ประโยชน์ของช่วงเวลานอนคว่ำเล่น
การฝึกให้ลูกอยู่ในท่าคว่ำสำคัญสำหรับพัฒนาการของลูก เนื่องจากจะได้ฝึกให้เขาใช้กล้ามเนื้อหลายส่วน และฝึกการเคลื่อนไหว
ทั้งนี้ การฝึกนอนคว่ำได้รับการแนะนำโดยสถาบันกุมารเวชศาสตร์อเมริกัน หรือ American Academy of Pediatrics (AAP)
ทำไมท่าคว่ำจึงสำคัญ?
ในปัจจุบันมีการนำเป้อุ้มเด็ก เบาะนั่งสำหรับทารก และเปลไกวมาใช้มากขึ้น หมายความว่าทารกจะไม่ได้ใช้เวลาเพียงพอในการเสริมกำลังกล้ามเนื้อให้แข็งแรง ในการใช้แขนหรือทำให้เด็กได้พัฒนากล้ามเนื้อ เช่น การชันคอ หรือการยืดเหยียดกล้ามเนื้อหลัง ท่านอนคว่ำบนหน้าท้องจะช่วยให้เขาพร้อมที่จะสำรวจโลกรอบตัว ช่วยให้ลูกได้พัฒนากล้ามเนื้อในส่วนของการชันคอ กล้ามเนื้อหลัง และกล้ามเนื้อแกนกลางลำตัว รวมถึงหัวไหล่ เพราะกล้ามเนื้อเหล่านี้มีความจำเป็นต่อการสร้างความแข็งแรงและการประสานงานที่จำเป็นเพื่อให้เป็นไปตามพัฒนาการที่ควรจะเป็นของทารก เช่น การควบคุมศีรษะ การพลิกตัว และการคลาน
การเลือกใช้เป้อุ้มแบบหันหน้าท้องเข้าหาตัวนั้นส่งผลดีต่อลูกมากกว่า เนื่องจากเขาจะได้ใช้กล้ามเนื้อส่วนเดียวกันกับเวลาที่นอนคว่ำ ไม่เหมือนกับเป้อุ้มแบบนอน
จะเกิดอะไรขึ้นหากลูกไม่ได้ใช้เวลานอนคว่ำอย่างเพียงพอ?
หากใช้เวลานอนคว่ำเล่นไม่เพียงพออาจทำให้พัฒนาการสำคัญของเขาล่าช้า หรือแม้กระทั่งนำไปสู่ภาวะต่าง ๆ เช่น ภาวะคอบิด และกลุ่มอาการศีรษะแบน สมาคมกุมารแพทย์ของอเมริกาแนะนำ ให้เด็กนอนหลับในท่านอนหงาย และได้มีโอกาสใช้เวลาในการนอนคว่ำเพื่อให้เด็กได้ฝึกใช้กล้ามเนื้อ
ควรให้ลูกเริ่มใช้เวลานอนคว่ำเล่นตั้งแต่เมื่อใด?
คุณแม่สามารถเริ่มให้ลูกได้นอนเล่นในท่าคว่ำตั้งแต่วันที่คุณกลับมาจากโรงพยาบาล โดยให้จัดให้เขานอนคว่ำแนบอกคุณแม่หรือคุณพ่อ การเริ่มตั้งแต่เนิ่น ๆ และบ่อย ๆ จะช่วยให้ลูกชินกับการนอนคว่ำได้เร็วเพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุด
ลูกต้องการเวลานอนคว่ำเล่นเท่าไหร่?
ในช่วงอายุ 3 เดือน คุณแม่สามารถตั้งเป้าหมายให้ลูกได้นอนคว่ำเล่นมากถึง 1 ชั่วโมงในแต่ละวัน แต่ควรแบ่งเป็นหลาย ๆ ครั้ง ประมาณ 5 นาทีต่อครั้ง แน่นอนว่าลูกต้องใช้เวลาในการทำความคุ้นเคย ในช่วงแรกคุณแม่อาจทำครั้งละ 1 – 3 นาที 3 ครั้งต่อวัน หลังจากเขาเริ่มคุ้นเคยแล้วคุณแม่สามารถเพิ่มได้สูงสุด 20 นาทีต่อวัน โดยแบ่งเป็น 5 – 10 ครั้งภายในเดือนแรก
ในเดือนที่ 2 ให้ใช้เวลา 30 – 40 นาทีต่อวัน ภายในเดือนที่ 3 ให้ขยายเป็น 40 – 60 นาทีต่อวันและคงไว้เท่านี้จนกว่าลูกจะเริ่มคลาน
ทำอย่างไรให้ลูกมีเวลานอนคว่ำเพียงพอ?
วิธีที่ง่ายที่สุดในการตรวจสอบให้แน่ใจว่าลูกมีเวลานอนคว่ำเล่นเพียงพอหรือไม่ คือให้เวลานอนคว่ำเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมที่คุณแม่ทำกับลูกเป็นประจำทุกวัน เช่น ตอนอาบน้ำ ระหว่างเช็ดตัวให้แห้งหลังอาบน้ำ ตอนทาโลชั่น และเปลี่ยนผ้าอ้อม
นอกจากนี้ อาจใช้เวลาในการเล่นเพื่อให้ลูกได้ฝึกฝนการนอนคว่ำ โดยอาจใช้เวลา 2 – 3 นาที ต่อครั้งนอนคว่ำเล่นของเล่น หรือสำรวจและมองสิ่งแวดล้อม และทำซ้ำให้มากที่สุดเท่าที่เขาจะทำได้ ควรระมัดระวังสัญญาณของความเหนื่อยล้าอยู่เสมอ เช่น เมื่อลูกร้องไห้ หรือวางใบหน้าลงกับพื้น หากลูกเริ่มเหนื่อยก็ควรหยุดเล่น
พัฒนาการสำคัญที่เกิดจากการนอนคว่ำ
มีเหตุการณ์สำคัญหลาย ๆ อย่างที่คุณแม่สามารถใช้เพื่อติดตามความคืบหน้าของการฝึกนอนคว่ำของลูกได้ดังนี้:
- เดือนแรก ลูกอาจพยายามยกศีรษะ
- เดือนที่ 2 ลูกน่าจะใช้เวลานอนคว่ำได้มากกว่า 1 นาที แต่อาจยกศีรษะเอียงไปข้างใดข้างหนึ่ง
- เดือนที่ 3 ลูกอาจสามารถยกศีรษะขึ้นได้ในมุม 45 องศา และลงน้ำหนักที่แขนได้คล้ายกับการวิดพื้น
- เดือนที่ 4 ลูกน่าจะยกศีรษะขึ้นได้ในมุม 90 องศา และรักษาตำแหน่งให้อยู่ตรงกลางได้
- เดือนที่ 5 ลูกอาจพยายามยืดตัวไปข้างหน้าเพื่อหยิบของเล่น และสามารถดันข้อศอกให้ตรงได้
- เดือนที่ 6 ขึ้นไป ลูกอาจสามารถพลิกตัวจากท่านอนหงายเป็นนอนคว่ำและทำในทางกลับกันได้ เอื้อมและคว้าของเล่นหมุนเป็นวงกลมขณะนอนคว่ำหน้าได้ เขาอาจคลานไปจับของเล่นที่เคลื่อนไหวได้ และเขาอาจชอบเล่นในท่านอนคว่ำ มากกว่าท่าอื่น ๆ อีกด้วย
รับรองโดย:
ดร. ประภาศรี นันท์นฤมิต (นักจิตวิทยาพัฒนาการ) (31 มีนาคม 2021)