ท่านอนต่างๆ ของลูก: ผลดีและผลเสีย
ท่านอนของลูกน้อยจะเป็นตัวบ่งบอกว่าลูก ได้นอนอย่างสงบและปลอดภัยหรือไม่ ท่านอนของทารกจะมีด้วยกัน 3 ท่าคือท่านอนคว่ำ ท่านอนตะแคงและท่านอนหงาย ในช่วง 12 เดือนแรก เราแนะนำให้นอนท่าเดียวเท่านั้น
ท่านอนคว่ำ
มีหลายเหตุผลที่ไม่สนับสนุนท่านอนคว่ำ ดังนี้
- ลูกน้อยอาจหายใจเอาฝุ่นที่อยู่ในฟูกเข้าไป
- เป็นท่าที่อาจกดทับบริเวณกรามของลูก ปิดช่องทางเดินหายใจและทำให้หายใจลำบากได้ ซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงการเป็นโรคไหลตายในทารก หรือ Sudden Infant Death Syndrome (SIDS)
- ลูกอาจหายใจไม่ออกได้หากฟูกที่นอนนุ่มเกินไป
ช่วงก่อนปี ค.ศ. 1991 คำแนะนำส่วนใหญ่ที่พ่อแม่ได้รับคือให้ลูกนอนคว่ำ นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมผู้สูงอายุหลาย ๆ คนยังยืนยันว่าการนอนคว่ำเป็นท่าที่ดีที่สุด อย่างไรก็ตาม งานวิจัยเพิ่มเติมได้แสดงให้เห็นว่า เด็กที่นอนคว่ำมีความเสี่ยงเป็นโรคไหลตายสูงขึ้นถึง 12 เท่า คำแนะนำใหม่ที่ให้เด็กนอนหงายนั้นช่วยลดปริมาณการเป็นโรคไหลตายได้มาก ปัจจุบันมีเพียงบางกรณีเท่านั้นที่คุณหมอจะแนะนำให้เด็กนอนคว่ำ เช่น หากเด็กทารกมีอาการป่วยบางประการ
ท่านอนตะแคง
ร่างกายของเด็กทารกนั้นแตกต่างจากผู้ใหญ่พอควร ดังนั้นการนอนตะแคงเป็นเวลานาน ๆ อาจทำให้มีผลกระทบต่อสุขภาพได้ อาการที่ตามมาอาจมีหลายอย่าง เช่น สีผิวเปลี่ยนไป อาการคอบิด หัวแบน และความเสี่ยงต่อการสำลัก นอกจากนี้ ยังมีความเป็นไปได้ที่เด็กทารกที่นอนตะแคงจะพลิกตัวและเปลี่ยนเป็นท่านอนคว่ำ
ท่านอนหงาย
ท่านอนหงายถือเป็นท่าที่ดีที่สุดสำหรับเด็ก เพราะพบว่าช่วยลดความเสี่ยงการเป็นโรคไหลตาย เนื่องจากเป็นท่าที่ไม่ขัดขวางทางเดินหายใจ
หลังจากสถาบันกุมารเวชศาสตร์ ประเทศสหรัฐอเมริกาประกาศแนะนำให้เด็กทารกนอนหงายในปี ค.ศ. 1992 อัตราการเป็นโรคไหลตายในทารกก็ลดลงมากกว่า 50% ต่อมาการแนะนำให้นอนหงายนี้จึงกลายเป็นส่วนหนึ่งของแคมเปญส่งเสริมการนอนอย่างปลอดภัยด้วย
โดยสรุปแล้วเด็กทารกที่ไม่มีอาการทางสุขภาพใด ๆ ควรนอนหงายเสมอเมื่อต้องนอนงีบระหว่างวันหรือนอนหลับช่วงกลางคืน
รับรองโดย:
เกศสุภา จิระการณ์ (นักสุขภาพจิต) (31 มีนาคม 2021)