ดาวน์โหลดแอป

ความผูกพัน 4 ประเภทที่ส่งผลต่อบุคลิกและนิสัยของเด็ก

ความผูกพัน 4 ประเภทที่ส่งผลต่อบุคลิกและนิสัยของเด็ก
ความผูกพัน 4 ประเภทที่ส่งผลต่อบุคลิกและนิสัยของเด็ก

ชีวิตในวัยเด็กนั้นมีอิทธิพลต่อการเจริญเติบโตกลายมาเป็นผู้ใหญ่ในวันข้างหน้า โดยมีความสัมพันธ์ 4 ประเภทที่หล่อหลอมให้เด็กโตมาเป็นผู้ใหญ่ที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง 

ทฤษฎีความผูกพันระบุว่าการมีสายสัมพันธ์ที่มั่นคงกับคนเลี้ยงดูในปีแรกที่เกิดมา ทั้งทางกายและทางอารมณ์นั้นมีผลดีต่อพัฒนาการมากที่สุด เพราะเมื่อความสัมพันธ์ยิ่งแน่นแฟ้น เราก็สามารถสร้างความรู้สึกปลอดภัยต่อสภาพแวดล้อม และยิ่งทำให้เรากล้าออกไปสำรวจโลกภายนอกมากขึ้น เราจะรู้ว่าเรายังมีที่ที่ปลอดภัยให้กลับมาหาอยู่เสมอ แต่หากความผูกพันของเราอ่อนแอเราก็จะไม่สามารถรู้สึกมั่นใจ และไม่กล้าที่จะออกไปสำรวจโลกภายนอกที่ดูน่ากลัว เพราะเราไม่แน่ใจว่าจะได้กลับมาหรือเปล่า

คนที่มีความรู้สึกปลอดภัยในสิ่งแวดล้อมนั้นมักจะมีความไว้เนื้อเชื่อใจมากกว่าและสามารถเข้ากับคนอื่นได้ง่ายกว่า และทำให้ประสบความสำเร็จในชีวิตมากขึ้น ส่วนคนที่มีความสัมพันธ์ที่อ่อนแอ มักจะไม่เชื่อใจใคร ขาดทักษะการเข้าสังคม และมีปัญหาด้านการสร้างความสัมพันธ์กับผู้อื่น ความผูกพันที่มั่นใจนั้นมี 1 แบบ และความผูกพันที่อ่อนแอ มี 3 แบบ ซึ่งก็คือ ความผูกพันแบบวิตกกังวล / ลังเล ความผูกพันแบบวิตกกังวล / หลีกเลี่ยง ความผูกพันแบบวิตกกังวล / ไร้ทิศทาง การจัดการกับความเครียดของทุกกลุ่มยกเว้นกลุ่มสุดท้ายจะมีความเป็นระเบียบ ซึ่งกลุ่มสุดท้าย (ความผูกพันแบบวิตกกังวล / ไร้ทิศทาง) นั้นจะตอบสนองต่อความเครียดแบบไม่มีระบบระเบียบ

เพื่อที่จะเข้าใจทฤษฎีได้มากขึ้น เรามาดูเรื่องราวเกี่ยวกับครอบครัวตัวอย่างและลูกทั้ง 4 คน ลูก้า แอนน์ โจและ เอมี่ ทั้งพ่อและแม่ของพวกเขาเป็นผู้ปกครองที่น่ารัก ชอบกอด ชอบสบตา ใช้น้ำเสียงอ่อนโยน และอยู่เคียงข้างลูก ๆ อยู่เสมอ แต่อยู่มาวันหนึ่งคุณพ่อก็ได้ล้มป่วยและเสียชีวิตไป คุณแม่กลายเป็นเสาหลักของบ้านและทำงานหนักพร้อมกับการพยายามดูแลลูก ๆ ไปด้วย เป็นงานที่สาหัสและแทบจะเป็นไปไม่ได้

ความผูกพันที่มั่นใจ
เมื่ออายุได้ 6 ขวบ สมองของลูก้าพัฒนาเกือบเต็มที่แล้ว เขามีอุปนิสัยที่ชัดเจนและมุมมองโลกทัศน์ของเขานั้นเป็นรูปเป็นร่างแล้ว เขาไม่ต้องปรับตัวกับสถานการณ์มากเท่าไหร่เพราะยังมีแม่ที่สามารถพึ่งพาได้อยู่ เขารู้สึกปลอดภัยและผูกพันกับแม่ดี ภายหลังลูก้ากลายเป็นเด็กหนุ่มที่น่าเชื่อถือและมองตัวเองในแง่บวกอยู่เสมอ

