โรคภูมิแพ้ในวัยเด็ก

บทสัมภาษณ์เจาะลึกกับ นพ.ปิยะวุฒิ กรีฑาภิรมย์ กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิแพ้ ถึงสาเหตุที่เด็กเล็ก ๆ เป็นภูมิแพ้กันมากขึ้นเรื่อย ๆ
อัตราการเป็นโรคภูมิแพ้ในเด็กไทยเพิ่มสูงขึ้นจริงหรือ
มีปัจจัยสองอย่างประกอบกันครับ สมัยก่อนมีงานวิจัยที่เก็บอัตราการเกิดโรคภูมิแพ้ในประเทศไทย พบว่ามีอยู่น้อยกว่าสิบเปอร์เซ็นต์ แต่เมื่อมีการเก็บข้อมูลใหม่ในช่วง 10 ปีหลังจากนั้นก็พบว่ามีอัตราสูงขึ้นมาก คืออยู่ที่ประมาณ 12% โดยเฉพาะในโรคภูมิแพ้ทั่วไป สูงถึง 20% ทีเดียว
ซึ่งการที่มันเพิ่มขึ้นเยอะ อาจจะเกิดจากหลายปัจจัย ทั้งจากวิธีการเก็บข้อมูลงานวิจัยที่ดีขึ้น หมอส่วนใหญ่ก็เริ่มรู้จักโรคภูมิแพ้มากขึ้น จากที่แต่ก่อนอาจจะมองว่ามันเป็นอาการเจ็บป่วยทั่วไป ซึ่งความจริงมันไม่ใช่ และอีกปัจจัยคือ อาจเกิดจากการเลี้ยงดู และสิ่งแวดล้อม
อะไรเป็นสาเหตุให้อัตราการเกิดโรคภูมิแพ้เพิ่มขึ้น?
การเลี้ยงดูก็เป็นปัจจัยด้านหนึ่ง การกินอาหารที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น การกินอาหารแบบคนทางตะวันตก เช่น ข้าวขัดสี หรือผลิตภัณฑ์จากนมวัวมากจนเกินไป รวมไปถึงการใช้ชีวิตอยู่แต่ในเมือง ไม่ได้ไปสัมผัสธรรมชาติ สัมผัสดินหรือหญ้าบ้าง สิ่งเหล่านี้ทางผู้เชี่ยวชาญก็มองว่า น่าจะเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดอาการของโรคภูมิแพ้ที่เพิ่มมากขึ้น
เด็ก ๆ มีอาการแพ้ประเภทใดบ้าง?
ต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่า โรคภูมิแพ้เป็นคำกว้าง ๆ แต่ครอบคลุมหลายกลุ่มโรค หมอจะไล่ไปตามช่วงวัย ดังนี้
- วัยแรกเกิด (0-1 ปี): ทารกแรกเกิดมักมีอาการแพ้ 2 ประเภท ได้แก่ การแพ้อาหาร คืออาการที่เกิดจากการรับประทานอาหาร เช่นคันตา ริมฝีปากบวมผื่นขึ้น ปวดท้องและอาเจียน แพทย์จะสังเกตอาการเพื่อระบุว่าเป็นโรคภูมิแพ้หรือไม่ เพื่อที่คุณแม่จะได้หลีกเลี่ยงการให้อาหาร หรือรับประทานอาหารชนิดนั้น ๆ อีก อาการแพ้อื่น ๆ สำหรับทารกแรกเกิด คือ โรคแพ้สัมผัส เด็กแรกเกิดจะมีผิวแห้ง และมีผื่นแดง บางรายมีผื่นเป็นวงกลมที่แก้ม หรือมีน้ำเหลืองเยิ้ม
- วัยหัดเดิน (1-3 ปี): โรคภูมิแพ้ที่พบบ่อยที่สุดอย่างหนึ่งในเด็กวัยนี้คือ หลอดลมไวต่อการกระตุ้น เด็ก ๆ จะเหนื่อยง่าย เป็นหวัดง่าย หรือหายใจลำบาก
- วัยเด็กเล็ก (3-5 ปี): ภาวะหลอดลมที่ไวต่อการกระตุ้นอาจนำไปสู่โรคหอบหืด หากเด็กเหนื่อยง่ายหลังจากเล่นไปได้สักพักก็ต้องพักผ่อนเยอะ ๆ หรือไอขณะวิ่ง พวกเขาอาจต้องพึ่งเครื่องพ่นยาขยายหลอดลม เพื่อช่วยรักษาให้หายใจได้สม่ำเสมอ
นอกเหนือไปจากโรคภูมิแพ้ตามช่วงวัยแล้ว เด็ก ๆ 30% ในปัจจุบันยังเป็นโรคจมูกอักเสบหรือที่เรียกว่าโรคภูมิแพ้ทั่วไป อาการคือมีน้ำมูกไหล จามตอนเช้า นอนกรน หายใจเสียงดัง และเป็นหวัดบ่อย ๆ
ในบางคน เมื่อโตขึ้น ดูเหมือนว่าอาการของโรคพวกนี้จะหายไป แต่พอเข้าสู่ช่วงวัยกลางคน อายุสี่สิบกว่า อาการเหล่านี้ก็จะกลับมาอีก เพราะร่างกายเริ่มอ่อนแอลง เหล่านี้คือสิ่งที่หมอพบจากการเก็บข้อมูลของคนไข้
หากสงสัยว่าลูกเป็นภูมิแพ้ ต้องพาไปหาหมอทันทีหรือไม่?
