ทำไมลูกจึงชอบกัด
การกัดเป็นพฤติกรรมที่พบได้บ่อยในทารกและเด็กเล็ก ซึ่งมีสาเหตุหลายประการ
เด็ก ๆ มักกัดด้วยเหตุผลหลายประการ เช่น ฟันกำลังงอก หรือการแสดงความไม่พอใจ อย่างไรก็ตาม พฤติกรรมการกัดมักจะค่อย ๆ หายไปเมื่อพวกเขาโตขึ้น และเริ่มเรียนรู้ทักษะทางภาษาเพื่อแสดงความรู้สึกได้ดีขึ้น ควบคุมตนเองและพัฒนาทักษะการแก้ปัญหาได้มากขึ้น
แม้ว่าอาจดูเหมือนเป็นเรื่องปกติของพัฒนาการในวัยเด็ก แต่หากติดเป็นนิสัยอาจทำให้คุณแม่ไม่ค่อยชอบใจนัก ดังนั้นจึงเป็นสิ่งที่ควรป้องกันตั้งแต่เริ่มต้น ก่อนอื่นคุณแม่อาจต้องหาสาเหตุบางประการที่อาจทำให้ลูกชอบกัด
ทำไมเด็กเล็กถึงกัด
มีสาเหตุหลายประการที่ทำให้เด็ก ๆ กัด หากลูกกัด คุณแม่ควรต้องหาสาเหตุที่แท้จริงเพื่อจะได้ตอบสนองได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทารกและเด็กเล็กมักจะกัดด้วยสาเหตุใดสาเหตุหนึ่งต่อไปนี้:
- อาการปวดและคันจากการงอกของฟัน: อาการปวดและคันเหงือกที่มาพร้อมกับการงอกของฟันเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เด็ก ๆ กัด ลูกน้อยของคุณแม่มักกัดเพื่อบรรเทาอาการปวดและคันในเหงือกที่บวมและอ่อนนุ่ม
- การสำรวจโลกรอบตัว: ทารกและเด็กวัยหัดเดินมักใช้ปากสำรวจสิ่งต่าง ๆ รอบตัว เด็กในวัยนี้แทบจะนำทุกอย่างที่เอื้อมถึงเข้าปาก ซึ่งเป็นขั้นตอนตามพัฒนาการที่ปกติของเด็ก ๆ ไม่ว่าจะเป็นของเล่น รองเท้า เสื้อผ้า และสิ่งอื่น ๆ เนื่องจากยังไม่สามารถแยกความแตกต่างระหว่างของที่กินได้ออกจากของที่กินไม่ได้
- อยากดึงดูดความสนใจของผู้ถูกกัด: ลูกอาจดึงดูดความสนใจของคุณแม่ได้ เนื่องจากลูกน้อยของคุณแม่ยังไม่สามารถจะบอกในสิ่งที่เขาต้องการได้ การกัดอาจเป็นการบอกว่า “นี่ ๆ สนใจหนูหน่อย”
- ต้องการได้รับปฏิกิริยาตอบโต้: เมื่อพวกเขาเริ่มเข้าใจเหตุและผล เด็กวัยหัดเดินจะเริ่มทดลองเพื่อดูว่าการกระทำของพวกเขาจะกระตุ้นให้เกิดปฏิกิริยาแบบใด ลูกอาจลองกัดเพื่อนเล่น เพื่อดูว่าบุคคลนั้นจะตอบสนองอย่างไร โดยที่ไม่รู้ว่าบุคคลนั้นจะรู้สึกเจ็บปวดมาก เพราะเขายังไม่สามารถเข้าใจเกี่ยวกับอารมณ์ความรู้สึกของผู้อื่นได้
- เพื่อแสดงอารมณ์ของพวกเขา: เด็กวัยหัดเดินที่เริ่มโตอาจใช้การกัดเป็นวิธีแสดงความหงุดหงิด โกรธ หรือกลัว เพราะพวกเขายังไม่ได้พัฒนาทักษะทางภาษาเพื่อแสดงความรู้สึก ตัวอย่างเช่น หากคุณแม่เอาของเล่นของลูกไป เขาอาจกัดคุณเพื่อแสดงความโกรธในสิ่งที่คุณทำ สำหรับพวกเขา การกัดเป็นกลไกการป้องกันตนเองเพื่อรักษาพื้นที่ของพวกเขา (ของเล่นและพื้นที่เล่น) เขาอาจโจมตีผู้บุกรุก ต่อสู้กับผู้รุกราน หรือเพื่อแสดงว่าพวกเขาต้องการอยู่คนเดียว
วิธีตอบสนองเมื่อถูกลูกกัด
แต่ละสถานการณ์นั้นแตกต่างกัน แต่สิ่งสำคัญก็คือ ต้องตอบสนองทันทีเมื่อถูกกัด วิธีตอบสนองของคุณแม่อาจขึ้นอยู่กับอายุของลูก และสาเหตุที่ทำให้เกิดการกัด ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์ใดก็ตามพยายามสงบสติอารมณ์และใช้สัญญาณที่ชัดเจน และสม่ำเสมอเพื่อสื่อสารว่าการกัดนั้นไม่เหมาะสม “ลูกไม่ควรกัด เพราะจะทำให้คนที่ถูกกัดเจ็บ และเราไม่ควรทำให้คนอื่นเจ็บ!” นั่นจะเป็นการตอบสนองที่เหมาะสม