ความผูกพันแบบวิตกกังวล / ลังเล
แอนน์อายุ 3 ขวบแล้วและกำลังเผชิญปัญหาเกี่ยวกับการได้รับความสนใจที่หายไป สำหรับแอนน์แล้วตอนนี้คุณแม่เริ่มทำตัวไม่แน่นอนและคาดเดาไม่ได้ แอนน์เริ่มกังวลเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของเธอและแม่จึงทำให้เธอกลายเป็นเด็กที่ชอบยึดเหนี่ยว เพื่อเรียกร้องความสนใจจากแม่เธอจะต้องใช้อารมณ์มากขึ้นและทำเสียงให้ดังมากขึ้นอีก เมื่อแม่หันมาสนใจตนตามที่คิดไว้ ตัวเธอเองก็กลับมาทำตัวน่ารักเช่นเดิม และไม่แสดงออกถึงความรู้สึกที่แท้จริง หลังจากนั้นคนอื่น ๆ จึงคิดว่าแอนน์เป็นคนที่ไม่แน่นอนหรือเจ้าอารมณ์ เธอไม่ค่อยมองตัวเองในแง่ดีมากนัก แอนน์อยู่ในกลุ่มความผูกพันแบบวิตกกังวล / ลังเล

ความผูกพันแบบวิตกกังวล / หลีกเลี่ยง
โจ เด็กน้อยอายุ 2 ขวบ มักจะใช้เวลาส่วนมากอยู่กับคุณลุง คุณลุงรักโจมากแต่คิดว่าการสอนที่ดีก็คือต้องเข้มงวด หากโจแสดงอารมณ์มากเกินไปหรือเสียงดังมากเกินไปก็มักจะทำให้คุณลุงโกรธและบางครั้งก็จะถูกลงโทษ โจเริ่มรู้สึกกลัว โจเรียนรู้ว่าการที่จะหลีกเลี่ยงความกลัวเขาจะต้องหลีกเลี่ยงการแสดงอารมณ์ และส่วนมากก็จะหมายถึงสถาณการณ์อื่น ๆ ด้วย เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่โจก็จะยังคงใช้หลักการนี้อยู่ซึ่งทำให้เขามีปัญหาด้านการสร้างความสัมพันธ์ เขามองตัวเองในแง่ลบเป็นซะส่วนใหญ่ ความสัมพันธ์เขาอยู่ในกลุ่มความผูกพันแบบวิตกกังวล / หลีกเลี่ยง

ความผูกพันแบบวิตกกังวล / ไร้ทิศทาง
เอมี่เพิ่งจะอายุได้ 1 ขวบและถูกส่งเข้าสถานรับเลี้ยงเด็ก ซึ่ง พนักงานที่นั่นไม่ได้รับการฝึกฝนที่ดีพอและมักจะถูกใช้งานหนักและมีความเครียดสูง บางคนถึงกับใช้ความรุนแรงกับเด็กเป็นประจำ เอมี่กลายเป็นเด็กที่รู้สึกกังวลกับคนที่เธอแสวงหาความปลอดภัยด้วย ซึ่งกลายเป็นปัญหาที่ทำให้แนวคิดและความเชื่อเกี่ยวกับความรักและความปลอดภัยนั้นยุ่งเหยิงไปหมด เพราะประสบการณ์ความหวาดกลัวที่ไม่สามารถหาทางออกได้นั้นทำให้เธอหลีกเลี่ยงทุกสถานการณ์ทางสังคม เมื่อเอมี่กลายเป็นผู้ใหญ่เธอจึงคิดว่าเธอไม่คู่ควรกับความรัก เอมี่มองตัวเองในแง่ลบตลอดเวลา และเธอจัดอยู่ในกลุ่มความผูกพันแบบวิตกกังวล / ไร้ทิศทาง

การสร้างสัมพันธ์นั้นเริ่มตั้งแต่ปีแรก ๆ ของชีวิต ตั้งแต่ตอนที่เรายังเด็กมาก ตอนที่ยังไม่สามารถสื่อสารความกังวลของเราได้ ทำให้เรามีความเครียดที่สูงขึ้น และเมื่อเครียดต่อมหมวกไตของเราก็จะผลิตฮอร์โมนอะดรีนาลีนและคอร์ติซอล – ฮอร์โมนความเครียด – ออกมา หัวใจจะเต้นแรงและความดันจะสูงขึ้นทำให้เรารู้สึกตื่นตัว หากร่างกายเป็นแบบนี้บ่อย ๆ จะเรียกว่าภาวะเครียดเป็นพิษ ภาวะเครียดเป็นพิษจะส่งผลเสียต่อการพัฒนาสมองของเด็ก ทำให้ภูมิคู้มกันของร่างกายอ่อนแอลง ในช่วงที่เป็นตัวอ่อนหรือในช่วงที่ยังแบเบาะ ภาวะเครียดเป็นพิษอาจถึงขั้นทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรม ซึ่งส่งผลถึงสุขภาพของเด็กไปหลายสิบปี

