ผดผื่นและโรคผิวหนัง
สุขภาพของลูก
เด็ก ๆ มักต้องไปหาหมอเพราะเกิดผื่นที่ผิวหนัง ในขณะที่เด็กบางคนมีผื่นคันและมีไข้ แต่บางคนก็อาจมีอาการไม่รุนแรง และมีเพียงแค่จุดเล็ก ๆ ให้เห็นเท่านั้น
นี่คือตัวอย่างของโรคผื่นที่พบได้แพร่หลายมากที่สุดในเด็ก
โรคฟิฟธ์และมีไข้
เด็ก ๆ อาจมีผื่นสีแดงเป็นปื้นขึ้นบริเวณแก้มและมีไข้ แต่จะไม่มีที่บริเวณจมูกหรือปาก ลูกอาจเป็นหวัดและมีผื่นแดงลุกลามไปตามร่างกาย ซึ่งโดยปกติจะหายไปภายในหนึ่งสัปดาห์ คุณแม่เพียงแค่วัดอุณภูมิร่างกายของลูกเป็นประจำ และอาจใช้ยาพาราเซตามอลเพื่อลดไข้
โรคมือเท้าปาก
โรคมือเท้าปากเป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสที่พบได้บ่อยในเด็ก ซึ่งจะทำให้เกิดแผลที่บริเวณมือ เท้า และภายในปาก นอกจากนี้ ยังอาจมีไข้ โดยปกติจะหายไปภายในหนึ่งสัปดาห์
โรคไข้อีดำอีแดง
โรคไข้อีดำอีแดงทำให้เกิดผื่นแดงสีชมพู ผิวจะรู้สึกหยาบเหมือนกระดาษทราย และดูเหมือนผิวไหม้จากการตากแดด โดยทั่วไปแล้วจะเริ่มต้นด้วยอาการลิ้นบวม เจ็บคอ ปวดศีรษะและมีไข้ หากคุณแม่สงสัยว่าลูกเป็นโรคไข้อีดำอีแดง ควรพาไปพบแพทย์ทันที เนื่องจากโรคนี้จำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ
โรคหัด
โดยทั่วไปแล้วโรคหัดจะเริ่มด้วยอาการไข้ เคืองตา ดวงตาไวต่อแสง และมีจุดสีเทาบริเวณภายในเปลือกตา ไม่กี่วันต่อมาผื่นสีน้ำตาลแดงจะปรากฏขึ้นที่บริเวณใบหน้าหรือลำคอ และกระจายไปยังส่วนที่เหลือของร่างกาย หากคุณแม่คิดว่าลูกเป็นโรคหัดให้รีบพาไปพบแพทย์ทันที
ผดร้อน
ความร้อนและเหงื่อสามารถทำให้เกิดจุดแดงเล็ก ๆ ที่เรียกว่าผดหรือผื่นร้อน ที่ทำให้เกิดอาการคัน ดังนั้นคุณแม่อาจสังเกตเห็นว่าลูกมักจะเกาอยู่บ่อย ๆ ผดผื่นร้อนสามารถหายเองได้โดยไม่ต้องทำการรักษา
โรคเรื้อนกวาง
อาการคัน มีผื่นแดง ผิวแห้งและแตก อาจเป็นอาการของโรคเรื้อนกวางได้ โดยทั่วไปแล้วจะพบที่บริเวณหัวเข่า ข้อศอก และลำคอ แต่ก็อาจพบที่บริเวณอื่น ๆ ของร่างกายได้ ถ้าคุณแม่คิดว่าลูกเป็นโรคเรื้อนกวาง ควรพาไปพบแพทย์
โรคลมพิษ
อาการผื่นแดงนูนและคันอาจปรากฏขึ้น ซึ่งเป็นปฏิกิริยาการแพ้ต่อสิ่งต่าง ๆ เช่น แพ้ยา หรืออาหาร โดยทั่วไปแล้วจะสามารถหายได้เองภายใน 1 – 2 วัน คุณแม่ควรปรึกษาแพทย์หากลูกยังคงมีผื่นขึ้นอยู่เรื่อย ๆ เนื่องจากลูกอาจมีอาการแพ้บางอย่าง
โรคกลาก
ผื่นคันที่มีลักษณะคล้ายวงแหวน อาจเป็นอาการของโรคกลาก ปรึกษาเภสัชกรเพื่อแนะนำครีมหรือโลชั่นสำหรับรักษาโรคกลาก คุณแม่ควรไปพบแพทย์หากพบว่าลูกมีอาการบริเวณหนังศีรษะ เนื่องจากอาจจำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยยา
โรคอีสุกอีใส