ต่อไปนี้คือสิ่งที่คุณแม่ทำได้ หากพบว่าลูกกัดใครบางคน:
- พูดอย่างใจเย็นและหนักแน่นว่า“ ไม่”: พูดกับลูกด้วยน้ำเสียงจริงจังว่า “ไม่กัด!” หรือ “อย่ากัด คุณแม่เจ็บ!” ควรใช้ภาษาที่เรียบง่ายและเข้าใจได้ง่ายสำหรับทารก แต่ควรมีความชัดเจนว่า การกัดเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ทำให้เขาเข้าใจว่าเป็นเรื่องจริงจัง เช่น “แม่ไม่อยากเห็นการกัด มันทำให้แม่เศร้า”
- ปลอบโยนผู้ถูกกัด: คุณแม่ควรให้ความสนใจกับผู้ที่ถูกกัด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าหากเขาเป็นเด็กคนอื่น ใช้คำพูดที่ปลอบประโลม หากมีอาการบาดเจ็บควรทำการปฐมพยาบาลตามความจำเป็น
- จากนั้นควรปลอบใจลูก: เป็นไปได้ว่าลูกนั้นไม่รู้ว่าการกัดนั้นทำให้เจ็บ และอาจรู้สึกไม่พอใจที่เห็นว่าผู้ถูกกัดกำลังเจ็บ ดังนั้นจึงเป็นการดีที่จะปลอบโยนลูกน้อยของคุณแม่ด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเขาแสดงความสำนึกผิด แต่ถ้าลูกเพียงแค่ขอความสนใจคุณแม่ก็ไม่จำเป็นต้องตอกย้ำพฤติกรรมนี้โดยให้ความสนใจมากนักในทันทีหลังจากที่เกิดเหตุการณ์ขึ้น อย่างไรก็ตาม คุณแม่ควรให้ความสนใจทั้งหมดแก่ลูกในภายหลัง เพราะบางทีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอาจเป็นการเรียกร้องให้ช่วยให้ความสนใจและความรักมากขึ้น
- หากเป็นไปได้ ให้แนะนำการแสดงออกวิธีอื่น: หลังจากที่ทุกอย่างเรียบร้อยแล้ว ให้คุยกับลูกและทำความเข้าใจว่าอะไรทำให้เกิดเหตุการณ์นั้น จากนั้นอธิบายให้เขาเข้าใจว่า ไม่อนุญาตให้กัด และแนะนำสิ่งที่เขาสามารถทำได้ในสถานการณ์เช่นนั้น เช่น การใช้คำพูด “ไม่” “หยุด” หรือ “นั่นเป็นของฉัน”
- เบี่ยงเบนความสนใจของลูก: สิ่งที่ทำให้ไขว้เขวมักใช้ได้กับเด็กในวัยหัดเดิน ถ้าหากพบว่าลูกรู้สึกไม่มั่นคง ให้ลองเบี่ยงเบนความสนใจของเขาไปยังกิจกรรมเชิงบวกอื่น ๆ เช่น เต้นรำไปกับดนตรีหรือเล่นเกม
วิธีหยุดนิสัยชอบกัดของลูก
- คุณแม่ต้องรักษากฎในการห้ามกัดไว้ตลอดเวลา ทั้งตอนที่อยู่บ้านและออกนอกบ้าน พยายามปฏิบัติตามกฎตลอดเวลา
- เปลี่ยนจากการให้ความสนใจเวลาที่เขากัด ซึ่งเป็นการให้รางวัลพฤติกรรมที่ไม่ดี โดยทดแทนด้วยการชมให้มากขึ้น เมื่อลูกมีพฤติกรรมที่เหมาะสม
- เด็กวัยหัดเดินจะควบคุมตัวเองได้ง่ายขึ้น หากรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในสถานการณ์ที่มีความรุนแรง ดังนั้นควรสอนให้ลูกเข้าใจว่าควรปฏิบัติตัวอย่างไรในสถานการณ์เช่นนั้น
- ช่วยให้ลูกพัฒนาทักษะทางภาษา ตั้งแต่การใช้คำที่เหมาะสมเพื่อแสดงอารมณ์ในขณะที่อารมณ์เสีย จะช่วยทำให้พวกเขาใจเย็นลงได้
- ใช้เวลาเชิงบวกกับลูกในช่วงเวลาที่การกัดเกิดขึ้น
รับรองโดย:
เกศสุภา จิระการณ์ (นักสุขภาพจิต) (31 มีนาคม 2021)