ทำความรู้จักพื้นฐานอารมณ์ของลูกน้อย
มองไปข้างหน้า
ในขณะที่เด็กบางคนมีนิสัยที่คาดเดาได้ สงบและเชื่อฟัง แต่เด็กบางคนก็อาจจัดการได้ยากและเขาอาจจัดการอารมณ์ของตัวเองได้ไม่ดีนัก
นักจิตวิทยาบางคนให้คำจำกัดความของความแตกต่างเหล่านี้ว่าพื้นฐานอารมณ์
ทำความรู้จักกับพื้นฐานอารมณ์
พื้นฐานอารมณ์คือลักษณะนิสัยเฉพาะตัวของเด็กแต่ละคน ที่มีมาตั้งแต่กำเนิด และรูปแบบพฤติกรรมที่บ่งบอกว่า คนคนหนึ่งตอบสนองต่อสถานการณ์ต่าง ๆ แสดงตัวตน และจัดการอารมณ์ของตัวเองอย่างไร ถือเป็นการปฏิบัติตัวตามธรรมชาติของบุคคล
ทารกแต่ละคนจะเกิดมาพร้อมกับพื้นฐานอารมณ์แตกต่างกัน พวกเขาจะแสดงลักษณะต่าง ๆ ออกมาเมื่อเขาต้องเผชิญสถานการณ์ต่าง ๆ ต้องตอบโต้บางอย่าง และเมื่อสัมผัสประสบการณ์รอบตัว
ลักษณะของพื้นฐานอารมณ์
นักจิตวิทยาได้แบ่งประเภทพื้นฐานอารมณ์ที่ทารกแสดงออกมาออกเป็น 9 ด้านด้วยกัน
- การเคลื่อนไหว: อ้างอิงจากความคล่องแคล่ว ชอบเคลื่อนไหวของทารก เด็กบางคนชอบเคลื่อนไหวเยอะ บางคนชอบอยู่นิ่ง ๆ
- ความสม่ำเสมอ: ดูจากความสม่ำเสมอในกิจวัตรประจำวัน การกินและการนอนเป็นเวลา
- การมีสมาธิจดจ่อ และความมุมานะ: ทารกสามารถตั้งใจ สนใจ และอดทนมากแค่ไหนเมื่อต้องเผชิญความท้าทาย
- การถูกเบี่ยงเบนความสนใจ: เด็กโดนทำให้เสียสมาธิ หรือวอกแวกได้ง่ายแค่ไหน
- การเข้าหาหรือถอยหนี: เด็กตอบสนองต่อสถานการณ์ใหม่ ๆ อย่างไร มีความอยากรู้อย่างเห็น สนุกกับสิ่งใหม่ หรือแสดงการภอยหนี ต่อต้าน
- ความสามารถในการปรับตัว: เด็กจัดการกับการเปลี่ยนแปลงของกิจวัตรประจำวัน กับสิ่งแวดล้อมใหม่ หรือฟื้นฟูจากอารมณ์โกรธอย่างไร
- ลักษณะอารมณ์: เด็กอยู่ในอารมณ์ดี มีความสุข ร่าเริงบ่อยแต่ไหนเทียบกับอารมณ์หงุดหงิด ร้องไห้หรือต่อต้านผู้อื่น
- ระดับการกระตุ้นที่ทำให้เกิดความรู้สึก: เด็กตอบสนองทางประสาทสัมผัส เช่น แสง เสียง ผิวสัมผัส รสชาติ และกลิ่นอย่างไร
- ความรุนแรงในการตอบสนอง: เมื่อเด็กแสดงออกทางอารมณ์ มีอาการแสดงออกด้วยพลังงานที่รุนแรงหรือไม่
โดยทั่วไปแล้วเด็กคนหนึ่งมักมีรูปแบบการแสดงออกเฉพาะต่อ 1 ด้าน เช่น เด็กอาจเป็นคนชอบเคลื่อนไหวร่างกาย แสดงอารมณ์รุนแรง และมีความมุ่งมั่นเมื่อต้องเจอกับปัญหาที่ท้าทาย และอาจวอกแวกได้ยาก
ประเภทของพื้นฐานอารมณ์ที่มักพบบ่อยและวิธีการรับมือ
นักจิตวิทยาได้ทำการแบ่งลักษณะอารมณ์พื้นฐาน 9 ด้านออกเป็น 3 ประเภทใหญ่ ๆ ดังนี้
เด็กเลี้ยงง่าย (flexible): เป็นลักษณะของเด็กที่ว่าง่าย อารมณ์ดี สงบ และปรับตัวได้ง่าย เด็กประมาณ 40% จะอยู่ในประเภทนี้ เขาจะเตรียมพร้อมและสามารถปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ใหม่ ๆ ได้ง่าย ตอบสนองอย่างไม่รุนแรงต่อสิ่งต่าง ๆ มีอารมณ์ดีอยู่เสมอ และกิน นอน ตื่นเป็นเวลา
