ดาวน์โหลดแอป

8 วิธีรับมือเมื่อลูกอาละวาด

8 วิธีรับมือเมื่อลูกอาละวาด

เด็กเล็กมักจะอาละวาดบ่อย อันที่จริงแล้วอาการอาละวาดของลูกเป็นเรื่องธรรมดาที่เกิดจากทักษะภาษาของเขายังไม่เพียงพอ การอาละวาดถือเป็นส่วนหนึ่งของพัฒนาการเด็ก ซึ่งเด็กแต่ละคนก็แสดงออกต่างกัน บางคนก็อาละวาดหนัก บางคนก็ไม่อาละวาดเลย

ทำไมเด็ก ๆ จึงอาละวาด?
เด็กเล็กมักรู้ตัวว่าเขาชอบอะไร และไม่ชอบอะไร แต่ขาดทักษะในการแสดงความรู้สึกและบอกความต้องการนั้นออกมา ความขัดแย้งนี้เองที่ทำให้เขาหงุดหงิด ยิ่งไปกว่านั้นถ้าปัญหาในใจมาพร้อมกับความไม่สบายกายอย่างความเหนื่อยล้าหรือความหิวแล้วละก็ สถานการณ์ก็มักแย่ลงกว่าเดิม และลูกก็มักจบด้วยการอาละวาด

ในบางครั้งลูกอาจอาละวาดเพื่อเรียกร้องความสนใจจากคุณพ่อคุณแม่ เพื่อประท้วงพฤติกรรมบางอย่างที่คนอื่นทำ หรืออาละวาดเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ทำบางอย่างที่คุณอยากให้เขาทำ ทั้งนี้ การอาละวาดจะเกิดขึ้นเมื่อลูกไม่รู้ว่าต้องแก้ปัญหาหรือสื่อสารความต้องการของเขาอย่างเหมาะสมอย่างไร

เมื่อไหร่การอาละวาดถึงจะหยุด?
เมื่อเวลาผ่านไปทักษะทางภาษาของลูกก็จะพัฒนาขึ้น ทำให้เขาสามารถสื่อสารความรู้สึก และบอกคุณได้ว่าเขาต้องการอะไร ส่งผลให้การอาละวาดลดลงตามลำดับ เด็กส่วนใหญ่จะพัฒนาทักษะทางภาษาอย่างรวดเร็วเมื่ออายุ 3 ปี ทำให้การอาละวาดลดลงหลังจากช่วงนั้น

วิธีรับมือกับอาการอาละวาดของเด็ก ๆ
ด้านล่างนี้คือเทคนิคในการรับมือกับการอาละวาดของลูก:

  1. ตั้งสติ และจัดการกับอารมณ์ของคุณเองที่กำลังเกิดขึ้น เมื่อลูกอาละวาด พยายามทำใจให้สงบ รับทราบพฤติกรรมของลูก แต่อย่าตอบสนองมากเกินจริง เพราะนั่นจะยิ่งส่งเสริมพฤติกรรมทางลบเข้าไปใหญ่
  2. ถามลูกว่าเขาต้องการอะไร การถามว่าลูกโมโหเรื่องอะไรมักจะช่วยได้ ดังนั้นลองถามลูกว่ามีปัญหาตรงไหน และเขาต้องการอะไร หากเป็นสิ่งที่คุณช่วยได้ จงช่วยเขาทันที
  3. รับรู้ถึงความรู้สึกของ ลูก การรับรู้ถึงความรู้สึกของลูกมักจะช่วยได้ คุณอาจบอกว่า “แม่รู้ว่าหนูกำลังโกรธอยู่ หนูช่วยเล่าให้แม่ฟังหน่อยได้ไหม” ด้วยวิธีนี้คุณจะช่วยลูกให้ฝึกแสดงความรู้สึก และทำให้เขารู้ว่าเขาสามารถคุยกับคุณได้ตลอดเวลา
  4. พูดเสียงกระซิบแทนที่จะตะโกนใส่ลูก การอาละวาดอาจส่งเสียงดังพอควร พยายามให้ลูกลดเสียงลงโดยการกระซิบ คุณอาจจะกระซิบคำพูดที่ช่วยให้เจ้าตัวเล็กสงบลง หรือลองชี้ชวนให้เขาสนใจอย่างอื่น มีโอกาสที่เสียงนุ่ม ๆ ของคุณจะช่วยดึงดูดให้เขาสนใจสิ่งที่คุณพูดมากขึ้น 
  5. หันเหความสนใจหรือร้องเพลงกล่อม พยายามหันเหความสนใจของลูกเมื่อเขาเริ่มจะโวยวาย คุณอาจทำหน้าตลก หรือชวนเขาดูอะไรที่น่าสนใจ อีกทางเลือกที่ดีคือคุณอาจร้องเพลงโปรดของลูก เพลงที่ชอบมักทำให้เด็ก ๆ สงบลงได้ 
  6. แสดงออกชัดเจนว่าไม่ชอบพฤติกรรมก้าวร้าว หากอาการอาละวาดของลูกเริ่มก้าวร้าวรุนแรง เช่น มีการตี กัด หรือทำลายข้าวของ ให้หยุดเขาทันทีและบอกเขาอย่างชัดเจนว่าเป็นการกระทำที่รับไม่ได้ หากลูกอยู่ในอันตรายหรือเสี่ยงจะทำร้ายตัวเอง ให้พาเขาไปที่ปลอดภัยทันทีหรือรีบเตือนเขาเรื่องอันตราย จากนั้นบอกลูกอย่างชัดเจนว่าคุณจะไม่ทนกับพฤติกรรมแบบนี้
  7. หากทำแล้วไม่ได้ผล คุณอาจต้องทำเป็นไม่สนใจ หากคุณอยู่บ้านและรู้ว่าลูกจะไม่เป็นอันตราย คุณอาจต้องทำเป็นไม่สนใจลูกในตอนนั้นไปเลย เด็กบางคนอาละวาดเพื่อเรียกร้องความสนใจ ถึงแม้จะเป็นความสนใจทางลบแต่ความสนใจจากคุณก็อาจทำให้เขาอยากลองอีกคราวหน้า ในกรณีนี้ทำเป็นไม่สนใจจะดีกว่า
  8. ชวนทานขนมหรือชวนให้งีบ บางครั้งอาการหงุดหงิดก็เกิดจากความหิวหรือง่วง ถ้าเป็นแบบนี้คุณอาจเสนอให้เขาทานอาหารว่าง ให้ดื่มนม หรือชวนลูกนอนเล่นอ่านหนังสือด้วยกันก็ได้

รับรองโดย:

เกศสุภา จิระการณ์ (นักสุขภาพจิต) (31 มีนาคม 2021)

ที่มา:

ดาวน์โหลดแอปMali Daily Pregnancy Tracker

แม่มือใหม่ & การตั้งครรภ์

เรตติ้ง 4.8 จากผู้ใช้งานกว่า 5,000+ คน

เรตติ้ง 4.8 จากผู้ใช้งานกว่า 5,000+ คน