โรคไหลตายในทารก (SIDS)
โรคไหลตายในเด็กทารก (Sudden infant death syndrome หรือ SIDS) เกิดขึ้นเมื่อเด็กทารกเสียชีวิตกะทันหันโดยไม่มีสาเหตุ ทั้ง ๆ ที่ดูมีสุขภาพดี โดยมักเกิดกับเด็กทารกอายุต่ำกว่า 12 เดือน และมักเกิดขณะนอนหลับ
ปริศนาของโรคไหลตายในทารก
โรคไหลตายในทารกมักถูกพูดถึงในชื่อ “โรคไหลตายในเปลเด็ก” เนื่องจากเด็กทารกมักเสียชีวิตในเปลเด็ก โรคนี้ยังเป็นปริศนาเนื่องจากไม่สามารถระบุสาเหตุแน่ชัดได้ อย่างไรก็ตามเด็กบางคนมีความเสี่ยงในการเกิดโรคมากกว่าคนอื่น ๆ โรคไหลตายในทารกมักเกิดในเด็กทารกที่มีอายุระหว่าง 1-4 เดือน และเกิดกับเด็กผู้ชายมากกว่าเด็กผู้หญิง
สาเหตุที่เป็นไปได้
ปัจจุบันเรายังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดที่ทำให้เกิดโรคไหลตายในทารก แต่นักวิจัยเชื่อว่าปัจจัยทางร่างกาย สิ่งแวดล้อมในการนอนหลับ และปัจจัยเฉพาะของเด็กแต่ละคนจะเป็นตัวเพิ่มความเสี่ยงให้แก่ทารกได้
ปัจจัยทางร่างกาย
ปัจจัยทางร่างกายที่มีส่วนทำให้เกิดโรคไหลตายมีดังนี้
- การติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ
- น้ำหนักแรกคลอดต่ำกว่าปกติ
- ความผิดปกติทางสมอง
สิ่งแวดล้อมในการนอนหลับ
สิ่งแวดล้อมในการนอน เช่น ท่าทางในการนอนของทารก รวมไปถึงปัจจัยอื่น ๆ ต่อไปนี้อาจทำให้เกิดโรคไหลตายในทารกได้
- การนอนคว่ำหรือนอนตะแคง
- ทารกนอนบนที่นอนที่นุ่มเกินไป
- ทารกนอนร่วมเตียงกับพ่อแม่
- อุณหภูมิในร่างกายทารกสูงเกินไป
ปัจจัยเฉพาะของเด็กแต่ละคนที่อาจส่งผลให้เกิดโรคไหลตายในทารก
- การคลอดก่อนกำหนด: เด็กทารกที่คลอดก่อนกำหนด และมีน้ำหนักแรกคลอดต่ำกว่าเกณฑ์จะมีความเสี่ยงในการเป็นโรคไหลตายมากกว่า
- ประวัติของครอบครัว: ครอบครัวบางครอบครัวมีประวัติมีทารกเคยเป็นโรคไหลตายหลายคน
- เชื้อชาติ: ทารกที่ไม่ได้เป็นคนขาวจะมีความเสี่ยงเป็นโรคไหลตายมากกว่า ซึ่งยังไม่ทราบว่าเป็นเพราะอะไร
- อายุ: เด็กทารกจะอ่อนแอมากที่สุดในช่วง 1-4 เดือนแรกของชีวิต
- เพศ: เด็กผู้ชายมีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตจากโรคไหลตายมากกว่าเด็กผู้หญิง
ปัจจัยจากคุณแม่ที่ทำให้เสี่ยงต่อโรคไหลตายในทารก
ความเสี่ยงในการเป็นโรคไหลตายในทารกอาจเพิ่มขึ้นได้จหากคุณแม่มีลักษณะต่อไปนี้
- มีอายุต่ำกว่า 20 ปี
- คุณแม่ใช้สารเสพติด หรือดื่มแอลกอฮอลล์
- คุณแม่ไม่ได้รับการดูแลเท่าที่ควรระหว่างตั้งครรภ์
- คุณแม่สูบบุหรี่
ยิ่งไปกว่านั้นหากคุณพ่อสูบบุหรี่ด้วย เด็กทารกอาจสูดควันบุหรี่มือสองเข้าไป ซึ่งทำให้เป็นอันตรายได้
ข้อควรปฏิบัติเพื่อหลีกเลี่ยงโรคไหลตายในทารก
ถึงแม้จะไม่มีวิธีเฉพาะเจาะจงที่จะช่วยป้องกันการเกิดโรคไหลตายในทารก แต่เทคนิคการนอนหลับเหล่านี้ก็อาจช่วยให้ลูกน้อยปลอดภัยมากขึ้น
- ให้ลูกดูดนมจากเต้านม: การให้นมลูกจากเต้าอย่างน้อย 6 เดือนจะช่วยลดความเสี่ยงการเป็นโรคไหลตายได้
- นอนห้องเดียวกับทารกน้อย: วิธีที่ดีที่สุดคือให้ลูกน้อยนอนร่วมห้องกับคุณพ่อคุณแม่ในเตียงเด็กหรือในเปลเด็กอย่างน้อยเป็นเวลา 6 เดือน
- ให้ความอบอุ่นแก่ลูก แต่ไม่ควรอุ่นมากเกินไป: ไม่ควรคลุมหัวลูก อาจจะแค่ให้นอนในถุงนอน หรือใส่เสื้อผ้าที่อุ่นพอดีโดยไม่ต้องห่มผ้าเพิ่มเติม
- ให้ลูกฉีดวัคซีน: มีหลักฐานมากมายพิสูจน์ว่าการให้ภูมิคุ้มกันแก่ทารกจะช่วยป้องกันโรคไหลตายในทารกได้
- ลองใช้จุกนมหลอก: ให้ลูกดูดจุกนมหลอกแบบไม่มีเชือกหรือสายผูกในเวลานอน อาจช่วยลดความเสี่ยงการเป็นโรคไหลตายในทารกได้
- หลีกเลี่ยงการใช้เครื่องเบบี้มอนิเตอร์: สถาบันกุมารเวชศาสตร์แห่งอเมริกาแนะนำให้หลีกเลี่ยงการใช้กล้องส่องดูเด็กหรือเบบี้มอนิเตอร์ รวมไปถึงอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่อ้างว่าช่วยลดความเสี่ยงของโรคไหลตายได้ เนื่องจากอุปกรณ์เหล่านี้ไม่ได้ผล และอาจไม่ปลอดภัยอีกด้วย
- ทำเตียงเด็กให้โล่งเข้าไว้: หลีกเลี่ยงการให้ลูกนอนบนฟูกที่หนานุ่ม เช่นหนังแกะ หรือผ้านวม ควรใช้ฟูกที่แน่น และไม่ควรใส่หมอน ของเล่น หรือตุ๊กตาสัตว์ในเตียงเด็ก เนื่องจากของเหล่านี้อาจไปกีดขวางการหายใจของเด็กได้
- ให้ลูกนอนหงาย: ลูกน้อยควรนอนหงายเสมอ เนื่องจากการนอนหงายจะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคไหลตาย เป็นที่รู้กันว่าการนอนตะแคง หรือนอนคว่ำจะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคไหลตายในทารก