ดาวน์โหลดแอป

สิ่งที่มักเข้าใจผิดเกี่ยวกับการฝึกการนอน

สิ่งที่มักเข้าใจผิดเกี่ยวกับการฝึกการนอน

หลาย ๆ คนมักจะเชื่อว่าการฝึกการนอน จะดีต่อทั้งคุณพ่อคุณแม่ที่อดนอน และลูกน้อยได้ แม้ว่าการฝึกการนอนจะสามารถช่วยให้คุณพ่อคุณแม่นอนหลับสบายตลอดคืน แต่ก็ไม่มีหลักฐานยืนยันว่าจะดีต่อสุขภาพของเด็ก ๆ

รูปแบบการเลี้ยงดูตามวิวัฒนาการชี้ให้เห็นว่าเด็กเล็ก ๆ ไม่ต้องการอะไรมากไปกว่าการอยู่ใกล้ ๆ คุณพ่อคุณแม่ โดยเฉพาะในช่วงเวลากลางคืนที่มืดมิด ดังนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องเข้าใจสิ่งที่มักเข้าใจผิดบ่อย ๆ เกี่ยวกับการฝึกการนอน จะได้รู้ว่าควรฝึกการนอนในสถานการณ์ใดจึงจะเหมาะสม

ความเชื่อที่ 1: การแยกทารกออกไปนอนคนเดียวไม่เป็นอันตราย
ผู้ฝึกสอนการนอนหลับให้เหตุผลว่าการปล่อยทารกไว้ตามลำพังเป็นเรื่องปกติตราบเท่าที่ไม่มีอันตราย

ในขณะนี้เรายังไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนที่มาจากการทดลองกับทารกโดยตรง แต่จากการศึกษาในสัตว์หลายชิ้นแสดงให้เห็นว่า การแยกทารกออกจากแม่ทำให้เกิดความผิดปกติในระบบทางสรีรวิทยาหลายอย่าง เช่น การหายใจ อัตราการเต้นของหัวใจ และฮอร์โมน นอกจากนี้ ยังมีหลักฐานว่า ทารกของมนุษย์เองอาจมีอาการซึมเศร้าได้เมื่อพวกเขาถูกแยกออกจากผู้ดูแล และการฝึกการนอนหลับมักนำไปสู่การแยกทารกออกไปอยู่ตามลำพัง สัญญาณของภาวะซึมเศร้า ได้แก่ การนอนหลับไม่สนิท กินอาหารไม่อิ่มและไม่แสดงออกทางอารมณ์

ความเชื่อที่ 2: การทำให้ทารกตกอยู่ในสถานการณ์ที่ตึงเครียดไม่ได้เป็นอันตราย
ความจริงก็คือ ความเครียดที่ยืดเยื้อเป็นเวลานานอาจเป็นอันตรายต่ออวัยวะและเนื้อเยื่อของร่างกายได้ และจากการศึกษาพบว่าการแยกตัวทารกออกไปอยู่ลำพังอาจสร้างสถานการณ์ที่ตึงเครียดเป็นอย่างมากให้แก่ทารก ดังนั้นการปล่อยให้ลูกน้อยของคุณแม่ร้องไห้โดยไม่มีการตอบสนองไม่เพียงแต่จะทำให้ลูกน้อยเครียดมากเท่านั้น แต่ยังส่งผลเสียต่อสุขภาพทั้งทางจิตใจและร่างกายอีกด้วย

เป็นความจริงที่ว่าหลังจากร้องไห้ไปสักพักลูกน้อยของคุณแม่จะเงียบและหลับไปเอง และเมื่อเวลาผ่านไปพวกเขามักจะหยุดร้องไห้ในสถานการณ์เช่นนี้ แต่มีหลักฐานแสดงให้เห็นว่าแม้ว่าในภายหลังทารกจะแสดงความทุกข์น้อยลงเมื่อขาดการตอบสนองของคุณแม่ในระหว่างการฝึกการนอนหลับ แต่ระดับของฮอร์โมนคอร์ติซอล (ฮอร์โมนสำคัญที่ร่างกายหลั่งออกมาเมื่อเกิดความเครียด) บ่งชี้ว่าความทุกข์ของพวกเขายังคงสูงเหมือนตอนที่คุณแม่เริ่มฝึกการนอนให้แก่พวกเขา

