ทำไมการเล่นจึงสำคัญสำหรับการเรียนรู้
สำหรับเด็ก ๆ การเรียนรู้จะกลายเป็นเรื่องง่ายเมื่อเขาได้ทำด้วยความสมัครใจ ได้ความเพลิดเพลินและมีส่วนร่วม การเล่นจะช่วยพัฒนาสมองของลูกและจำเป็นอย่างยิ่งในการเตรียมความพร้อมสำหรับการเรียนรู้เมื่อไปโรงเรียน
การเรียนรู้ผ่านการเล่น
การเล่นเป็นวิธีที่สำคัญที่สุดที่จะทำให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้เกี่ยวกับสิ่งต่าง ๆ รอบตัว ช่วยในการพัฒนาสมอง และช่วยให้เด็กพัฒนาทั้งทางด้านภาษา ความจำ ทักษะทางสมอง และทักษะในการสื่อสาร เนื่องจากการเล่นเป็นเรื่องสนุก เด็ก ๆ จึงสนุกกับสิ่งที่ทำในขณะที่ได้เรียนรู้ไปพร้อม ๆ กัน สิ่งนี้จะช่วยให้เขาสร้างคุณค่าในตนเอง โดยทำให้พวกเขารู้สึกดีกับตัวเอง และทำให้รู้สึกถึงความสามารถของตนเอง ดังนั้นวิธีที่ง่ายที่สุดในการช่วยให้ลูกเรียนรู้ได้เร็วขึ้นคือการเล่นกับเขาบ่อย ๆ
ทำไมการเล่นจึงสำคัญ
ทักษะที่ได้เรียนรู้ในช่วงปีแรก ๆ ของชีวิตนั้นมีอิทธิพลต่อความฉลาดทางอารมณ์ในวัยผู้ใหญ่ของลูกเป็นอย่างมาก ช่วงปีแรก ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วง 5 ปีแรกเป็นช่วงที่พัฒนาการทางสมองเกิดขึ้นอย่างมีนัยสำคัญกว่า 90% ของการพัฒนาสมองทั้งหมด และจะพัฒนาสมบูรณ์เมื่ออายุ 5 ขวบ
การเล่นช่วยให้เด็ก ๆ สามารถพัฒนาทักษะต่าง ๆ ที่มีความละเอียดอ่อน เช่น ทักษะทางอารมณ์ ความคิดสร้างสรรค์ และทักษะทางสังคม การเล่นช่วยให้พวกเขามีจินตนาการและได้เรียนรู้วิธีแก้ปัญหาและทำงานร่วมกับผู้อื่น หากขาดการเล่นอาจส่งผลเสียต่อการเรียนรู้ สุขภาพจิต และแม้แต่สุขภาพร่างกายของเด็ก
สิ่งที่คุณแม่สามารถทำได้
คุณแม่ควรทำความเข้าใจถึงความสำคัญของการเล่นต่อพัฒนาการของลูก และพยายามหาเวลาเล่นกับเขา สร้างแนวคิดในการเล่นที่สามารถส่งเสริมการเรียนรู้ เช่น การเล่นบทบาทสมมติ การเล่นจ๊ะเอ๋ การเล่นซ่อนหา และการเล่นกลางแจ้ง นอกจากนี้ ควรจัดหาของเล่นให้กับลูก และหลีกเลี่ยงสิ่งที่อาจทำให้เขาเสียสมาธิ
การเล่นบทบาทสมมติ: การเล่นสวมบทบาทจะช่วยในพัฒนาการทางสังคม และอารมณ์ของลูกได้ เด็ก ๆ จะทำความเข้าใจโลกรอบตัวผ่านสถานการณ์สมมติ ก่อนที่จะเจอกับสถานการณ์จริง หรืออาจเล่นโดยการเลียนแบบสิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัวพวกเขา
การเล่นกลางแจ้ง: การเล่นกับลูกนอกบ้านนั้นดีมาก เพราะจะช่วยให้เขาได้เรียนรู้วิธีปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมต่าง ๆ การเล่นกลางแจ้งยังเปิดโอกาสให้ลูกได้เล่นโดยการใช้ทั้งร่างกายและได้พัฒนาทักษะการเคลื่อนไหวเบื้องต้น
การเล่นจ๊ะเอ๋: จะทำให้ลูก มีอารมณ์ขัน และช่วยสร้างความจำระยะสั้นที่จำเป็น นอกจากนี้ ยังช่วยให้เขาได้พัฒนาทักษะการเคลื่อนไหวเบื้องต้น และความสามารถในการจดจำภาพอีกด้วย
การเล่นซ่อนหา: เด็ก ๆ ชอบเกมนี้เพราะมันสนุกและน่าตื่นเต้น การเล่นซ่อนหาจะสอนพวกเขาเกี่ยวกับความจำเชิงพื้นที่และทิศทาง และช่วยปรับปรุงความคล่องตัว ความสมดุล และการประสานงาน
ให้ของเล่นกับลูก: อาจเริ่มต้นด้วยบล็อกไม้แบบเรียบง่าย เครื่องครัว ขวดพลาสติกเปล่า แท่งไม้ หรือของเล่นทั่ว ๆ ไปก็ได้ เพียงคุณแม่ตรวจสอบให้แน่ใจว่าของเล่นไม่ได้มีส่วนผสมของสารเคมีอันตราย และปลอดภัยสำหรับเด็ก
หลีกเลี่ยงการใช้อุปกรณ์หน้าจอและสิ่งรบกวนอื่น ๆ : เพื่อให้เด็ก ๆ ให้ความสนใจกับการเล่นได้อย่างเต็มที่ พวกเขาต้องการสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้พวกเขาได้มีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นหรือของเล่นโดยไม่เสียสมาธิ ดังนั้นควรเก็บโทรศัพท์มือถือและแท็บเล็ตทั้งหมดออกไป ปิดทีวี รวมถึงเก็บของเล่นที่ส่งเสียงหรือมีไฟกะพริบออกไปด้วย
รับรองโดย:
เกศสุภา จิระการณ์ (นักสุขภาพจิต) (31 มีนาคม 2021)