การทดลองสร้างสถานการณ์
เราสามารถใช้การทดลองสร้างสถานการณ์เพื่อทดสอบว่าเด็กมีความผูกพันประเภทไหนในเด็กอายุหนึ่งขวบเป็นต้นไป การทดลองเริ่มจากให้เด็กเล่นกับคุณแม่ภายในห้อง จากนั้นให้ลองทิ้งเด็กไว้คนเดียว สังเกตการตอบสนองของเด็กเมื่อแม่กลับมาหาเขา เด็กที่มีความผูกพันแบบมั่นคงมักจะกอดคุณแม่เป็นอย่างแรก จากนั้นเขาก็จะสงบลงและในที่สุดก็หันไปเล่นของเล่นต่อไป เด็กที่มีความผูกพันแบบไม่มั่นคงมักจะสับสนมาก อาจจะเมินเฉยกับคุณแม่หรือไม่สามารถหยุดร้องไห้ได้ และไม่สามารถกลับไปเล่นต่อได้

ผลกระทบระยะยาว
ผลกระทบระยะยาวเกี่ยวกับความผูกพันในช่วงปีแรก ๆ ของชีวิตนั้นได้นับการบันทึกไว้อย่างดี โดยการใช้ทฤษฎีนี้ นักวิจัยที่มหาวิทยาลัยมินนิโซตาสามารถคาดเดาได้ตั้งแต่อายุ 3 ขวบว่าเด็กคนหนึ่งจะลาออกจากโรงเรียนก่อนจบมัธยมปลายหรือไม่ และการคาดเดานี้ก็มีความถูกต้องถึง 77% เลยทีเดียว ในอีกการศึกษาหนึ่ง นักศึกษาระดับปริญญาตรีที่ฮาร์วาร์ดถูกขอให้ประเมินว่าพวกเขารู้สึกใกล้ชิดกับพ่อแม่ของตนเองขนาดไหน และอีก 35 ปีต่อมาก็ถูกถามอีกครั้งเกี่ยวกับสุขภาพของตน 91% ที่บอกว่ามีปัญหาด้านความสัมพันธ์กับแม่นั้นได้รับการวินิจฉัยว่ามีปัญหาด้านสุขภาพ ซึ่งรวมไปถึงโรคหลอดเลือดหัวใจ ความดันโลหิตสูง และติดสุราเรื้อรัง ส่วนคนที่รายงานว่าความสัมพันธ์กับแม่นั้นอบอุ่นดีและถูกวินิจฉัยว่ามีปัญหาสุขภาพนั้นมีเพียง 45%

แต่ก็มีอีกหนึ่งเหตุผลที่ว่าทำไมช่วงปีแรก ๆ ของชีวิตนั้นสมควรได้รับความสนใจเป็นพิเศษ มันคือจุดเริ่มต้นของพฤติกรรมที่ตามมานั่นเอง เด็กที่รู้สึกผูกพันกับพ่อแม่จนถึงอายุ 2 ขวบจะสามารถหาเพื่อนได้ง่ายในชั้นอนุบาล โลกทัศน์ของพวกเขาจะได้รับการส่งเสริมจากทุกความสัมพันธ์และพัฒนามาเป็นพลังบวก ผลที่ตามมาก็คือการมีความสัมพันธ์ที่ดีกับสภาพแวดล้อมในโรงเรียน ในมหาวิทยาลัย และสถานที่ทำงาน เด็กที่มีความผูกพันอ่อนแอนั้นมักจะพลาดโอกาสตรงนี้ไป

นักจิตวิทยา John Bowlby ผู้บุกเบิกเรื่องทฤษฎีความผูกพันกล่าวไว้ว่า “เมื่อเด็กไม่สามารถสื่อสารให้คุณแม่รับรู้ เขาก็จะไม่สามารถสื่อสารเรื่องนั้นกับตัวเองได้” อีกนัยหนึ่งก็คือ เด็กที่รู้สึกว่ามีความสัมพันธ์ไม่มั่นคงจะขาดความเข้าใจในตัวเองด้วย เพื่อที่จะรู้จักตัวเองมากขึ้นพวกเขาเหล่านั้นอาจจะต้องย้อนเวลากลับไปนานแสนนาน

ดาวน์โหลดแอปMali Daily Pregnancy Tracker

แม่มือใหม่ & การตั้งครรภ์

เรตติ้ง 4.8 จากผู้ใช้งานกว่า 5,000+ คน

เรตติ้ง 4.8 จากผู้ใช้งานกว่า 5,000+ คน