ความเชื่อที่ 3: ทารกควรได้รับการสอนให้พึ่งพาตัวเองได้
ในขณะที่ยังเป็นทารก สมองของพวกเขายังไม่ได้พัฒนาถึงระดับที่จะสามารถเข้าใจได้ว่าสิ่งที่มองไม่เห็นนั้นยังคงมีตัวตนอยู่ พวกเขายังไม่สามารถเข้าใจสิ่งที่เรียกว่า “ความคงอยู่ของวัตถุ” ได้ ดังนั้นเมื่อคุณแม่ทิ้งลูกน้อยไว้ตามลำพัง พวกเขาจะคิดว่าคุณไม่อยู่แล้ว และไม่สามารถเข้าใจได้ว่าคุณแม่นั้นอยู่ใกล้แค่ห้องถัดไป

ความเชื่อที่ 4: ทารกไม่จำเป็นต้องอยู่กับผู้ดูแลในเวลากลางคืน
การคิดว่าทารกไม่ต้องการผู้ดูแลในตอนกลางคืนเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง ลูกน้อยต้องการอยู่กับคุณแม่และค่อย ๆ เรียนรู้ที่จะควบคุมวงจรการนอน การตื่น และหน้าที่อื่น ๆ ด้วยตนเอง การทิ้งทารกน้อยไว้ตามลำพังอาจทำให้พัฒนาการเหล่านั้นผิดปกติได้ โดยขึ้นอยู่กับปัจจัยของพัฒนาการอื่น ๆ

ในกรณีที่ไม่มีผู้ดูแล ระบบการควบคุมดูแลตนเองของทารกอาจไม่ได้รับการพัฒนาอย่างเหมาะสม และอาจมีผลกระทบต่อสุขภาพและพฤติกรรมของทารกในภายหลัง

ความเชื่อที่ 5: ตราบใดที่ทารกไม่ร้องไห้พวกเขาก็สบายดี
ลูกน้อยของคุณแม่ไม่ได้ “สบายดี” แม้ว่าคุณแม่จะรู้สึกว่าเป็นเช่นนั้นหลังจากที่เขาร้องไห้เป็นเวลานานซ้ำ ๆ ในตอนกลางคืนแล้วเขาหยุดร้องไห้ไปเอง  การวิจัยพบว่าทารกเรียนรู้ที่จะหยุดส่งสัญญาณความต้องการหากผู้ดูแลเพิกเฉย นั่นหมายความว่าเมื่อทารกถูกปล่อยให้ร้องไห้โดยไม่มีการตอบสนองใด ๆ เขาก็เรียนรู้ที่จะยอมแพ้ได้ง่าย ๆ เมื่อความพยายามของพวกเขานั้นไม่ได้รับการตอบแทน

ดังนั้นในขณะที่คุณพ่อคุณแม่คิดว่าการที่ลูกน้อยหยุดร้องไห้เป็นเรื่องดี แต่จริง ๆ แล้วอาจส่งผลต่อสภาพจิตใจ และแรงจูงใจของทารกในอนาคต

เช่นเดียวกับการแยกทารกให้อยู่ตามลำพัง การร้องไห้เป็นเวลานานสามารถสร้างความเครียดที่มากผิดปกติให้กับทารกและทำลายพัฒนาการทางสมองของพวกเขาได้

ความเชื่อที่ 6: เด็กดีจะนอนหลับตลอดทั้งคืน
สมมติฐานนี้ไม่เป็นความจริง เพราะแม้แต่ผู้ใหญ่เองก็ไม่ได้นอนหลับตลอดทั้งคืน

ความต้องการการนอนหลับของทารกจะแตกต่างกันไปตามอายุ และเมื่อทารกเติบโตขึ้นปริมาณการนอนหลับที่พวกเขาต้องการจะค่อย ๆ ลดลงอย่างช้า ๆ โดยทั่วไปทารกแรกเกิดจะนอนประมาณ 8 ถึง 9 ชั่วโมงในตอนกลางวัน และประมาณ 8 ชั่วโมงในตอนกลางคืน แต่พวกเขาจะนอนหลับเป็นช่วงสั้น ๆ และอาจนอนไม่เกิน 1 – 2 ชั่วโมงต่อครั้ง

เมื่อทารกตื่นตอนกลางคืนแต่ละครั้ง เขาอาจต้องการการปลอบโยนเพื่อให้นอนหลับไปอีก เมื่อพ่อแม่ไม่อยู่ตรงนั้นเพื่อปลอบลูก ก็อาจส่งผลต่อการเจริญเติบโตและการพัฒนาของเขา

