ดาวน์โหลดแอป

การช่วยฟื้นคืนชีพสำหรับทารก

วิธีปฐมพยาบาลเด็ก

การช่วยฟื้นคืนชีพสำหรับทารก

หากต้องเผชิญกับเหตุการณ์ที่เด็กทารกอยู่ในภาวะไม่มีสัญญาณชีพ ให้รีบโทรไปที่เบอร์ฉุกเฉิน (1669) ตรวจดูให้แน่ใจว่าบริเวณที่จะทำการช่วยเหลือนั้นปลอดภัยสำหรับคุณแม่และเด็ก จากนั้นให้รีบทำ CPR ทันที 

ตรวจดูการตอบสนอง
คุณแม่ควรสงสัยว่าทารกมีภาวะหัวใจหยุดเต้นหากทารกไม่มีการตอบสนองและไม่หายใจ หรือหายใจเฮือก ตรวจสอบว่าทารกตอบสนองหรือไม่ โดยตีเบา ๆ ที่ตัวเด็กและตะโกนเรียกชื่อ หากไม่มีการตอบสนอง ให้เริ่มทำ CPR

ขั้นตอน C-A-B
3 ขั้นตอนเรียงตามลำดับความสำคัญ เมื่อต้องเผชิญกับสถานการณ์ฉุกเฉินและทำการ CPR เรียกว่า C-A-B: Compression (การกดหน้าอก), Airway (การเปิดทางเดินหายใจให้โล่ง), และ Breathing (การช่วยให้หายใจ) 

การกดหน้าอก
การกดหน้าอกจะช่วยทำให้มีการไหลเวียนของเลือดและเพิ่มโอกาสที่จะทำให้หัวใจกลับมาสูบฉีดเลือดเองได้ การกดหน้าอกทำได้โดยวางสองนิ้ว หรือสันมือข้างหนึ่งหรือสองข้างลงตรงกลางหน้าอกของเด็ก และกดลงประมาณ 4 ซม. (ประมาณ 1.5 นิ้ว) ซึ่งลึกประมาณ1 ใน 3 ของความหนาของทรวงอก

การเปิดทางเดินหายใจให้โล่ง
การเปิดทางเดินหายใจด้วยวิธีแหงนหน้าเชยคาง ทำได้โดยวางมือข้างหนึ่งบนหน้าผากของทารก แล้วค่อย ๆ เงยศีรษะไปทางด้านหลัง ใช้นิ้วมือ 2 นิ้วยกคางให้เชิดขึ้น การทำแบบนี้จะช่วยทำให้ลิ้นไม่ไปกีดขวางทางเดินหายใจ

การช่วยให้หายใจ
การช่วยให้ทารกหายใจด้วยวิธีปากต่อปากและจมูก ทำได้โดยใช้ปากของคุณแม่ครอบปากและจมูกของทารกให้แน่นพอควรแล้วเป่าลมเป็นจังหวะ ตรวจดูให้แน่ใจว่าการเป่าลมได้ผลโดยดูว่าหน้าอกของทารกพองขึ้นเมื่อเป่าลมเข้าไปหรือไม่ การเป่าลม 1 ครั้งควรใช้เวลาประมาณ 1 วินาที 

การทำ CPR โดยการกดหน้าอกเพียงอย่างเดียว
หากคุณแม่หรือผู้ที่จะทำการช่วยชีวิตทารกไม่สามารถทำการช่วยหายใจได้ ให้ใช้วิธีกดหน้าอกเพียงอย่างเดียว