เด็กซน เลี้ยงยาก (difficult): เด็กที่มีพื้นฐานอารมณ์ประเภทนี้มักเป็นคนชอบใช้พลังงาน ชอบเคลื่อนไหว เรื่องมาก และมีอารมณ์ค่อนข้างรุนแรงทั้งเชิงลบและเชิงบวก เด็กประมาณ 10% จะอยู่ในประเภทนี้ เด็ก ๆ เหล่านี้มักถอยห่างเมื่อต้องเผชิญสถานการณ์ใหม่ ๆ เขามักตอบสนองอย่างรุนแรงเข้มข้น ทำกิจวัตรต่าง ๆ ไม่เป็นเวลา และมักอารมณ์ไม่ดี เขาอาจร้องไห้นาน ๆ เป็นประจำ และอาจกินนอนไม่เป็นเวลา เด็กแสบ ๆ เหล่านี้อาจทำให้ผู้ปกครองเกิดความสงสัยในทักษะการเลี้ยงลูกของตัวเองได้ นี่เป็นเหตุผลว่าเด็กเหล่านี้ได้รับชื่อ “เด็กเลี้ยงยาก” ในงานวิจัย อย่างไรก็ตามเด็กประเภทนี้ก็มีลักษณะที่มีคุณค่าหลายอย่าง เช่นมีความแน่วแน่ มีความไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค และกล้าตัดสินใจ
เด็กปรับตัวช้า (cautious): พื้นฐานอารมณ์ประเภทนี้จะพบได้ในเด็กประมาณ 5-15% ของทั้งหมด เด็กเหล่านี้มักถอยห่าง หรือตอบสนองต่อสิ่งใหม่ ๆ ได้ช้า มีการเคลื่อนไหวร่างกายน้อย และอาจมีอารมณ์ทางลบค่อนข้างบ่อย เด็กอาจมีความลังเล หรือกลัวในสถานการณ์ที่ไม่คุ้นเคย เด็กปรับตัวช้าอาจตอบสนองไม่ค่อยดีนักต่อความเปลี่ยนแปลง เช่นการมีพี่เลี้ยงคนใหม่ หรือการเปลี่ยนกิจวัตรประจำวัน พวกเขามักชอบมองดูกิจกรรมเหล่านั้นสักพักก่อนจะเข้าไปมีส่วนร่วม และไม่ชอบถูกยัดเยียดให้ทำสิ่งต่าง ๆ ผู้คนมักมองว่าเด็กเหล่านี้ขี้อาย หรืออ่อนไหวมากเป็นพิเศษ
การตอบสนองของคุณสำคัญอย่างไร
ในฐานะผู้ดูแล เป็นความรับผิดชอบของคุณที่จะต้องเรียนรู้ปรับตัวเข้ากับพื้นฐานอารมณ์ของลูกน้อย ควรปรับทัศนคติและลดความคาดหวังโดยใช้ความเข้าใจพื้นฐานอารมณ์ของลูกเป็นสำคัญ
พูดอีกแง่หนึ่งคือคุณควรปรับตัวเข้าหาลูก ไม่ใช่ให้ลูกปรับตัวเข้าหาคุณ ด้วยการทำความเข้าใจในพื้นฐานอารมณ์ของลูก ประกอบกับความต้องการพิเศษเฉพาะของลูก โดยนำความรู้เหล่านี้มาใช้ปรับสภาพแวดล้อมสำหรับลูกน้อยเพื่อให้เขาเติบโตได้ดีที่สุด ลูกไม่สามารถเปลี่ยนพื้นฐานอารมณ์ของเขาได้ แต่ด้วยการสนับสนุนของคุณ ในที่สุดลูกก็จะเข้าใจตัวเองและจะสามารถจัดการพื้นฐานอารมณ์ของตัวเองเพื่อปรับตัวใช้ในชีวิตประจำวันได้
ตัวอย่างเช่น เมื่อคุณเข้าใจว่าลูกต้องการสังเกตเด็ก ๆ คนอื่นในสนามเด็กเล่นก่อนจะเข้าไปร่วมวงด้วย คุณอาจสนับสนุนลูกได้โดยพูดอธิบายว่าเด็กคนอื่น ๆ กำลังทำอะไรกันอยู่ และสนับสนุนให้เขาเข้าร่วมโดยบอกว่าลูกอาจไปเล่นกับเขาก็ได้ถ้าอยากไป
เด็กทุกคนไม่ได้อยู่ในประเภทใดประเภทหนึ่ง
คุณอาจคิดว่าเด็ก ๆ ทุกคนจะมีลักษณะเป๊ะ ๆ ตามพื้นฐานอารมณ์ 3 ประเภท แต่จริง ๆ แล้วไม่ใช่แบบนั้น ความจริงแล้วเด็ก ๆ มากมายมีลักษณะเฉพาะของตัวเอง ซึ่งมีมากกว่า 3 ประเภทหลัก ๆ ที่กล่าวมา
ดังนั้นจึงควรทำความเข้าใจพื้นฐานอารมณ์ของเด็กแต่ละคนผ่านลักษณะ 9 ด้านเพื่อคุณจะได้รู้พฤติกรรมและความต้องการเฉพาะตัวของลูกน้อย ยกตัวอย่างเช่นทารกคนหนึ่งอาจตอบสนองด้วยอารมณ์รุนแรง แต่มีกิจวัตรการกินและนอนที่แน่นอน ตารางด้านล่างนี้แสดงให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างลักษณะพื้นฐานอารมณ์ และประเภทของพื้นฐานอารมณ์แบบต่าง ๆ
รับรองโดย:
เกศสุภา จิระการณ์ (นักสุขภาพจิต) (1 กรกฎาคม 2022)