หากพบอาการของภูมิแพ้รุนแรง เช่น ริมฝีปากและตาบวม หรือหายใจลำบาก คุณแม่ควรพาลูกน้อยไปพบแพทย์ทันที แต่คุณแม่ไม่จำเป็นต้องรีบหากมีอาการน้อย เช่น ผื่นเล็ก ๆ หรือผิวแห้ง แต่ถ้าหากเริ่มสงสัยว่าลูกน้อยเป็นโรคภูมิแพ้ควรไปพบแพทย์เพื่อให้แพทย์วินิจฉัยดีกว่าการค้นหาข้อมูลในอินเทอร์เน็ต เนื่องจากมีแหล่งข้อมูลที่ไม่น่าเชื่อถือมากมาย ซึ่งอาจทำให้คุณแม่มองข้ามปัญหาร้ายแรงไป
หากลูกมีผื่นขึ้น แสดงว่าลูกแพ้อาหารหรือไม่?
การมีผื่นขึ้นไม่ได้หมายถึงอาการแพ้เสมอไป ทารกส่วนใหญ่เกิดมาพร้อมกับผื่นและจุดแห้งซึ่งมักจะหายไปได้เองใน 2 – 3 เดือน
หากคุณแม่กินอะไรซ้ำ ๆ ช่วงตั้งครรภ์ มีส่วนทำให้ลูกแพ้อาหารชนิดนั้นหรือไม่?
สูติแพทย์แนะนำให้คุณแม่ปรับสมดุลของการรับประทานอาหารในขณะตั้งครรภ์ ไม่ควรงดอาหารอย่างใดอย่างหนึ่งโดยสิ้นเชิง และไม่ควรรับประทานอาหารบางชนิดมากจนเกินไป อาหารที่คุณแม่หลีกเลี่ยง หรือรับประทานมากเกินไปนั้น อาจกลายเป็นอาหารที่ลูกน้อยในครรภ์แพ้ได้ ดังนั้นควรรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพและหลากหลาย
ลูกสามารถแพ้อาหารผ่านน้ำนมแม่ได้จริงหรือ?
เป็นเรื่องจริง อาหารบางอย่างสามารถผ่านไปทางนมแม่สู่ลูกน้อยได้ เช่น นมวัว ไข่ หรือถั่วเหลือง และอาหารชนิดอื่น ๆ แต่มีทารกเพียงไม่กี่รายเท่านั้นที่แสดงอาการแพ้ ทารกจะต้องแพ้อย่างรุนแรงถึงจะได้รับผลกระทบจากปริมาณเล็กน้อยเช่นนี้ โดยปกติแล้วคุณแม่สามารถรับประทานอะไรก็ได้ที่ต้องการตราบเท่าที่อาหารนั้นไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ
คำแนะนำอื่น ๆ
แนะนำให้คุณแม่ให้ลูกน้อยได้ลิ้มรสอาหารทุกอย่างเท่าที่ทำได้ ปล่อยให้เขาได้เล่นข้างนอก และได้เล่นซนตามประสาเด็ก ๆ ระมัดระวังได้แต่อย่ากลัว
รับรองโดย:
นพ. ปิยวุฒิ กรีฑาภิรมย์ (31 มีนาคม 2021)