ขั้นตอนการทำ CPR สำหรับทารกที่มีอายุต่ำกว่า 1 ปี

  1. จับให้ทารกนอนหงายลงบนพื้นผิวที่เรียบและแข็ง
  2. วางสองนิ้วตรงกลางหน้าอกของทารกแล้วกดลงไปประมาณ 4 ซม. (ประมาณ 1.5 นิ้ว) ซึ่งลึกประมาณ1 ใน 3 ของความหนาของทรวงอก การกดให้ได้ความลึกนั้นเป็นเรื่องสำคัญมาก โดยอาจเปลี่ยนมาใช้สันมือข้างเดียวหรือสองข้างได้หากคุณแม่ไม่สามารถกดได้ลึกถึง 4 ซม. นับออกมาดังๆ: “1 และ 2 และ 3 และ 4…. ” กดมือลงเมื่อพูดจำนวนครั้ง และยกขึ้นเมื่อพูดคำว่า “และ”
  3. หลังจากทำการกดหน้าอก 30 ครั้งติดต่อกัน ในอัตรา 2 ครั้งต่อวินาทีให้ทำการช่วยหายใจ 2 ครั้ง
  4. เปิดทางเดินหายใจของทารกโดยวางมือข้างหนึ่งไว้บนหน้าผากแล้วค่อย ๆ เงยศีรษะไปทางด้านหลัง ใช้นิ้วมือ 2 นิ้วยกคางให้เชิดขึ้น กำจัดสิ่งกีดขวางที่มองเห็นได้ออกจากปากและจมูกของทารก
  5. ใช้ปากของคุณแม่ครอบปากและจมูกของทารก และเป่าลมเป็นจังหวะสม่ำเสมอ ตรวจสอบให้แน่ใจว่าหน้าอกของทารกพองขึ้นเมื่อเป่าลมเข้า เป่าลม 2 ครั้งโดยแต่ละครั้งควรใช้เวลา 1 วินาที
  6. ทำการกดหน้าอก 30 ครั้งและช่วยหายใจ 2 ครั้งสลับกันไปเรื่อย ๆ จนกว่าทารกจะเริ่มฟื้น หรือเจ้าหน้าที่ให้ความช่วยเหลือฉุกเฉินจะมาถึง

จะทำอย่างไรถ้าหากหน้าอกของทารกไม่พองตัว?
หากหน้าอกของทารกไม่พองตัวขึ้น อาจเป็นไปได้ว่าทางเดินหายใจถูกปิดกั้น ในกรณีนี้ให้เปิดปากของทารก และมองหาวัตถุที่อาจปิดกั้นทางเดินหายใจอยู่ หลังจากนั้นทำการตรวจสอบภายในปากหลังการกดหน้าอกและเป่าปากแต่ละรอบ จนกระทั่งหน้าอกของทารกพองตัวขึ้นเมื่อคุณแม่เป่าลมหายใจเข้า

จะทำอย่างไรถ้าหากทารกมีเลือดออก?
ตรวจดูให้แน่ใจว่าทารกไม่ได้มีเลือดออกอย่างรุนแรง แต่หากมีให้ทำการห้ามเลือดเป็นอย่างแรก โดยใช้แรงกดไปที่บริเวณที่มีเลือดออก

CPR คืออะไร?
CPR คือการช่วยเหลือเพื่อให้ผู้ป่วยกลับมามีสัญญาณชีพ เป็นวิธีการช่วยชีวิตที่ใช้เพื่อช่วยทารกที่ไม่มีสัญญาณชีพ การทำ CPR ทำได้โดยการกดหน้าอกและเป่าลมหายใจเพื่อช่วยให้เลือดสามารถนำพาออกซิเจนไหลเวียนไปเลี้ยงสมองและอวัยวะอื่น ๆ ในร่างกายได้จนกว่าทารกจะฟื้นขึ้นมาอีกครั้ง หรือจนกว่าความช่วยเหลือจากแพทย์จะมาถึง

รับรองโดย:

นพ. ปิยวุฒิ กรีฑาภิรมย์ (2 กุมภาพันธ์ 2020)

ที่มา:

ดาวน์โหลดแอปMali Daily Pregnancy Tracker

แม่มือใหม่ & การตั้งครรภ์

เรตติ้ง 4.9 จากผู้ใช้งานกว่า 10,000+ คน

เรตติ้ง 4.9 จากผู้ใช้งานกว่า 10,000+ คน