหลืองมัสตาร์ด ปัสสาวะเป็นสีใส ผิวหนังไม่เป็นสีเหลือง และดวงตาขาวสีขาว หากคุณสังเกตการเปลี่ยนแปลงที่ไม่ตรงกับข้างต้น ควรปรึกษากุมารแพทย์
ทำไมจึงควรดูแลเด็กแรกเกิดอย่างเหมาะสม
การดูแลความสะอาดของเด็กแรกเกิด ให้ความอบอุ่นและการดูแลอย่างดีในช่วงสัปดาห์แรก ๆ ของทารกนับเป็นกุญแจสำคัญในพัฒนาการเด็ก เพราะจะช่วยปูพื้นฐานที่แข็งแรงให้กับลูก เขาควรรู้สึกปลอดภัยเพื่อที่จะสามารถฝึกทักษะใหม่ ๆ ที่เขาต้องการใช้เพื่อการพึ่งพาตัวเองได้ในอีกหลายเดือนข้างหน้า
รับรองโดย:
เกศสุภา จิระการณ์ (นักสุขภาพจิต) (18 กุมภาพันธ์ 2022)