การตรวจหาเชื้อ GBS ที่อาจเป็นอันตรายร้ายแรงต่อลูก
อัปเดต
เชื้อสเตรปโตคอคคัสกรุ๊ป บี (Group B streptococcus หรือ ย่อว่า GBS) เป็นแบคทีเรียชนิดหนึ่ง ซึ่งมีชีวิตอยู่ภายในลำไส้ ช่องคลอด หรือทวารหนักของสตรีประมาณ 25% ของสตรีทั่วไป
ส่วนใหญ่แล้วจะไม่ก่อให้เกิดอันตรายใด ๆ สำหรับผู้ที่มีร่างกายแข็งแรงเป็นปกติ แต่คุณแม่บางคนสามารถส่งผ่านเชื้อ GBS ไปยังลูกได้ในระหว่างการคลอดธรรมชาติ ซึ่งอาจทำให้เกิดอันตรายถึงชิวิตของลูก คุณแม่ตั้งครรภ์ควรได้รับการทดสอบเพื่อตรวจหาเชื้อ GBS และหากได้ผลเป็นบวก คุณแม่สามารถรับประทานยาในช่วงใกล้คลอด เพื่อลดความเสี่ยงที่อาจเป็นอันตรายแก่ลูกได้
ความเสี่ยงของการติดเชื้อสูงแค่ไหน
1 ใน 4 ของหญิงที่มีสุขภาพดีจะมีเชื้อ GBS อยู่ภายในร่างกาย คุณแม่ที่มีเชื้อ GBS และได้รับยาปฏิชีวนะในระหว่างการคลอด จะมีโอกาสเพียง 1 ใน 4,000 ที่ลูกจะติดเชื้อ ส่วนคุณแม่ที่มีเชื้อแต่ไม่ได้รับการรักษา จะทำให้ทารกมีโอกาสติดเชื้อสูงกว่ามากถึง 1 ใน 200 ในขณะที่ทารกคลอดผ่านคลองช่องคลอดของคุณแม่
วิธีการตรวจหาเชื้อGBS
ในบางที่ สูติแพทย์จะแนะนำให้คุณแม่ตรวจหาเชื้อ GBS ด้วยการตรวจคัดกรอง Strep B ทางช่องคลอด การตรวจด้วยวิธีนี้มักจะทำในสัปดาห์ที่ 32 และ 37 ของการตั้งครรภ์ โดยจะทำการตรวจหาเชื้อทั้งภายในช่องคลอด และทวารหนัก และจะทราบผลการตรวจภายใน 24 – 48 ชั่วโมง
โดยในประเทศไทย โรงพยาบาลส่วนใหญ่ไม่ตรวจ test นี้ ยกเว้นโรงพยาบาลเอกชนบางที่เท่านั้น ในแนวทางปฏิบัติของประเทศไทย จะให้ยาเพื่อป้องกันในหญิงมีครรภ์ที่มีความเสี่ยงไปเลยโดยไม่จำเป็นต้องตรวจ โดยเฉพาะในกรณีดังต่อไปนี้
- มีการเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด
- มีถุงน้ำคร่ำแตกก่อนเจ็บครรภ์ > 18 ชั่วโมง
- ทารกในครรภ์ครั้งก่อนมีประวัติติดเชื้อ GBS
การป้องกัน
แพทย์จะให้ยาปฏิชีวนะในระหว่างการคลอดกับคุณแม่ที่ได้รับกาตรวจพบเชื้อ GBS ถึงแม้ว่าไม่ใช่ทารกทุกคนที่เกิดมากับคุณแม่ที่มีเชื้อ GBS จะติดเชื้อ แต่การให้ยาปฏิชีวนะจะช่วยลดโอกาสที่ลูกจะติดเชื้อ GBS ตั้งแต่เริ่มแรกได้
ในประเทศไทย จะให้ยาป้องกันเฉพาะคุณแม่ที่มีความเสี่ยงเท่านั้น ส่วนในรายที่ตรวจพบเชื้อแต่ไม่มีความเสี่ยงก็อาจจะไม่พิจารณาการให้ยา
อันตรายจากการติดเชื้อ GBS
นักวิจัยจากสถาบัน London School of Hygiene and Tropical Medicine ในกรุงลอนดอนกล่าวว่า จากทารกที่เกิดมาโดยมีมารดาที่ติดเชื้อ GBS จำนวนกว่า 410,000 ราย จะมีทารกที่เสียชีวิตจากการติดเชื้่ออย่างน้อย 147,000 รายต่อปีทั่วโลก
สัญญาณและอาการจากการติดเชื้อ GBS
คุณแม่ตั้งครรภ์มักไม่มีอาการผิดปกติใด ๆ เลย ส่วนอาการของทารกสามารถแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบดังนี้
1. อาการเริ่มแรก: สัญญาณและอาการเริ่มแรกในทารก มักเกิดขึ้นภายใน 24 ชั่วโมงแรกหลังคลอด ซึ่งอาจรวมถึงอาการต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
- มีไข้
- กินนมได้ยาก
- ง่วงซึม
- ติดเชื้อแบคทีเรียในร่างกาย (การติดเชื้อในกระแสเลือด)
- ปอดบวม (การติดเชื้อในปอด)
- เยื่อหุ้มสมองอักเสบ (การติดเชื้อของของเหลวและเยื่อบุรอบสมอง)
- มีปัญหาเกี่ยวกับทางเดินอาหารและไต
- การเต้นของหัวใจและความดันโลหิตไม่เสถียร
2. อาการช่วงหลัง: อาการของโรคจะพัฒนาภายใน 1 สัปดาห์ ไปจนถึง 2 – 3 เดือนหลังคลอด ภายในเดือนแรก สัญญาณและอาการของโรคอาจรวมถึงอาการต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
- หายใจลำบาก
- มีไข้
- กินนมได้ยาก
- ง่วงซึม
- หงุดหงิดง่าย
- ติดเชื้อแบคทีเรียในร่างกาย (การติดเชื้อในกระแสเลือด)
- ปอดบวม (การติดเชื้อในปอด)
- เยื่อหุ้มสมองอักเสบ (การติดเชื้อของของเหลวและเยื่อบุรอบสมอง)
หากคุณแม่สังเกตพบอาการใด ๆ จากลูก ควรปรึกษาแพทย์หรือโรงพยาบาลโดยทันที โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าหากคุณแม่ไม่ได้รับการตรวจ หรือการรักษาเชื้อ GBS ระหว่างการคลอดบุตร
รับรองโดย:
พญ.วรรวดี ทรัพย์มี ปัญญากาศ (สูตินรีแพทย์) (5 มกราคม 2019)