ภาวะตัวเหลือง
สุขภาพของลูก
ภาวะตัวเหลือง เป็นหนึ่งในภาวะที่ส่งผลกระทบต่อทารกแรกเกิดที่พบได้บ่อยที่สุด ซึ่งสามารถพบได้ถึง 6 ใน 10 คน แต่มีเพียง 1 ใน 20 คนเท่านั้น ที่จะมีระดับบิลิรูบินในเลือดสูงจนต้องได้รับการรักษา
สาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะตัวเหลือง
ภาวะตัวเหลืองจะเกิดขึ้นเมื่อตับของทารกไม่สามารถกำจัดเซลล์เม็ดเลือดแดงได้เร็วพอ ซึ่งจะนำไปสู่การเพิ่มระดับของสารบิลิรูบิน ในเลือด ส่งผลให้ผิวของทารกเปลี่ยนเป็นสีเหลือง โรงพยาบาลส่วนใหญ่จึงมักตรวจสอบอาการตัวเหลืองของทารกในช่วง 3 วันแรกหลังคลอด
ประเภทของภาวะตัวเหลือง
ภาวะตัวเหลืองที่พบมากที่สุด ได้แก่:
- ภาวะตัวเหลืองปกติ มักมีอาการไม่รุนแรง เกิดขึ้นเนื่องจากตับของทารกแรกเกิดยังทำงานได้ไม่สมบูรณ์ มักจะปรากฏขึ้นเมื่อทารกอายุประมาณ 2 วันและสามารถหายไปได้เองภายใน 2 สัปดาห์
- ภาวะตัวเหลืองจากการคลอดก่อนกำหนด เป็นเรื่องปกติหากทารกที่คลอดก่อนกำหนดจะมีภาวะตัวเหลือง เนื่องจากร่างกายของพวกเขายังไม่พร้อมที่จะกำจัดสารบิลิรูบินได้เอง
- ภาวะตัวเหลืองจากการกินนมแม่ เกิดขึ้นได้เป็นเรื่องปกติเมื่อทารกไม่ได้รับน้ำนมแม่อย่างเพียงพอ ซึ่งปัญหาของภาวะนี้ไม่ได้เกิดจากน้ำนมของคุณแม่ แต่เกิดจากการที่ทารกไม่ได้รับนมอย่างเพียงพอ หากทารกมีอาการตัวเหลืองจากสาเหตุนี้ คุณแม่ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านการให้นมบุตร
- ภาวะตัวเหลืองจากน้ำนมแม่ ประมาณ 1% ของทารกที่กินนมแม่จะมีภาวะตัวเหลืองที่เกิดจากสารในน้ำนมแม่ที่สามารถทำให้ระดับบิลิรูบินเพิ่มขึ้นได้
- หมู่เลือดของทารกไม่เข้ากันกับแม่ เป็นภาวะตัวเหลืองที่เกิดจากการที่แม่และทารกมีกรุ๊ปเลือดต่างกัน ร่างกายของแม่อาจผลิตแอนติบอดีที่สามารถทำลายเซลล์เม็ดเลือดแดงของทารก เป็นเหตุให้เกิดการสร้างบิลิรูบินในเลือดของทารกได้
สัญญาณและอาการของภาวะตัวเหลือง
ภาวะนี้มักจะปรากฏขึ้นในวันที่ 2 – 3 หลังคลอด และมักจะพบที่บริเวณใบหน้าเป็นที่แรก ผิวหน้าของทารกจะเปลี่ยนเป็นสีเหลือง ต่อมาผิวบริเวณหน้าอกและท้องจะเปลี่ยนเป็นสีเหลือง และในท้ายที่สุดก็จะเป็นบริเวณขา บ่อยครั้งจะพบว่าดวงตาของทารกจะกลายเป็นสีเหลืองเช่นเดียวกัน
วิธีการตรวจสอบภาวะตัวเหลือง
แพทย์มักตรวจหาภาวะตัวเหลืองก่อนอนุญาตให้ออกจากโรงพยาบาล และใน 2 – 3 วันหลังคลอด หากผิวหนังของลูกมีสีเหลือง แพทย์อาจเจาะเลือดปริมาณเล็กน้อยไป เพื่อตรวจวัดระดับบิลิรูบินของทารก
วิธีการสังเกตหาภาวะตัวเหลือง
ภาวะตัวเหลืองสามารถสังเกตเห็นได้ยาก โดยเฉพาะในเด็กที่มีผิวค่อนข้างคล้ำ หากคุณแม่ไม่แน่ใจ ให้ลองใช้นิ้วกดลงบนผิวที่บริเวณจมูกของลูก ถ้าลูกมีภาวะตัวเหลือง จมูกจะปรากฏเป็นสีเหลืองชัดขึ้น
วิธีการรักษาภาวะตัวเหลือง
ทารกที่มีภาวะตัวเหลืองส่วนใหญ่ไม่จำเป็นต้องได้รับการรักษา หากมีอาการตัวเหลืองเล็กน้อยหรือปานกลาง อาการจะสามารถหายไปได้เองภายใน 2 สัปดาห์ แต่หากมีภาวะตัวเหลืองในระดับสูงอาจต้องใช้การส่องไฟ เกณฑ์การวัดง่าย ๆ ที่ใช้กันทั่วไปคือเริ่มส่องไฟเมื่อระดับบิลิรูบินในเลือดสูงกว่าน้ำหนักแรกเกิด 5 เท่า ดังนั้นหากทารกมีน้ำหนักแรกเกิด 3 กิโลกรัม และตรวจพบระดับบิลิรูบินตั้งแต่ 15 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตรขึ้นไป ทารกจำเป็นต้องได้รับการส่องไฟ หากทารกมีอาการตัวเหลืองอย่างรุนแรง และไม่ตอบสนองต่อการรักษาโดยการส่องไฟ อาจจำเป็นต้องทำการถ่ายเลือด