ความเชื่อที่ 7: เด็กที่ผ่านการฝึกการนอนจะหลับลึกขึ้น
ไม่จริง ในอดีต การวิจัยส่วนใหญ่ทำโดยการถามผู้ปกครองเกี่ยวกับรูปแบบการนอนหลับของบุตรหลาน พ่อแม่ที่ให้ลูกนอนคนเดียวมักจะบอกว่าลูกไม่ค่อยตื่น แต่พวกเขาลืมนึกไปว่าพวกเขานอนแยกห้องกับลูก แต่พ่อแม่ที่นอนข้าง ๆ ลูกมักจะบอกว่าลูกของพวกเขาตื่นบ่อย

ทุกวันนี้เรามีข้อมูลมากขึ้น การวิจัยใหม่ ๆ ไม่ได้อาศัยเพียงแค่การสังเกตการนอนหลับของพ่อแม่เท่านั้น แต่ทำได้โดยการบันทึกด้วยกล้องมองกลางคืน และจากการศึกษาเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าเด็กที่มีอายุระหว่าง 1 – 4 ปี ไม่ว่าเด็กจะได้รับการฝึกการนอนหลับหรือไม่ ก็มีแนวโน้มที่จะตื่น 6 – 10 ครั้งในตอนกลางคืน โดยมักจะผ่อนคลายตัวเองแล้วกลับไปนอนโดยที่พ่อแม่ไม่รู้

ความเชื่อที่ 8: การศึกษาเกี่ยวกับการฝึกการนอนหลับสามารถบอกเราเกี่ยวกับผลกระทบระยะยาวต่อความเป็นอยู่ที่ดีของเด็กได้
เป็นการยากที่จะทำการศึกษาเกี่ยวกับการฝึกการนอนหลับที่ครอบคลุมถึงผลระยะยาวต่อพัฒนาการและความเป็นอยู่ของทารก  การศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการฝึกการนอนหลับส่วนใหญ่ทำเพื่อตรวจสอบว่าการฝึกการนอนหลับให้เด็กนั้นมีประสิทธิภาพในการทำให้เด็กนอนหลับได้เองหรือไม่ เพื่อให้คุณพ่อคุณแม่มีเวลานอนหลับได้มากขึ้น

การศึกษาเหล่านี้มักใช้มาตรฐานของวัตถุประสงค์เป็นพื้นฐาน ซึ่งไม่ได้ตรวจสอบด้วยซ้ำว่ากลุ่มตัวอย่างที่นำมาเปรียบเทียบนั้นกำลังทำอะไรอยู่ แม้ว่าจะเปรียบเทียบผลลัพธ์ แต่ผลลัพธ์ก็ไม่มีความน่าเชื่อถือและมีข้อจำกัดในความน่าเชื่อถือ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องยากที่จะวัดได้ว่าทารกมีประสบการณ์อย่างไร และผลกระทบในระยะยาวคืออะไร

การฝึกการนอนหลับเป็นทางเลือกที่เหมาะสมเมื่อใด
หากคุณเหนื่อยเกินไปในการทำหน้าที่พ่อแม่ที่ดีและเอาใจใส่ลูกน้อยตลอดเวลาในระหว่างวัน เนื่องจากการนอนไม่พอในตอนกลางคืน การฝึกการนอนหลับอาจเป็นทางเลือกที่เหมาะสม หากเป็นเช่นนั้นตรวจสอบให้แน่ใจว่าคุณแม่ได้ทำความเข้าใจเกี่ยวกับแนวทางที่เหมาะสมเพื่อให้การฝึกการนอนหลับของลูกน้อยเป็นไปอย่างราบรื่นที่สุด

หากคุณแม่เลือกที่จะฝึกการนอนหลับเพราะคิดว่าดีสำหรับลูกน้อยของคุณ ควรคิดทบทวนให้ดีและเชื่อมั่นในสัญชาตญาณพื้นฐานของลูกน้อยและคุณแม่เอง

ดาวน์โหลดแอปMali Daily Pregnancy Tracker

แม่มือใหม่ & การตั้งครรภ์

เรตติ้ง 4.8 จากผู้ใช้งานกว่า 5,000+ คน

เรตติ้ง 4.8 จากผู้ใช้งานกว่า 5,000+ คน