โรคอีสุกอีใสอาจทำให้เกิดตุ่มสีแดงพอง อาจมีอาการคันร่วมด้วย จากนั้นจะเปลี่ยนเป็นตุ่มใส แตก และตกสะเก็ด
โรคผิวหนังชนิดเป็นตุ่มพุพอง
แผลพุพองหรือตุ่มน้ำพอง อาจบ่งบอกถึงโรคผิวหนังชนิดตุ่มพุพอง จะมีการปะทุและทิ้งรอยแผลเป็นสีน้ำตาลทอง ตุ่มหรือแผลพุพองอาจทำให้เกิดอาการคัน ตุ่มอาจใหญ่ขึ้น หรือแพร่กระจายไปยังส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย บนใบหน้า มือ หรือบริเวณกลางลำตัว
โรคหิด
โรคหิดเกิดจากไรตัวเล็ก ๆ ที่เข้าไปในผิวหนัง ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรเพื่อหาครีมหรือโลชั่นสำหรับรักษาโรคหิดของลูก
ผื่น Milia
จุดสีขาวเล็ก ๆ มักปรากฏขึ้นบริเวณบนใบหน้าของทารกเมื่อมีอายุได้ 2 – 3 วัน โดยปกติจะสามารถหายไปได้เองภายในไม่กี่สัปดาห์โดยไม่ต้องรับการรักษา
ผื่นแดง ETN
ทารกแรกเกิดอาจมีตุ่มลักษณะนูนสีแดง สีเหลือง และสีขาวเกิดขึ้น โดยปกติจะพบบนใบหน้า ตามร่างกาย ต้นแขนและต้นขา ผื่นอาจหายไปและปรากฏขึ้นอีกครั้ง และควรหายได้เองภายใน 2 – 3 สัปดาห์โดยไม่ต้องรับการรักษา
หูดข้าวสุก
มีลักษณะเป็นผื่นตุ่มเล็ก ๆ สีแดงที่สามารถปรากฏขึ้นได้ทุกส่วนของร่างกาย ไม่จำเป็นต้องได้รับการรักษา เพราะผื่นชนิดนี้สามารถหายได้เอง แต่อาจใช้เวลานานกว่า 1 ปี
ผื่นผ้าอ้อม
มักพบบริเวณก้นของลูก หรือในบริเวณที่สวมผ้าอ้อม โดยอาจเป็นรอยแดง ผิวหนังอาจมีอาการเจ็บและแสบร้อน อาจมีจุดหรือแผลพุพอง ซึ่งจะทำให้ลูกรู้สึกหงุดหงิด ไม่สบายตัว คุณแม่สามารถหาซื้อครีมรักษาผื่นผ้าอ้อมได้ตามร้านขายยาทั่วไป
สิวในทารก
อาจปรากฏขึ้นตั้งแต่เดือนแรกหลังคลอด และจะสามารถหายไปเองได้ภายใน 2 – 3 สัปดาห์หรือหลายเดือนหลังจากนั้น คุณแม่สามารถล้างหน้าให้ลูกด้วยน้ำสะอาด และทาครีมบำรุงผิวที่อ่อนโยน ไม่ควรใช้ยารักษาสิวทาให้ลูก
ภาวะต่อมไขมันอักเสบ
ทารกจะมีผื่นสีเหลืองน้ำตาลเป็นมันเยิ้มกระจายเป็นแผ่นอยู่ด้านบนของหนังศีรษะ ซึ่งมักจะดีขึ้นได้เองโดยไม่ต้องทำการรักษา ภายใน 2 – 3 สัปดาห์หรือ 1 เดือน คุณแม่อาจค่อย ๆ สระผมและลูบหนังศีรษะของลูกด้วยแชมพูเด็กเพื่อช่วยป้องกันไม่ให้เกิดอาการมากขึ้น
สัญญาณบ่งบอกถึงอันตราย
คุณแม่ควรพาลูกไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษาทันทีหากพบว่าลูกมีอาการต่อไปนี้:
- คอแข็ง
- มีปฏิกิริยาไวต่อแสงมาก
- ดูเหมือนสับสนและงงงวย
- สั่น
- มีไข้สูง
- มือและเท้าเย็น
- ผื่นไม่หายไปเมื่อใช้แก้วใสกดลงบนบริเวณที่เป็นผื่น
โดยอาการทั้งหมดนี้อาจเป็นสัญญาณของโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ
เมื่อใดที่ควรไปพบแพทย์?
หากคุณแม่กังวลเกี่ยวกับอาการของลูกและไม่แน่ใจเกี่ยวกับประเภทของผื่น ควรปรึกษาแพทย์