ดาวน์โหลดแอป

อาหารที่ควรหลีกเลี่ยงในขณะตั้งครรภ์

อาหารการกิน

อาหารที่ควรหลีกเลี่ยงในขณะตั้งครรภ์

เมื่อคุณแม่เริ่มตั้งครรภ์ ทุกอย่างที่คุณแม่กินและดื่มจะถูกส่งผ่านไปยังลูกน้อยในครรภ์ของคุณแม่ในอีกประมาณหนึ่งชั่วโมงถัดมา สิ่งที่ควรระวังคืออาหารบางชนิดอาจสร้างความเสียหายแก่พัฒนาการของลูก และอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่อร่างกายของเขาเมื่อเติบโตขึ้น

อาหารที่ควรหลีกเลี่ยงขณะตั้งครรภ์ ได้แก่

เนื้อสัตว์ดิบและหอย: ควรหลีกเลี่ยงอาหารทะเลที่ไม่ผ่านการปรุงสุก เช่น หอยนางรม หอยตลับ และเนื้อวัว เนื้อหมู หรือเนื้อสัตว์ปีกที่ไม่สุก เพราะมีความเสี่ยงต่อการปนเปื้อนจากเชื้อ Toxoplasma และ Salmonella ซึ่งเป็นอันตรายต่อลูก

อาหารทะเลและปลาบางชนิด: ควรหลีกเลี่ยงปลาที่มีสารปรอทในปริมาณมาก การบริโภคสารปรอทในระหว่างตั้งครรภ์มีผลทำให้พัฒนาการล่าช้าและอาจสร้างความเสียหายต่อสมองของลูกน้อยในครรภ์ ตัวอย่างของปลาที่มีสารปรอท ได้แก่ ปลาฉลาม ปลากระโทง ปลาโอ ปลาทูน่าและปลาขนาดใหญ่อื่น ๆ ส่วนปลาทูน่าบรรจุกระป๋องส่วนใหญ่มีปริมาณปรอทต่ำกว่าปลาทูน่าชนิดอื่น ๆ แต่ควรรับประทานในปริมาณที่พอเหมาะ

ซูชิ: การรับประทานปลาดิบบนซูชิในขณะที่คุณแม่กำลังตั้งครรภ์นั้นปลอดภัย ตราบใดที่ปลาดิบที่ใช้ในการทำซูชินั้นผ่านการแช่แข็งมาก่อน กระบวนการแช่แข็งสามารถทำลายหนอนปรสิตขนาดเล็กและทำให้ปลาดิบปลอดภัยสำหรับการบริโภค อย่างไรก็ตามวิธีที่ปลอดภัยที่สุดในการรับประทานซูชิก็คือเลือกแบบปรุงสุกหรือมังสวิรัติ

อาหารเนื้อตัดเย็น (Cold cut): อาหารเนื้อตัดเย็น หรือ Cold cut อาจมีเชื้อแบคทีเรีย Listeria ปนเปื้อนอยู่ ซึ่งเป็นแบคทีเรียที่สามารถผ่านจากรกไปทำให้ลูกติดเชื้อได้ การติดเชื้อในครรภ์อาจนำไปสู่อาการเลือดเป็นพิษและอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตสำหรับลูกในครรภ์ได้

ไข่ดิบ: อาหารที่ควรหลีกเลี่ยงนี้ยังรวมไปถึงอาหารที่มีไข่ดิบเป็นส่วนประกอบด้วย ดังนั้นคุณแม่ควรระมัดระวังในการใส่มายองเนสในสลัด การทานไอศกรีมโฮมเมดหรือคัสตาร์ด เพราะไข่ดิบสามารถก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ Salmonella ได้

นมที่ไม่ผ่านการพาสเจอไรซ์: นมที่ไม่ผ่านการพาสเจอไรซ์ หรือนมที่ไม่ผ่านการฆ่าเชื้อด้วยความร้อนสูง อาจมีการปนเปื้อนของเชื้อแบคทีเรีย Listeria ดังนั้นก่อนดื่มนมคุณแม่ควรตรวจสอบให้ดีว่านมนั้นผ่านการพาสเจอไรซ์มาแล้วหรือยัง

เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน: คาเฟอีนจากชา กาแฟ น้ำอัดลม เครื่องดื่มชูกำลัง และจากแหล่งอื่น ๆ อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนด น้ำหนักตัวแรกคลอดน้อย และการแท้งบุตรได้ ถึงแม้จะมีผลการวิจัยหลาย ๆ ชิ้นที่ยังขัดแย้งกันอยู่บ้าง แต่โดยทั่วไปแล้วคุณแม่ควรจำกัดปริมาณคาเฟอีนให้น้อยกว่า 200 มิลลิกรัมต่อวัน ซึ่งคิดเป็นประมาณกาแฟสดจากร้าน 1 แก้วหรือกาแฟร้อนแก้วเล็ก 2 แก้ว

ผักที่ไม่ผ่านการล้างให้สะอาด: การรับประทานผักนั้นปลอดภัยและมีความสำคัญมากเพื่อการบริโภคอาหารอย่างสมดุล อย่างไรก็ตามเป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่าผักนั้นได้ผ่านการล้างให้สะอาดเพื่อหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับเชื้อ Toxoplasma และพยาธิบางชนิดซึ่งมักปนเปื้อนอยู่ในดินที่ใช้ปลูกผัก ไม่ควรรับประทานต้นอ่อนดิบ เช่น ถั่วงอก เนื่องจากเชื้อแบคทีเรียสามารถแทรกตัวเข้าไปในเมล็ดถั่วงอกและแทบเป็นไปไม่ได้เลยที่จะล้างออกได้

เครื่องดื่มแอลกอฮอล์: การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในขณะตั้งครรภ์อาจทำให้เกิดการแท้งบุตร คลอดก่อนกำหนด หรือความพิการทางร่างกาย และยังอาจมีผลต่อพฤติกรรมและสติปัญญาของทารกที่รู้จักกันในชื่อว่า FASD (fetal alcohol spectrum disorders) ซึ่งเป็นกลุ่มอาการของทารกที่ได้รับแอลกอฮอล์ขณะอยู่ในครรภ์ ดังนั้นคุณแม่ควรหลีกเลี่ยงแอลกอฮอล์อย่างเคร่งครัดตลอดเวลาที่ตั้งครรภ์

รับรองโดย:

พญ.วรรวดี ทรัพย์มี ปัญญากาศ (สูตินรีแพทย์) (9 มกราคม 2019)

ที่มา:

ดาวน์โหลดแอปMali Daily Pregnancy Tracker

แม่มือใหม่ & การตั้งครรภ์

เรตติ้ง 4.9 จากผู้ใช้งานกว่า 10,000+ คน

เรตติ้ง 4.9 จากผู้ใช้งานกว่า 10,000+ คน