ลูกหลับยาก
สุขภาพของลูก
เด็กเล็ก ๆ ทุกคนต้องการการนอนหลับ ซึ่งเป็นกิจกรรมหลักของสมองในการเจริญเติบโตในช่วงแรก เด็ก ๆ หลายคนมีปัญหานอนหลับยาก แต่การตื่นบ่อย ๆ ตลอดทั้งคืนนั้นถือเป็นเรื่องปกติ
วัฏจักรการนอนระยะสั้น
ในเด็กอายุ 6 – 18 เดือน ช่วงเวลาของการนอนหลับจะกินเวลาประมาณ 1 ชั่วโมงต่อรอบวัฏจักรการนอน ซึ่งประกอบด้วยการนอนหลับตื่นและการนอนหลับลึก และเป็นเรื่องปกติที่เด็กจะตื่นในเวลากลางคืนเมื่อรอบของการนอนหลับสิ้นสุดลง จากนั้นเด็กบางคนอาจสามารถกลับไปนอนหลับเองได้อย่างง่ายดาย ในขณะที่เด็กบางคนต้องการความช่วยเหลือในการกลับไปนอน
นิสัยการนอนและกิจกรรมที่สัมพันธ์กับการนอนหลับ
เป็นเรื่องปกติที่คุณแม่จะปล่อยให้ลูกดูดนมจนหลับ หรืออาจใช้เทคนิคต่าง ๆ เช่น การตบก้น โยกตัวเบา ๆ หรืออุ้มจนกว่าพวกเขาจะหลับไปในอ้อมแขน เมื่อเทคนิคเหล่านี้กลายเป็นกิจกรรมที่จำเป็นในการกล่อมลูกให้นอนหลับ กิจกรรมเหล่านี้จะถูกเรียกว่า กิจกรรมที่สัมพันธ์กับการนอนหลับ
นอนหลับตอนกลางคืนตามอายุ
ยิ่งเด็กอายุน้อยเท่าไหร่ ก็ยิ่งต้องการการนอนหลับพักผ่อนมากขึ้นเท่านั้น สำหรับการนอนหลับตอนกลางคืน เด็กส่วนใหญ่ต้องการนอนหลับเป็นเวลา 10 – 12 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับอายุของพวกเขา:
- อายุ 0 – 3 เดือน นอน 10 – 18 ชั่วโมง/วัน
- อายุ 4 – 11 เดือน นอน 9 – 12 ชั่วโมง/วัน
- อายุ 1 – 2 ปี นอน 11 – 14 ชั่วโมง/คืน
- อายุ 3 – 5 ปี นอน 11 – 13 ชั่วโมง/คืน
การส่งเสริมนิสัยการนอนหลับที่ดี
คุณแม่อาจลองใช้วิธีดังต่อไปนี้เพื่อปรับนิสัยติดการกล่อมจากคุณพ่อคุณแม่ หรือลดความต้องการกิจกรรมที่สัมพันธ์กับการนอนลง และส่งเสริมการนอนหลับที่ดีให้กับลูก:
- ทำกิจวัตรประจำวันให้สม่ำเสมอ และคาดการณ์ได้ในทุก ๆ คืน เพื่อให้ลูกของคุณแม่เรียนรู้สิ่งที่จะต้องเกิดขึ้น และเรียนรู้ที่จะตอบสนองต่อสิ่งนั้น
- ไม่ให้ลูกดูทีวีหรือแท็ปเลต หรือมีการเล่นที่ต้องใช้แรง 1 ชั่วโมงก่อนเข้านอน ใช้เวลากับกิจกรรมที่เงียบสงบแทน เช่น เล่านิทาน หรืออาบน้ำอุ่น ๆ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่เหมาะสำหรับเวลาก่อนเข้านอน
- การตบก้น หรือการโยกเบา ๆ ให้ลูกนอนหลับนั้นดีสำหรับเด็กแรกเกิด แต่หากเป็นไปได้ คุณแม่ควรพยายามลดทอนเทคนิคเหล่านี้สำหรับเด็กโตที่สามารถสร้างกิจกรรมที่สัมพันธ์กับการนอนหลับได้แล้ว และเปลี่ยนเป็นนอนข้าง ๆ ลูกจนกว่าเขาจะสามารถนอนคนเดียวได้
- การให้นมลูกจนหลับอาจกลายเป็นการสร้างกิจกรรมที่สัมพันธ์กับการนอนหลับได้ คุณแม่อาจลองเปลี่ยนเวลาการให้นมครั้งสุดท้ายเป็นอย่างน้อยครึ่งชั่วโมงก่อนเข้านอน
- ปล่อยให้ลูกถือของที่ให้ความนุ่ม สบาย เช่น ตุ๊กตานุ่ม ๆ หรือผ้าห่มขนาดเล็ก (แต่ไม่แนะนำสำหรับเด็กที่อายุต่ำกว่า 6 เดือน เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงของการอุดกั้นการหายใจของทารก)
- หากลูกติดจุกหลอกเป็นนิสัย ให้พยายามช่วยเหลือให้ลูกของคุณแม่ค่อย ๆ เลิกใช้จุกหลอก
- กำหนดขีดจำกัดของตัวเอง แต่ควรทำกิจวัตรประจำวันให้ต่อเนื่อง
หลังจากทำสำเร็จเด็ก ๆ ก็จะตื่นขึ้นมาอีกครั้ง
แม้ลูกของคุณแม่เรียนรู้ที่จะนอนและหลับต่อไปได้เองแล้ว แต่ก็ยังมีสิ่งที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้คือ อาการไอและหวัด หรือวันหยุดยาว ที่อาจทำให้กิจวัตรการนอนหลับของลูกหยุดชะงักลง นอกจากนี้ เด็ก ๆ หลายคนที่เคยหลับสบายเมื่อพวกเขาอายุ 12 เดือน แต่ก็กลับมาเริ่มตื่นตอนกลางคืนอีกครั้งเมื่ออายุ 18 เดือน เพราะเมื่อเริ่มโตขึ้นเด็ก ๆ จะมีประสบการณ์มากขึ้นระหว่างนอนหลับและฝัน ประสบการณ์เหล่านั้นจะกลายเป็นความทรงจำ หากความฝันเหล่านี้ชัดเจนเกินไปเด็กก็อาจจะตื่นขึ้น หากพวกเขาร้องไห้หรือต้องการให้คุณแม่กล่อมนอน ให้พยายามอยู่กับพวกเขาจนกว่าจะหลับ
รับรองโดย:
นพ. ปิยวุฒิ กรีฑาภิรมย์ (4 มีนาคม 2020)