เคล็ดลับในการเล่นกับเด็กเล็ก
การเล่นจะช่วยสร้างความผูกพันที่พิเศษระหว่างคุณแม่กับลูก และยังช่วยกระตุ้นการพัฒนาสมองอีกด้วย
ในช่วง 5 ปีแรก เป็นเรื่องจำเป็นที่คุณแม่ควรให้ความสำคัญกับการเล่นเป็นอันดับแรก ๆ โดยเน้นการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมกับผู้อื่น เพราะนอกจากช่วยเพิ่มพัฒนาการทางสมองแล้ว การเล่นยังจะส่งเสริมพัฒนาการด้านภาษา สติปัญญา ทักษะทางอารมณ์ และสังคมได้
สำหรับเด็กเล็ก การเล่นสามารถทำได้ทุกรูปแบบ และคุณแม่อาจเป็นเพื่อนเล่นคนโปรดของลูก เคล็ดลับในการเล่นกับลูกมีดังนี้:
ให้ลูกเป็นผู้นำ: ให้ของเล่นหรือสิ่งของต่าง ๆ ให้แก่ลูก และเฝ้าดูว่าลูกจะทำอย่างไรกับของเหล่านั้น ไม่สำคัญว่าเขาจะเล่นของชิ้นนั้นได้ถูกวิธีหรือไม่ คุณแม่อาจเรียนรู้วิธีใหม่และเล่นไปพร้อม ๆ กัน เด็ก ๆ จะเรียนรู้ได้มากที่สุดจากการเล่นเมื่อพวกเขาเริ่มเล่น ดังนั้นอย่าลืมแบ่งเวลาและพื้นที่ให้กับลูก อย่างเพียงพอ ให้เขาเป็นผู้นำ ถ้าเราบอกเด็กว่าต้องเล่นอะไร หรือเล่นอย่างไร นั่นจะทำให้พวกเขารู้สึกว่าน่าเบื่อ ลองลดการคำนึงถึงประโยชน์ของการเล่นเพื่อพัฒนาการ และไม่ต้องสอดแทรกทักษะใด ๆ การให้พวกเขาได้พัฒนาทักษะการเป็นผู้นำนั้นสำคัญกว่า
ค่อยเป็นค่อยไป: คุณแม่ไม่จำเป็นต้องกระตุ้นให้เขาเรียนรู้วิธีการเล่นของเล่น คุณแม่อาจแค่แสดงขั้นตอนแรก ๆ ของการเล่น และให้คำแนะนำที่เพียงพอเพื่อป้องกันความสับสน จุดมุ่งหมายคือเพื่อกระตุ้นให้ลูกได้เรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ และพัฒนาความมั่นใจในการทำสิ่งนั้นด้วยตนเอง
ส่งเสริมการสื่อสาร: ในขณะที่ลูก เล่นอยู่ คุณแม่ควรตอบสนองต่อเสียงหรือการเคลื่อนไหวของเขาตลอดเวลา เพื่อแสดงว่าคุณแม่สนใจในสิ่งที่ลูก กำลังทำอยู่
อ่านสัญญาณของลูก: เนื่องจากคุณแม่อาจไม่ได้เข้าใจในสิ่งที่เขาพยายามจะบอกอยู่เสมอ ดังนั้นคุณแม่อาจลองอ่านท่าทางและการแสดงออกทางสีหน้าของเขา เพื่อให้รู้ว่าลูกกำลังต้องการอะไร
ตรวจสอบให้แน่ใจว่าพื้นที่ที่จะเล่นปลอดภัย: ไม่ว่าคุณแม่จะให้ลูกเล่นภายในบ้าน หรือที่สวนสาธารณะ ควรตรวจสอบเพื่อให้แน่ใจว่าพื้นที่ที่จะเล่นนั้นปลอดภัย เหมาะสำหรับเด็กและเหมาะสำหรับประเภทของเกมที่คุณแม่ต้องการจะเล่นกับเขา
เล่นซ้ำแล้วซ้ำอีก: แม้ว่าการเล่นเกมเดิม ๆ ซ้ำ ๆ อาจไม่สนุกสำหรับคุณแม่ แต่สำหรับเด็ก ๆ แล้ว พวกเขาชอบการเล่นซ้ำ ๆ เพราะจะช่วยให้พวกเขาเรียนรู้เกมได้ดีขึ้น และรู้สึกมั่นใจในการเล่นเกมนั้นมากขึ้น การเรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ จะทำให้พวกเขารู้สึกภาคภูมิใจในตนเองเป็นอย่างมาก
รับรองโดย:
เกศสุภา จิระการณ์ (นักสุขภาพจิต) (31 มีนาคม 2021)